Skip to main content

กัปปิยนารถ วรรณสิริวิไล

 


ปลายปี 2565 “นิก” (นามสมมติ) เดินทางไปสิงคโปร์เพื่อเริ่มงานตำแหน่ง Planning Engineer ในบริษัทรับเหมาก่อสร้างสัญชาติญี่ปุ่นที่มีออฟฟิศอยู่ที่สิงคโปร์ นับเป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับบัณฑิตป้ายแดงที่ได้ทำงานตรงสายในประเทศโลกที่หนึ่ง!

 

●    Planning Engineer หรือวิศวกรวางแผน 

ทำหน้าที่วางแผนการทำงานต่าง ๆ ดูแลและติดตามความคืบหน้าของโครงการ นำระบบการติดตามที่มีประสิทธิภาพมาใช้ตรวจสอบการปฏิบัติตามกำหนดการและงบประมาณ


จุดเริ่มต้นสู่เกาะสิงคโปร์

 

เทอมสุดท้ายที่ภาควิชาโยธา คณะวิศวะจุฬาฯ มีพนักงานของบริษัทนี้ซึ่งเป็นศิษย์เก่ามาแนะแนวและรับสมัครงานถึงที่ ‘นิก’ ก็รีบทำเรซูเม่และสมัครไป แล้วบริษัทก็เรียกสัมภาษณ์ 2 รอบ และสอบข้อเขียนวัดความรู้ตั้งแต่ ปี 1-4 ซึ่งเขาต้องรื้อฟื้นความจำอย่างหนัก แต่นิกก็ผ่านการคัดเลือกในที่สุดและได้เซ็นสัญญาจ้างทันที หัวหน้าบอกนิกในภายหลังว่า เขาโดดเด่นจากผู้สมัครคนอื่นตรงที่มีความพร้อมที่สุดและสามารถเข้ากับคนอื่นได้ดี

นิกเล่าว่าวิธีการหางานออฟฟิศในสิงคโปร์ หลัก ๆ ทำได้ 2 วิธี วิธีแรก คือ การสมัครกับบริษัทโดยตรง ซึ่งค่อนข้างยาก เพราะตลาดแรงงานในสิงคโปร์เฟ้อ มีคนเยอะ การแข่งขันสูง แต่งานน้อย  ส่วนวิธีที่สอง คือ ทำงานในบริษัท multinational ที่ไทยสักระยะหนึ่ง แล้วทำเรื่องย้ายมาสาขาสิงคโปร์ เช่น Shopee, TikTok ที่มีคนไทย relocate / transfer มาที่สิงคโปร์จำนวนมาก

 

●    multinational company 

คือ บริษัทข้ามชาติ มีสาขาในหลายประเทศ และมีความหลากหลายทางเชื้อชาติสูง


●    relocation และ internal transfer 

คือ การย้ายไปทำงานอีกสาขาหนึ่งของบริษัทเดียวกัน เช่น Shopee Thailand ย้ายไป Shopee Singapore ซึ่งตำแหน่งงาน ค่าตอบแทน และสวัสดิการขึ้นอยู่กับสาขาที่ย้ายไป

 

สิงคโปร์มีกฎหมายให้แต่ละบริษัทจ้างพนักงานสิงคโปร์และพนักงานต่างชาติ ในอัตราส่วน 3:1 (ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ) ทำให้บริษัทไม่สามารถจ้างใครก็ได้ แม้เราจะเป็นผู้สมัครงานที่เหมาะสมมาก เป็นคนที่บริษัทตามหา แต่ถ้าบริษัทไม่มีโควตาจ้างต่างชาติ เขาก็จ้างเราไม่ได้ ดังนั้น นอกจากสกิลแล้ว การจะได้งานยังขึ้นอยู่กับจังหวะและเวลาอีกด้วย

หลังจากบริษัทตอบรับเข้าทำงาน บัณฑิตใหม่ก็รีบไปตรวจสุขภาพ และเตรียมเอกสารตามที่บริษัทขอ ซึ่งรวมถึงที่พักในสิงคโปร์ด้วย นิกหาห้องพักผ่านกลุ่มเฟสบุ๊กต่าง ๆ มาลงตัวที่คอนโดย่าน Toa Payoh แชร์กับพี่คนไทยอีก 2 คน แล้วบริษัทก็จัดการเรื่องวีซ่าทำงาน, Work Permit (ใบอนุญาตทำงาน) กับ MOM (Ministry of Manpower กระทรวงแรงงานสิงคโปร์) อะไรต่ออะไรให้หมด ระหว่างรอวีซ่า นิกก็เรียนรู้โปรแกรมทำงาน ไปเที่ยวเล่น ใช้เวลากับครอบครัว เพื่อน และคนรักให้เต็มที่ เพราะคงไม่ได้เจอกันบ่อย ๆ ผ่านไป 1 เดือนทุกอย่างก็พร้อมแล้ว จองตั๋วไปสิงคโปร์กันเลย!

 

สิงคโปร์มีกฎหมายให้แต่ละบริษัทจ้างพนักงานสิงคโปร์และพนักงานต่างชาติ ในอัตราส่วน 3:1 (ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ) ทำให้บริษัทไม่สามารถจ้างใครก็ได้ แม้เราจะเป็นผู้สมัครงานที่เหมาะสมมาก เป็นคนที่บริษัทตามหา 


ทำงาน ทำงาน ทำงาน

 

วันจันทร์ถึงวันศุกร์ นิกตื่น 7 โมงเช้า ลุกมาอาบน้ำแต่งตัว กินข้าวเช้าง่าย ๆ เช่น ขนมปังทาแยมกับกาแฟสักแก้ว หรืออาหารที่ซื้อเตรียมไว้ตั้งแต่เมื่อวาน เสร็จแล้วก็เดินไปขึ้นรถประจำทางหน้าปากซอย นั่งประมาณ 15 นาทีก็ถึงที่ทำงาน เริ่มทำงาน 8.30 น. พักเที่ยงก็ลงมากินข้าวที่ศูนย์อาหาร หรือร้านอาหารในตึก กินขนมหวาน และขึ้นไปนอนกลางวันที่โต๊ะ บ่ายโมงตรงก็เริ่มทำงานของช่วงบ่าย 17.30 เริ่มเก็บของเตรียมตัวกลับบ้าน แต่นิกรอให้หัวหน้าลุกก่อน เพราะพนักงานในออฟฟิศส่วนมากเป็นคนญี่ปุ่นที่เคารพระบบอาวุโสในที่ทำงาน กว่าจะได้ออกจากออฟฟิศจริง ๆ ก็ 6 โมงเย็น นิกมักกินข้าวเย็นที่ตึกทำงานเลย ถ้าวันไหนไม่มีนัดกับเพื่อน ๆ ต่อ นิกก็กลับบ้านไปออกกำลังกาย เช่น ว่ายน้ำ วิ่ง ทำงานบ้าน อาบน้ำ นอนเล่นโทรศัพท์ โทรคุยกับแฟน และเข้านอนราว 5 ทุ่ม

ในปีแรกของการทำงาน หลังจากทำงานที่ออฟฟิศได้ระยะหนึ่ง นิกก็ถูกส่งไป ไซต์งานก่อสร้าง ดูแลการก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ โดยรับหน้าที่หลักในการสั่งคอนกรีตมาเท ใครต้องการคอนกรีตก็ต้องมาติดต่อนิกเพื่อวางแผนสั่งซื้อและจัดส่งให้ทันเวลา เป็นงานที่กดดันมาก เพราะต้องบริหารทั้งงานและความสัมพันธ์กับวิศวกรต่าง ๆ และคนงานมากมาย  นิกไม่มีความสุขเลย คิดอยู่ตลอดว่า “เรามาทำอะไรที่นี่” งานก็เครียด เริ่มเช้าเลิกดึกแถมต้องทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ และใช้เวลาเดินทางไปกลับร่วม 2 ชั่วโมง พอกลับถึงบ้านก็ดึกและเหนื่อยเกินกว่าจะทำอะไร  เมื่อได้กลับมาทำงานออฟฟิศจึงรู้สึกดีใจมากเหมือน “ได้ชีวิตคืนมาอีกครั้ง” แต่ก็ยังแอบคิดถึงการทำงานที่ไซต์บ้าง เพราะได้เรียนรู้หน้างานจริง ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากโต๊ะในออฟฟิศ

    สายงานบริการและก่อสร้างที่สิงคโปร์

ทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ โดยหยุดแค่วันอาทิตย์ บางโครงการก่อสร้างก็ทำงาน 7 วัน โดยที่วันอาทิตย์เลิก 17.30 น.

 

นิกใช้ภาษาอังกฤษแทบจะตลอดเวลา ตอนแรกก็ฟัง Singlish หรือภาษาอังกฤษสไตล์สิงคโปร์ไม่ค่อยออก แต่อยู่ไปเรื่อย ๆ คุยกับคนงานในไซต์ก่อสร้างทุกวันก็ฟังคล่อง แถมเริ่มพูด Singlish ได้ด้วย ยิ่งเหมือนคนสิงคโปร์เข้าไปทุกวัน แต่ภาษาไม่ใช่ปัญหาหลักของการทำงานในสิงคโปร์ อุปสรรคจริง ๆ คือวัฒนธรรมการทำงาน เช่น เพื่อนของนิกทำงานในบริษัทสัญชาติจีนที่มีค่านิยมทำงานหนัก พนักงานส่วนมากพูดภาษาจีน ทำให้คนที่ไม่รู้ภาษาจีนไม่สามารถเข้ากับเพื่อนร่วมงานได้เต็มที่ ประชุมงานเป็นภาษาจีน โดนกีดกันทางภาษา และมีปัญหาเรื่องสภาพแวดล้อมในการทำงานตามมา แม้นิกจะไม่ประสบปัญหาดังกล่าวแต่ก็ลงเรียนภาษาญี่ปุ่นทุกวันเสาร์ เพราะเพื่อนร่วมงานจำนวนมากเป็นชาวญี่ปุ่น และหากสื่อสารภาษาญี่ปุ่นได้ก็เป็นผลดีกับเส้นทางอาชีพในอนาคต

 

●    Singlish 

มาจาก Singaporean English มีลักษณะสั้น กระชับ ตรงไปตรงมา เพื่อให้คนสิงคโปร์ที่มีหลายหลายเชื้อชาติและภาษาสามารถสื่อสารกันได้ง่าย สำเนียงและไวยกรณ์คล้ายภาษาจีนกลาง เช่น You eat ready leh? (มาจาก Have you eaten already?) คล้ายกับ 你吃了吗?(หนี่ชือเลอมา) บางคำศัพท์ที่นิยมใช้ก็มาจากภาษามาเลย์ เช่น Wanna go makan? (ไปกินข้าวกันไหม) ใช้หลายภาษาผสมกันในการสื่อสาร เช่น  Alamah, like that can ah? (โอ้ย อย่างงี้ก็ได้เหรอ)

ภาษาไม่ใช่ปัญหาหลักของการทำงานในสิงคโปร์ อุปสรรคจริง ๆ คือวัฒนธรรมการทำงาน เช่น เพื่อนของนิกทำงานในบริษัทสัญชาติจีนที่มีค่านิยมทำงานหนัก พนักงานส่วนมากพูดภาษาจีน ทำให้คนที่ไม่รู้ภาษาจีนไม่สามารถเข้ากับเพื่อนร่วมงานได้เต็มที่ ประชุมงานเป็นภาษาจีน โดนกีดกันทางภาษา


ชีวิตหลังเลิกงาน

 

ช่วงแรกที่ยังไม่ค่อยมีเพื่อนที่สิงคโปร์ เลิกงานแล้วนิกก็จะกลับบ้าน บ้างก็ไปสำรวจเมืองและร้านอาหารใหม่ ๆ บางวันก็ไปปีนหน้าผาจำลองกับรูมเมท ซึ่งกลายเป็นกีฬาโปรดของเขาอยู่ช่วงหนึ่ง บางวันก็เล่นเกมส์ออนไลน์กับเพื่อนมัธยมหรือเพื่อนมหาวิทยาลัยถ้าเวลาว่างตรงกัน ชีวิตหลังเลิกงานของนิกจึงค่อนข้างเงียบเหงา ทำให้สิงคโปร์ที่ไม่ค่อยมีอะไรให้ทำมากอยู่แล้วยิ่งน่าเบื่อขึ้นไปอีก

เมื่อชีวิตเริ่มเข้าที่เข้าทาง มีกลุ่มแก๊งค์ที่สนิทจากการแนะนำโดยเพื่อนของเพื่อนให้รู้จักต่อ ๆ กัน มีการนัดกินข้าวหลังเลิกงาน ปาร์ตี้ห้องเพื่อน ตีแบด ตีเทนนิส ปั่นจักรยาน วิ่งมาราธอน ทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยกัน ทั้งวันธรรมดาและวันหยุด ล่าสุดก็กำลังจะไปเที่ยวปีนัง ประเทศมาเลเซียกับเพื่อน ๆ

ถ้าเพื่อนจากไทยมาเที่ยวสิงคโปร์ นิกก็จะอาสาพาไปเที่ยวหลังเลิกงาน หรืออย่างน้อยก็นัดกินข้าวด้วยกันสักมื้อเป็นธรรมเนียมที่เขายึดถือตั้งแต่ย้ายมาอยู่ที่นี่ เพราะนอกจากจะได้กระชับความสัมพันธ์กับเพื่อนเก่าแล้ว การมาเยือนของเพื่อนเหมือนการเหยาะซีอิ๊วใส่โจ๊กจืด ๆ เติมรสชาติให้ชีวิตติดเกาะของนิกเลยทีเดียว


เพื่อนและความสัมพันธ์

 

ครอบครัวและแฟน นิกสบายใจหายห่วง เพราะทุกคนรักและสนับสนุนเส้นทางการเติบโตของนิก ผลัดกันบินไปเยี่ยมทุกวันหยุดยาว หรือวันสำคัญต่าง ๆ หาวันว่างไปเที่ยวด้วยกันหลายทริป วีดีโอคอลคุยกันทุกวัน แม้ตัวอยู่ไกล แต่ใจยังใกล้กันเสมอ วลี “สิงคโปร์ก็แค่หน้าปากซอย” นั้นไม่เกินจริง

ส่วนเพื่อนที่สิงคโปร์ นอกจากรูมเมทแล้ว ช่วงย้ายมาใหม่ ๆ นิกก็มีกลุ่มเพื่อนชาวสิงคโปร์ มาเลย์ ญี่ปุ่น ที่เล่นบาสเก็ตบอลด้วยกัน แต่เพราะความชอบและไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างจึงค่อย ๆ แยกย้ายกันไป  พอเริ่มไปงานพบปะสังสรรค์ของคนไทยในสิงคโปร์ อย่างงาน Thai Networking หรือ Thai Night นิกก็รู้จักคนมากขึ้นจากการแนะนำโดยเพื่อนของเพื่อน เริ่มมีเพื่อนคนไทยวัยเดียวกัน  กลุ่มที่นิกสนิทด้วย มีทั้งหญิงและชาย อายุ 25 - 35 โดยนิกเป็นน้องเล็ก ทุกคนเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ในบริษัทดัง มีแค่นิกที่เป็นวิศวกรโยธา และพี่ผู้หญิงคนหนึ่งทำงานมาร์เก็ตติ้ง กลุ่มนี้นัดเจอกันบ่อย กินข้าวและตีแบดด้วยกันทุกสัปดาห์ บางคนก็เช่าห้องอยู่ด้วยกัน วันหยุดกลับไทยก็ยังนัดเจอกันที่ไทย เวลาที่เพื่อนหรือแฟนของใครมาเยี่ยมก็จะพามารู้จักเพื่อน ๆ ในกลุ่มด้วย เป็นแก๊งค์เพื่อนที่สนิทใจและทำให้การใช้ชีวิตที่สิงคโปร์ของนิกอบอุ่นและมีความสุข

เพื่อนที่ทำงานอย่าง “หัวหน้า” ชายวัย 50 กว่า ก็เป็นเพื่อนที่นิกกินข้าวเที่ยงด้วยแทบทุกวัน ช่วยโค้ชงานและเป็นไลฟ์โค้ชให้ด้วยในบางโอกาส เพื่อนร่วมงานส่วนมากก็เป็นวัยกลางคนหลากหลายสัญชาติ โชคดีที่ทุกคนน่ารักและเอ็นดูนิกเหมือนลูกหลาน บรรยากาศในออฟฟิศจึงราบรื่นและแฮปปี้ ใครไปเที่ยวหรือกลับบ้านเกิดก็จะซื้อขนมมาแจก พอเลิกงานทุกคนก็แยกย้ายกันไป บางคนก็ไปรับลูกที่โรงเรียน บางคนก็ไม่เคยรู้ชีวิตนอกออฟฟิศเลย ทุกคนแบ่งเวลาทำงานและชีวิตส่วนตัวอย่างชัดเจน ซึ่งนิกมองว่าเป็นเรื่องดี เพราะเมื่อทุกคนให้ความสำคัญกับการแบ่งขอบเขต ชีวิตก็สมดุล ความสัมพันธ์(กับเพื่อนที่ทำงาน)มั่นคง และไม่กระทบประสิทธิภาพในการทำงาน

ด้วยอัธยาศัยที่ดีของนิก ทำให้เขาพอจะรู้จักมักคุ้นกับป้าร้านข้าวที่ทำงาน คนขายอาหารใน hawker แถวบ้าน ร้านกาแฟ ที่ปีนหน้าผาจำลอง สนามแบดมินตัน แม้กระทั่งหมาและเด็ก ๆ ที่คอนโดฯ ในมุมมองของนิก คนสิงคโปร์อาจไม่ได้ยิ้มแย้ม เฟรนด์ลี่เท่าคนไทย แต่หากได้ทำความรู้จักและคุ้นเคยกันสักระยะหนึ่ง พวกเขาก็พร้อมที่จะมอบมิตรภาพดี ๆ ให้อย่างแน่นอน

 

●    Hawker Center 

คือศูนย์อาหารชุมชน มักอยู่ใต้ตึกติดถนน หรือใต้ตึก HDB (Housing and Development Board โครงการที่อยู่อาศัยของรัฐบาล)


ไม่เหมือนที่ฝันไว้

 

“งานหนัก จ่ายหนัก” เป็นคติในการทำงานที่สิงคโปร์ นิกเล่าถึงประสบการณ์ทำงานของเพื่อนคนไทยว่าการทำงานในบริษัททั่วไปในสิงคโปร์ หรือบริษัท multinational ชื่อดัง ที่นี่มีวัฒนธรรมการทำงานหนัก เข้างาน 9 โมงเช้า เลิกงาน 4 ทุ่ม เพื่อนร่วมงานพูดแต่ภาษาจีน ประชุมเป็นภาษาจีนทั้งที่สมาชิกในทีมเกินครึ่งไม่รู้ภาษาจีน หรือภาษาอื่น ๆ แล้วแต่ความหลากหลายของเชื้อชาติในบริษัท การทำงานที่นี่จึงต้องใช้แรงกายและแรงใจผสมความอดทนขั้นสูง แลกกับค่าตอบแทนที่สูง ซึ่งนายจ้างก็คาดหวังสูงตามไปด้วย นิกมองว่าการที่เงินเดือนเยอะ ไม่ได้แปลว่าเราต้องทำงานหนัก เราควรทำงานด้วยความยุติธรรมและนายจ้างต้องมีมนุษยธรรม แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่สามารถเป็นไปได้ง่ายดั่งใจหวัง สิงคโปร์จึงไม่ใช่ที่ทำงานที่ดีที่สุดในโลก ถึงกระนั้นบางคนก็รับได้ เพราะเงินที่มากพอสามารถนำไปใช้ชีวิตให้หายเหนื่อย และเยียวยาตนเองจากการทำงานหนักได้

 

ที่นี่มีวัฒนธรรมการทำงานหนัก เข้างาน 9 โมงเช้า เลิกงาน 4 ทุ่ม เพื่อนร่วมงานพูดแต่ภาษาจีน ประชุมเป็นภาษาจีนทั้งที่สมาชิกในทีมเกินครึ่งไม่รู้ภาษาจีน หรือภาษาอื่น ๆ แล้วแต่ความหลากหลายของเชื้อชาติในบริษัท การทำงานที่นี่จึงต้องใช้แรงกายและแรงใจผสมความอดทนขั้นสูง แลกกับค่าตอบแทนที่สูง

 

แม้เงินดี แต่ค่าครองชีพก็หนักเอาเรื่องเช่นกัน นิกเผยว่า เงินเดือนเริ่มต้นของนิกและเด็กจบใหม่ในสิงคโปร์คือ 3,500 - 4,000 สิงคโปร์ดอลลาร์ (ประมาณ 1 แสนบาท) เป็นจำนวนเงินที่สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ พอจะมีชีวิตที่ดี เช่าห้องเล็ก ๆ แชร์กับคนอื่น ได้ กินอิ่มครบ 3 มื้อ มีมื้อพิเศษได้บ้าง พอไปสังสรรค์กับเพื่อนได้ แต่เงินเก็บไม่เยอะ ส่วนมากหมดไปกับค่าที่พักและค่ากิน ไม่สามารถใช้ชีวิตหรูหรา งดเที่ยว งดช็อปปิ้ง “ไม่ได้มีอิสระขนาดนั้น” นิกเล่า  แต่คนไทยที่ทำงานออฟฟิศที่นี่ส่วนมากจะตำแหน่งสูงแล้ว รายได้ก็จะสูงตาม ตัวเลือกการใช้ชีวิตก็มากขึ้น พี่ที่รู้จักคนหนึ่งสามารถเช่าห้อง duplex วิวสวยอยู่คนเดียวได้เลย สภาพความเป็นอยู่แปรผันตรงกับรายได้จริง ๆ

 

●    ที่อยู่อาศัยในสิงคโปร์ 

unit หนึ่งมีหลายห้องนอน ผู้เช่าจะได้ห้องนอนเป็นส่วนตัว แต่ใช้ส่วนกลาง เช่น ห้องนั่งเล่น ห้องครัว ห้องน้ำ ร่วมกับผู้เช่า (roommate / housemate) คนอื่น ราคาประมาณ 900 - 1,500 สิงคโปร์ดอลลาร์ ขึ้นอยู่กับขนาด สภาพ และทำเลที่ตั้ง


●    ห้อง duplex 

คือ คอนโดมิเนียม 1 ห้อง ที่มี 2 ชั้น ชั้นที่ 2 อาจจะเป็นชั้นลอย ขนาดห้องเท่าเดิมแต่มีพื้นที่ใช้สอยเพิ่มขึ้น

 

เมื่อพูดถึงสิงคโปร์ หลายคนคงจินตนาการภาพเมืองเล็กแต่เจริญ ทุกอย่างสวยงามสะอาดตา มีประสิทธิภาพ ผู้คนสามารถมีชีวิตที่ดีได้ แต่สำหรับนิก แรก ๆ ก็ใช่ แต่หลัง ๆ เริ่ม “เบื่อ” เพื่อน ๆ คนไทยก็ประสบปัญหาเดียวกัน บางคนที่อยู่สิงคโปร์มานานแล้วก็รู้สึก “ตัน” เหมือนเล่นเกมมาจนถึงด่านสุดท้าย ชีวิตจำเจ เนื้องานไม่ท้าทาย แม้จะรายได้ดีมีเงินเก็บ 

 

แม้ค่ากินอยู่จะแพง แต่สิ่งที่นิกแปลกใจและชอบใจเกี่ยวกับสิงคโปร์มาก คือ ขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุม และราคาถูก ทุกที่สามารถเดินทางถึงภายใน 15 - 60 นาที ด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินหรือรถประจำทาง นิกเดินทางไปกลับที่ทำงาน 30 นาที ตกวันละ 2 สิงคโปร์ดอลลาร์ (ประมาณ 52 บาท) ซึ่งถูกมากเมื่อเทียบกับรายได้ แต่อยู่ไปเรื่อย ๆ ก็รู้สึกว่าใช้เวลานาน เช่น ระยะทางแค่ 3 กิโลเมตร ใช้เวลา 30 นาที ถ้ารีบก็มีแท็กซี่ หรือแอปพลิเคชันเรียกรถเป็นทางเลือก “ราคาแรง แต่ถ้าต้องใช้จริง ๆ ก็ไม่ได้อดตาย” นิกกล่าว

 

●     ตั๋วโดยสารรถประจำทางทั่วประเทศ ราคา 1 - 2  สิงคโปร์ดอลลาร์ ตลอดสาย

 

เมื่อพูดถึงสิงคโปร์ หลายคนคงจินตนาการภาพเมืองเล็กแต่เจริญ ทุกอย่างสวยงามสะอาดตา มีประสิทธิภาพ ผู้คนสามารถมีชีวิตที่ดีได้ แต่สำหรับนิก แรก ๆ ก็ใช่ แต่หลัง ๆ เริ่ม “เบื่อ” เพื่อน ๆ คนไทยก็ประสบปัญหาเดียวกัน บางคนที่อยู่สิงคโปร์มานานแล้วก็รู้สึก “ตัน” เหมือนเล่นเกมมาจนถึงด่านสุดท้าย ชีวิตจำเจ เนื้องานไม่ท้าทาย แม้จะรายได้ดีมีเงินเก็บ ชีวิตส่วนตัวแยกกับงานอย่างชัดเจน ทำงานหนักแต่ก็มีสวัสดิการที่ดี แต่การใช้ชีวิตที่นี่ก็ยังคงขาดสีสันและความตื่นเต้น รู้สึกเหมือนมีพร้อมทุกอย่างแต่ยังขาดบางสิ่งไป และต้องออกเดินทางตามหาต่อไป


ก้าวต่อไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าเดิม

 

นิกชอบสิงคโปร์ คิดว่าเป็นที่ที่ดีในการใช้ชีวิตทุกช่วงวัย ตั้งแต่เกิดยันแก่ ทุกคนสามารถมีชีวิตที่ดีได้เพราะรัฐสวัสดิการที่ออกแบบมาเพื่อคุณภาพชีวิตของทุกคน ทั้งพลเมืองและชาวต่างชาติอย่างนิก แต่เขาไม่อยากอยู่ที่สิงคโปร์ตลอดไป ไม่คิดจะสมัคร PR ทั้งที่เป็นประโยชน์ในการทำงานและใช้ชีวิตที่นี่มากกว่าวีซ่าทำงานที่ถืออยู่ นิกวางแผนว่าเขาจะทำงานที่บริษัทปัจจุบันไปอีกสัก 5 ปี หรือจนกว่าจะรู้สึกว่าไม่มีอะไรที่สนใจให้เรียนรู้แล้ว จึงจะไปเรียนต่อ ป.โท หรือหางานใหม่ที่ท้าทายกว่าในต่างประเทศ

 

●    PR ย่อมาจาก Permanent Resident 

คือ ชาวต่างชาติผู้อยู่อาศัยในสิงคโปร์ถาวร แต่ยังไม่ใช่พลเมืองสิงคโปร์ ผู้เป็น PR สามารถทำ CPF (Central Provident Fund) หรือเงินบำนาญหลังเกษียณได้ มีสิทธิเหมือนพลเมืองสิงคโปร์ ได้รับการรักษาพยาบาล จ่ายค่าเทอมลูกในราคาคนสิงคโปร์  ชาวต่างชาติที่มาทำงานในสิงคโปร์มักถือวีซ่าทำงานที่ขึ้นตรงกับบริษัท ถ้าหมดสัญญาและบริษัทไม่จ้างต่อ หรือต้องการย้ายงานจะต้องดำเนินการสมัครงานใหม่ตั้งแต่เริ่ม  การเปลี่ยนมาถือ PR จึงเป็นการลดความเสี่ยง สามารถสมัครงานด้วยตนเอง เพิ่มโอกาสในการได้งานด้วยเพราะไม่ต้องให้บริษัทออกวีซ่าให้  แต่ PR มีเกณฑ์การให้ที่ยากมาก เช่น ต้องแต่งงานกับคนสิงคโปร์, อาศัยอยู่ในสิงคโปร์เป็นเวลานาน, เชี่ยวชาญในศาสตร์ที่หายาก หรือ สร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น

 

นิก และเพื่อน ๆ พนักงานออฟฟิศชาวไทยในสิงคโปร์ แทบไม่ไม่ใครคิดจะลงหลักฐานที่นี่เลย ทุกคนล้วนมองว่าสิงคโปร์เป็น “Stepping Stone” หรือ “Tax Break” สนามฝึกฝีมือ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ สร้างโปรไฟล์และฐานเงินเดือนที่ดี เพื่อเป็นเส้นทางที่มั่นคงและปลอดภัยสู่ประเทศอื่น ๆ อย่าง ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา หรือ “ที่ไหนก็ได้ที่เราอยากจะไป”

 

●    ภาษีรายได้ของสิงคโปร์ 

คิดเป็น 10% ของรายได้ ซึ่งถูกกว่าประเทศโลกที่ 1 มาก (ออสเตรเลีย 30%, สหรัฐอเมริกา 30%, แคนาดา 50%)

 

สิงคโปร์จึงเป็นหมุดหมายใกล้บ้านที่น่าสนใจ ได้ทั้งประสบการณ์ ได้ทั้งเงิน แม้ชีวิตจะจืดชืดไปบ้าง แต่หากมีโอกาสมาทำงานที่สิงคโปร์หรือประเทศอื่น ๆ นิกแนะนำให้รีบคว้าไว้ เพราะ “สังคมที่เห็นคุณค่าของคนทำงาน” จะทำให้เราสามารถมีชีวิตที่ดีและอนาคตที่สดใสแน่นอน

 

นิกชอบสิงคโปร์ คิดว่าเป็นที่ที่ดีในการใช้ชีวิตทุกช่วงวัย ตั้งแต่เกิดยันแก่ ทุกคนสามารถมีชีวิตที่ดีได้เพราะรัฐสวัสดิการที่ออกแบบมาเพื่อคุณภาพชีวิตของทุกคน ทั้งพลเมืองและชาวต่างชาติอย่างนิก แต่เขาไม่อยากอยู่ที่สิงคโปร์ตลอดไป 

 


เอกสารอ้างอิง
●    “4 Key Differences: Singapore PR vs. LTVP.” Singaporetopimmigration.sg, singaporetopimmigration.sg/key-differences-singapore-pr-vs-ltvp/. Accessed 15 May 2024.
●    “Buying a Flat - Housing & Development Board (HDB).” www.hdb.gov.sg, www.hdb.gov.sg/residential/buying-a-flat.
●    “Foreign Worker Quota and Levy Requirements.” Ministry of Manpower Singapore, www.mom.gov.sg/passes-and-permits/work-permit-for-foreign-worker/foreign-worker-levy/what-is-the-foreign-worker-levy.
●    PM. “Understanding the Singapore Work Culture: Tips for Foreign Businesses.” BGC Singapore, 24 Apr. 2023, bgc-group.com/understanding-the-singapore-work-culture-tips-for-foreign-businesses/.
●    “Singapore - Individual - Taxes on Personal Income.” Taxsummaries.pwc.com, taxsummaries.pwc.com/singapore/individual/taxes-on-personal-income#:~:text=Resident%20individuals%20are%20entitled%20to.
●    “The Top Singlish Phrases You Must Know to Chat like a Local.” Honeycombers Singapore, 6 Nov. 2019, thehoneycombers.com/singapore/singlish-101/.
●    Wong, Tessa. “The Rise of Singlish.” BBC News, 6 Aug. 2015, www.bbc.com/news/magazine-33809914.
●    Yeo, Teresa Rebecca. “Singlish.” www.nlb.gov.sg, www.nlb.gov.sg/main/article-detail?cmsuuid=5d5de338-98c5-4a97-9b51-727e807d6507.

 

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน