Skip to main content

วิริญจน์ หุตะสังกาศ

 

หากผู้อ่านมีโอกาสได้ไปมุมหนังสือเด็กในห้องสมุดหรือร้านหนังสือ คงจะสังเกตเหมือนผู้เขียนว่า หนังสือภาพแปลส่วนมากจะมาจากญี่ปุ่น อาจด้วยภาพวาดที่น่ารักและมีสีสันอ่อนโยน เนื้อหาที่ตลกหรืออบอุ่นหัวใจ ไม่มีพิษภัยใด ๆ กับผู้อ่านไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ จึงทำให้หนังสือภาพของญี่ปุ่นขายดีในเมืองไทยมาตลอดเวลาหลายทศวรรษ

หนังสือเด็กของประเทศที่ขายดีเคียงคู่กันมาก็คือเจ้าแห่งวรรณกรรมเด็กอย่างอังกฤษ แต่มักจะเป็นหนังสือสำหรับเด็กที่อ่านได้คล่องแล้ว อย่าง "กระต่ายน้อยปีเตอร์" (The Tale of Peter Rabbit), "วินนี่เดอะพูห์" (Winnie the Pooh), "อลิซในแดนมหัศจรรย์" (Alice in the Wonderland) " เป็นต้น

ส่วนหนังสือของประเทศอื่น ๆ เป็นที่รู้จักน้อยมาก โดยเฉพาะหนังสือภาพที่สไตล์ของภาพและเรื่องราวอาจไม่ถูกจริตผู้อ่านชาวไทยเท่าไรนัก

คุณตาล - บุลวัชร เสรีชัยพร เจ้าของเพจ Children's Book Out There จึงได้รวบรวมหนังสือภาพที่น่าสนใจของประเทศที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก อย่างหนังสือจากเดนมาร์ก สเปน อิหร่าน ฝรั่งเศส ฯลฯ มาให้ผู้ที่สนใจหนังสือภาพได้เพลิดเพลินกับความแปลกใหม่ทั้งด้านเนื้อหาและลายเส้น
เป็นดั่งหน้าต่างที่เปิดสู่โลกแห่งหนังสือภาพจากนานาประเทศที่คนไทยหลายคนไม่มีโอกาสได้เห็นและจับต้อง

หนังสือแต่ละเล่มที่ลงในเพจฯ จึงมีคำอธิบายอย่างละเอียดถึงเนื้อหา ความหมาย รวมถึงเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจเกี่ยวกับเนื้อหาของหนังสือด้วย

 

"หนังสือควรสร้างมาจากความจำเป็น มีเรื่องหลายเรื่องในสังคมที่เด็กทุกคนควรรู้และได้เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราว ความสวยงามของวรรณกรรมเด็กต่างประเทศคือ เขาไม่เคยทิ้งใคร ทุกคนได้มีตัวตนบนหน้ากระดาษ ทุกคนได้เรียนรู้เรื่องของเพื่อนร่วมสังคมไปพร้อมกัน"

 


 

ตัวอย่างหนังสือที่คุณตาลรีวิว

 

ส่วนหน้าต่างบานสำคัญที่คุณตาลได้เปิดสู่โลกหนังสือเด็ก คือ วิชาวรรณกรรมเยาวชนที่เคยเรียนสมัยปริญญาตรี หลังจากนั้นก็ได้จับพลัดจับผลูมาช่วยโครงการ “Teachers as Learners” (ภาคต่อของ "โทรทัศน์ครู - thaiteachers.tv") ซึ่งแปลรายการสารคดีจากสหราชอาณาจักร เกี่ยวกับเทคนิคการสอนที่เป็นแบบอย่างที่ดี (best practice) ในแต่ละสาขาวิชาและชั้นเรียน แล้วนำมาวิเคราะห์วิพากษ์หาแนวทางประยุกต์เข้ากับบริบทไทย

"เราอยากเป็นบรรณาธิการมาโดยตลอด สมัยเรียนปริญญาตรีก็เป็นสาราณียกรได้ทำหนังสือ พอมาอยู่ 'โทรทัศน์ครู' ก็ได้ความรู้เรื่องเนื้อหาของสื่อสำหรับเด็กและวิธีการสอนเด็กจากต่างประเทศด้วย"

 



ต่อมา ความรักที่มีต่อหนังสือก็นำพาคุณตาลมาอยู่แผนกนิทานของสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง ซึ่งทำให้คุณตาลได้เห็นว่า จริงๆ แล้วสาเหตุที่หนังสือหลายเล่มซึ่งผลิตออกมาให้เด็กไทยอ่าน มีเนื้อหาซ้ำๆ เดิมๆ นั้นเป็นเพราะว่าผู้ผลิตเห็นว่า หนังสือเหล่านั้นลักษณะบางอย่างที่ขัดกับความเชื่อของพ่อแม่ครู “ส่วนใหญ่” ว่า เด็กควรได้รู้เรื่องอะไร แบบไหน ชอบอะไร หรือมีศักยภาพที่จะเข้าใจอะไรได้บ้าง ทำให้มีแนวโน้มจะขายหนังสือออกไปได้ยากกว่าเล่มแนวเดิม ๆ ที่ขายได้อยู่แล้ว ผู้ผลิตจึงลังเลที่จะทดลองทำหนังสือที่มีเนื้อหา ภาพ และกลวิธีเล่าเรื่องแปลกใหม่ หรือซื้อลิขสิทธิ์หนังสือเหล่านี้จากต่างประเทศมาแปล 

ในตอนนั้น คุณตาลได้รับหน้าที่จัดทำคู่มือการสอนประกอบนิทานหลาย ๆ เล่ม เมื่อตั้งคำถามว่า "ทำไมหนังสือภาพไทยต้องมีวิธีการสอนเด็กแนบอยู่ด้วยเสมอ" คุณตาลก็ได้ให้คำตอบว่า

"คนไทยยังไม่มองหนังสือเด็กว่าเป็นการอ่านเพื่อความสนุกหรือความบันเทิง หนังสือเด็กต้องสอน หนังสือหลายๆ เล่มที่เนื้อหาไม่ได้มีคำสอนชัดเจน คนก็จะไม่ซื้อ และปัญหาของวงการหนังสือเด็กของไทยคือ เนื้อหาที่น่าสนใจหรือที่จำเป็นมันขายไม่ได้"

การจำกัดเนื้อหาหนังสือตามความสามารถในการขายของผู้ใหญ่ ทำให้คุณตาลตัดสินใจไปเรียนต่อด้านวรรณกรรม สื่อ และวัฒนธรรมเยาวชนที่ยุโรป เพื่อทำความเข้าใจว่า เนื้อหาอะไรจำเป็นกับเด็กจริง ๆ จะได้เอาประเด็นเหล่านั้นเป็นฐานคิดในการผลิตหนังสือสำหรับเด็ก การเดินทางไปในหลายๆ ประเทศทำให้คุณตาลได้เห็นเนื้อหาที่หลากหลายมากขึ้น แล้วนำย้อนกลับมาเปรียบเทียบกับหนังสือที่ตัวเองเคยเห็นในประเทศไทยได้ในหลาย ๆ แง่มุม เช่น เรื่องการนำเสนอภาพเด็กๆ ที่มีชีวิตหลากหลาย

 



"เราเคยเป็นครูอาสาในชุมชนแออัด ลองเป็นพี่เลี้ยงทางโทรศัพท์ของเด็กด้อยโอกาสจากหลายจังหวัด เราเห็นปัญหาว่าไม่มีหนังสือเล่มไหนที่จะ 'เป็นเพื่อน' เด็กๆ กลุ่มนี้เลย ไม่มีตัวละครไหนมีสภาพความเป็นอยู่เหมือนเขา มีข้อจำกัดในชีวิตเหมือนเขาเลย"

คำบอกเล่านี้ของคุณตาลทำให้ผู้เขียนสะเทือนใจมากทีเดียว และเมื่อลองเปิดหนังสือภาพของไทยก็พบว่าตัวละครส่วนมากเป็นชนชั้นกลาง มีบ้านในเมืองหรือบ้านสวน ได้แต่งตัวสะอาดสะอ้านไปโรงเรียน มีอาหารเต็มโต๊ะรออยู่เมื่อกลับมาบ้านทั้งสิ้น

"หนังสือควรสร้างมาจากความจำเป็น มีเรื่องหลายเรื่องในสังคมที่เด็กทุกคนควรรู้และได้เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราว ความสวยงามของวรรณกรรมเด็กต่างประเทศคือ เขาไม่เคยทิ้งใคร ทุกคนได้มีตัวตนบนหน้ากระดาษ ทุกคนได้เรียนรู้เรื่องของเพื่อนร่วมสังคมไปพร้อมกัน"


นอกจากจะเผยแพร่หนังสือภาพที่น่าสนใจจากต่างประเทศให้นักอ่านชาวไทยได้รู้จักแล้ว คุณตาลยังทำโปรเจกต์ ThaiBCBF Illustrator Wall ที่จะนำผลงานของนักวาดไทยไปติดที่เทศกาลหนังสือเด็กโบโลญาประจำปี 2024 และจะส่งไปตามสำนักพิมพ์ต่างประเทศที่คุณตาลมีเครือข่ายอยู่ด้วย

 

โปสการ์ดที่เหล่านักวาดไทยส่งให้คุณตาลเพื่อนำไปติดที่เทศกาลหนังสือเด็กโบโลญาประจำปี 2023
 

ติดตามผลงานการรีวิวหนังสือและโครงการต่าง ๆ เกี่ยวกับหนังสือเด็กของคุณตาลได้ที่ Children's Books Out There 

 

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน