Skip to main content

หลายพื้นที่ทั่วโลกกำลังกลายเป็น ‘สังคมสูงวัยเต็มขั้น’ เช่นเดียวกับ ‘ฮ่องกง’ ที่มีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2046 จะมีจำนวนของประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป เป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 36

องค์กรไม่แสวงผลกำไรในฮ่องกงจึงร่วมมือกับโรงเรียนอนุบาล ในการรับมือกับ ‘สังคมสูงวัยเต็มขั้น’ โดยสร้าง “ห้องเรียนไร้อายุ” (A Classroom Without Age) ขึ้น เพื่อบรรเทา ‘ความเหงา’ ในผู้สูงอายุที่กำลังทวีรุนแรงมากขึ้น และเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนสองวัย

ห้องเรียนไร้อายุ ถูกออกแบบมาให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันของคนต่างรุ่น โดยเฉพาะเด็กกับผู้สูงอายุ เพื่อให้เพื่อนต่างวัยสัมผัสกระบวนการเติบโตร่วมกัน เพิ่มการมีปฏิสัมพันธ์และการเชื่อมโยงกันระหว่างกัน โดยผู้สูงอายุและเด็กๆ จะได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ร่วมกัน เช่น สภาพแวดล้อม ความรู้ภายในบ้าน สุขภาพกายและสุขภาพจิต การผจญภัย อาชีพ ประเพณี อาหาร และบทเรียนชีวิต

ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมห้องเรียนไร้อายุ บอกว่า พวกเขาตั้งตารอวันที่จะได้ไปโรงเรียน เพื่อที่จะพบปะกับหลานๆ ตัวเล็กในชั้นเรียน การได้ใช้ช่วงเวลาร่วมกันกับเด็กๆ ทำให้พวกเขาหวนระลึกถึงช่วงเวลาที่ยังอยู่กับลูกๆ ซึ่งเหมือนการได้เริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง

 

ภาพจากเฟสบุ๊ก A Classroom Without Age

 

คุณยายรุอัน จินผิง วัย 74 ปี หนึ่งในผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโปรเจ็กต์ห้องเรียนไร้อายุ เธอจะคอยช่วยเหลือเด็กๆ ชั้นอนุบาลให้ทำงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จลุล่วง นอกจากนี้ เธอยังมีส่วนร่วมในกิจกรรมการรีไซเคิลและคัดแยกขยะเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย คุณยายมีรอยยิ้มเสมอเมื่อพูดถึงเพื่อนร่วมชั้นวัย 4 - 5 ปีของเธอ

“เด็กๆ เก่งมาก พวกเขาสอนทุกอย่างเลยเวลาที่เราเข้าไปอยู่ในชั้นเรียน ฉันอายุมากและทำอะไรเชื่องช้า แล้วก็เข้าสังคมไม่ค่อยเก่ง แต่พออยู่กับเด็กๆ แล้ว ฉันเข้ากับพวกเขาได้ง่ายมากเลย” คุณยายรุอันบอก

“ช่วงที่โควิดระบาด ฉันตื่นนอนตอนเช้าและกรีดร้องอย่างไม่มีเหตุผล ฉันรู้สึกอึดอัดมากๆ พอฉันได้มาร่วมโปรเจ็กต์นี้ ฉันจะคอยตั้งตารอที่จะได้เข้าเรียนพร้อมกับเด็กๆ เพราะนี่คือแรงบันดาลใจในชีวิตของฉัน” คุณยายบอก

 

ภาพจากเฟสบุ๊ก A Classroom Without Age

 

ผู้สูงอายุเข้าร่วมโปรเจ็กต์อีกคน คือ คุณยายเฉิน ลี่หง วัย 71 ปี ซึ่งอยู่เพียงลำพังหลังจากลูกชายย้ายออกจากบ้าน เธอทุกข์ทรมานจากโรคประจำตัวที่เป็นผลจากการทำงานหนักต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาหลายปี และทุกวันเธอหวังว่าตัวเองจะหายจากความเจ็บปวดนี้ กระทั่ง ได้พบกับโปรเจ็กต์ห้องเรียนไร้อายุ ที่ทำให้ชีวิตของเธอเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

“ร่างกายของฉันเจ็บปวดอยู่ตลอดเวลา ลืมตาตื่นมาก็ปวดตัวแล้ว แต่การมาเรียนกับเด็กๆ ทำให้ฉันลืมความเจ็บปวดเหล่านั้น ฉันสนุกมากเวลาที่ได้เล่นกับเด็กๆ แล้วมันก็ทำให้ฉันรู้สึกมีความสุขมากเวลาเด็กๆ ถามฉันว่าฉันอยากกินอะไร” คุณยายเฉินเล่า

หลี เป่ยเซียน ครูใหญ่โรงเรียนอนุบาล Lutheran Sharon Hall กล่าวว่า เธอได้รับเชิญให้เข้าร่วมโปรเจ็กต์ห้องเรียนไร้อายุเมื่อหลายเดือนก่อน หลังจากที่โรงเรียนตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ เธอก็แจ้งให้ผู้ปกครองทราบว่า โรงเรียนจะคัดเลือกเด็กนักเรียน 10 คน และผู้สูงอายุ 10 คน ให้เข้าเรียนร่วมกัน ซึ่งปรากฏว่าทั้งเด็กๆ และผู้สูงอายุต่างช่วยเหลือเกื้อกูล และเป็นพลังบวกให้แก่กันและกัน เช่น เมื่อเด็กๆ ได้รับคำชมจากผู้สูงอายุ พวกเขาก็จะกล้าที่จะพูดคุยกับผู้สูงอายุมากขึ้น ซึ่งนั่นคือการเริ่มต้นการสร้างปฏิสัมพันธ์ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเด็กๆ มีพัฒนาการในเรื่องนี้อย่างชัดเจน

เฉิน ชูหุย ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการเพื่อสังคมของ Woopie Social Enterprises กล่าวว่า โปรเจ็กต์ห้องเรียนไร้อายุต้องการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ระหว่างคนต่างวัย ส่งเสริมแนวคิดเรื่องการไม่แบ่งแยกผู้สูงอายุกับเด็กเล็ก และช่วยลดช่วงว่างระหว่างวัย รวมทั้งต้องการเสริมสร้างทักษะทางสังคมให้กับทั้งเด็กและผู้สูงอายุ
 

 

อ้างอิง:
เฟสบุ๊ก A Classroom Without Age
Community Affairs | The epidemic has aggravated the emotional problems of the elderly. Social enterprises promote joint classes for the elderly and children to bid farewell to the loneliness of the elderly.
Kindergartens and social enterprises launch “age-free classrooms” in the hope that there will be no barriers between adults and children