Skip to main content

Libertus Machinus

 

ทุกๆ ปีราวเดือนมีนาคม รายงาน World Happiness Report จะถูกเผยแพร่ออกมา รายงานฉบับนี้น่าจะเป็น "มาตรวัดความสุข" ของชาวโลกที่ดีที่สุดทุกวันนี้ โดยมีการถามคำถามแบบเดียวกันกับคนทั้งโลกว่า ให้คะแนนความสุขในชีวิตตัวเองเท่าไรจาก 1 ถึง 10 รวมถึงว่า รู้สึกอย่างไรกับสิ่งต่างๆ ตั้งแต่ทางเลือกในชีวิตส่วนตัว ความเอื้อเฟื้อในสังคม ไปจนถึงการทำงานของรัฐบาล แล้วเอาคะแนนจากคำถามพวกนี้มาประมวลผลร่วมกันกับข้อมูลสถิติต่างๆ อย่างเช่น อายุขัยเฉลี่ยและรายได้ต่อหัว ซึ่งจะรวมออกมาเป็นคะแนนมาตรฐานเทียบกันทั่วโลก

เราคงจะไม่ลงรายละเอียดของการทำรายงานชิ้นนี้ แต่ประเด็นคือ ในอดีตรายงานชิ้นนี้ถูกเอามายืนยันบ่อยๆ ว่าชีวิตในรัฐสวัสดิการนอร์ดิกทำให้คนมีความสุขจริงๆ ดังจะเห็นได้ว่า มีประเทศที่วนๆ กันอยู่ในตำแหน่ง Top 5 ประจำ ก็คือ ฟินแลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก และไอซ์แลนด์ ซึ่งสำหรับประเทศพวกนี้หากตกจาก Top 5 คือแย่แล้ว ประเทศพวกนี้ผลัดกันครองแชมป์วนๆ กันไป โดยในปีหลังๆ ประเทศที่ยืนหนึ่ง คือ ฟินแลนด์ แต่ประเทศอื่นๆ ก็ไม่เคยวนเวียนกัน และพอจะเรียกว่ากลุ่มนี้ประเทศที่เป็น "แชมป์ประเทศที่มีความสุขที่สุดตลอดกาล" ก็พอได้

แต่ปี 2024 มีรายละเอียดของรายงานที่พิเศษออกไป ซึ่งอาจทำให้เราเปลี่ยนมุมมองต่อประเทศพวกนี้

 


ยิ่งแก่ ยิ่งมีความสุข อายุน้อย ยิ่งทุกข์

 

ในปีนี้ มีการจัดอันดับความสุขแบบแยกตามกลุ่มอายุ โดยแบ่งเป็นกลุ่มคนอายุน้อย (น้อยกว่า 30 ปี) คนวัยกลางคนตอนต้น (30-44 ปี) คนวัยกลางคนตอนปลาย (45-59 ปี) และคนแก่ (60 ปีขึ้นไป)

สิ่งที่ "ประหลาด" ของกลุ่มประเทศ "แชมป์ประเทศที่มีความสุขที่สุดตลอดกาล" คือ คนแก่เป็นกลุ่มคนที่มีอันดับความสุขสูงที่สุด แต่คนที่อายุน้อย อันดับความสุขกลับแย่มากๆ มีแพตเทิร์นชัดมากว่า คนยิ่งอายุน้อยยิ่งมีความสุขน้อยถ้าเทียบกับประเทศอื่น โดยเคสที่หนักมากๆ คือ สวีเดนกับนอร์เวย์ กลุ่มคนอายุน้อยมีความสุขน้อยกว่าคนอายุเท่าๆ ในกันประเทศเถื่อนๆ อย่างเอลซัลวาดอร์อีก ถ้าดูอันดับความสุข ก็จะเห็นว่าพวกคนอายุน้อยกับคนแก่เหมือนกับอยู่กันคนละประเทศ

ทำไมถึงเป็นแบบนั้น?

จริงๆ มีคำอธิบายมานานมากแล้วว่าทำไมคนอายุน้อยๆ ในประเทศรัฐสวัสดิการถึงอาจไม่มีความสุขอย่างที่เราคิดว่าพวกเค้าควรจะมี

คำถามคือ อะไรทำให้คนที่อยู่ในสังคมซึ่งเรียนหนังสือฟรีได้จนจบมหาวิทยาลัย รักษาพยาบาลก็ฟรี ตกงานรัฐก็มีเงินให้ แก่ไปรัฐก็เลี้ยงดู แถมยังเปิดกว้างกับเพศสภาพที่หลากหลาย สามารถยัง "ไม่มีความสุข" ได้?

เอาจริงๆ มันมีคำอธิบายแพตเทิร์นแบบนี้อยู่ เพราะธีม "ความทุกข์ของคนรุ่นใหม่"  ปรากฎทั่วไปในประเทศพัฒนาแล้ว คำอธิบายทั่วไปก็คือ เพราะคนรุ่นใหม่เล่น Social Media มากเกินไป และก็มีงานวิจัยมากชิ้นขึ้นเรื่อยๆ ที่ชี้ว่าการอยู่กับ Social Media มากๆ ทำให้เรามีความสุขน้อยลง

ถ้าอธิบายแค่นี้ก็จะได้คำตอบที่ง่ายมากว่า ทำไมคนในกลุ่มประเทศนอร์ดิกยิ่งอายุมากขึ้นยิ่งมีความสุข ก็เพราะคนยิ่งอายุมากก็ยิ่งเล่น Social Media น้อยลงนั่นเอง

แต่มันแค่นี้เหรอ?

ในกรณีกลุ่มประเทศนอร์ดิก น่าจะมีคำอธิบายที่มากกว่านั้น เพราะประเทศอื่นๆ ในโลกตะวันตก กลุ่มคนที่ทุกข์สุด คือ คนรุ่นใหม่ แต่กลุ่มคนที่มีความสุขที่สุด คือ พวกวัยกลางคน ไม่ใช่คนแก่แบบพวกประเทศนอร์ดิก ซึ่งด้านหนึ่งอาจสะท้อนว่า พวกประเทศนอร์ดิกดูแลคนแก่ดีมาก คนแก่ในประเทศเลยมีความสุขกว่าประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ แต่อีกด้าน การที่อันดับความสุขของคนหนุ่มสาวในประเทศอย่างสวีเดนและนอร์เวย์ต่ำกว่าคนวัยเดียวกันในเอลซัลวาดอร์ และคอสตาริกา ก็ยังต้องการคำอธิบายอยู่ดี

 


เพราะอยู่ใน ‘ประเทศที่สุขที่สุด’ แล้ว จึงไม่เห็นทางที่ชีวิตจะดีกว่านี้

 

มีคำอธิบายทางจิตวิทยาอยู่ว่า คนในประเทศพวกนี้คือกลุ่มที่ "รู้ตัว" ว่าอยู่ในประเทศที่ "มีความสุขที่สุดในโลก" ดังนั้น จึงไม่สามารถจะคาดหวังว่าอะไรๆ จะดีกว่านี้ได้อีก นี่เลยทำให้ปัญหาทุกอย่างถูกมองว่า จะไม่สามารถถูกแก้ไขได้ หรือพูดอีกแบบ คือ สังคมในประเทศกลุ่มนี้ถูกมองว่าทุกอย่าง "ดีที่สุดอย่างที่เป็นได้" แล้ว และไม่ใช่แค่สังคมมอง โลกก็มองแบบนั้น แต่กลับกัน นี่เลยทำให้สิ่งต่างๆ ในสังคมที่ยังไม่ได้ดั่งใจ แทบจะ "สิ้นหวัง" สำหรับการถูกแก้ไข

ว่าง่ายๆ ประเทศพวกนี้ก็มีปัญหาการว่างงานเหมือนประเทศอื่น ดูในเชิงตัวเลขมักจะทำได้ดีกว่าด้วย แต่ในความเข้าใจว่า นี่คือสิ่งที่ดีที่สุดที่คาดหวังได้แล้ว ถ้าคุณเป็นคนรุ่นใหม่แล้วยังหางานไม่ได้ในประเทศเหล่านี้ ความรู้สึกคือแย่กว่าการตกงานในประเทศอื่นแน่ๆ เพราะคุณจะมองว่าสถานการณ์มันดีกว่านี้ไม่ได้แล้ว เป็นต้น

 


ทุกข์เพราะ ‘เหงา’ แต่รัฐสวัสดิการไม่ได้มีไว้ ‘แก้เหงา’

 

แต่อีกเรื่องที่ทำให้คนหนุ่มสาวไม่มีความสุขนักก็คือ "ความเหงา" ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศแถบนี้มานาน ซึ่งจริงๆ ก็ต้องบอกว่ารัฐสวัสดิการช่วยไม่ได้จริงๆ มันเป็นเรื่องของภูมิอากาศหนาวจัดที่ทำให้เวลาส่วนใหญ่ของปีคนต้องอยู่แต่ในบ้าน รวมถึงการมีการกระจายตัวของประชากรมาก ทำให้ความคึกคักของกิจกรรมในชุมชนและสังคมของประเทศพวกนี้น้อยกว่าพวกประเทศเขตร้อนที่คนใช้ชีวิตกลางแจ้งเยอะและอยู่ใกล้กัน

ในแง่นี้ การมีรัฐสวัสดิการเลยไม่ได้ทำให้คนมีความสุข แต่กลับทำให้คนไปหาจิตแพทย์กันมากขึ้น และมีการจ่ายยาต้านซึมเศร้ามากขึ้น ซึ่งข้อมูลพวกนี้ก็มีบันทึกมานาน

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ถ้าเราเอาไปปะติดปะต่อกับ "ปัญหา Social Media ของคนรุ่นใหม่” ที่มีทั่วไปในประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ก็จะเห็นภาพชัดขึ้นว่า ปกติ Social Media ยังทำให้คนที่อยู่ในสังคมที่ใกล้ชิดกัน "เหงา" มากขึ้นได้

ก็ลองคิดดูว่า มันจะทำให้สังคมที่คนอยู่ในสภาพอากาศหนาวและ "เหงา"  จะยิ่ง "เหงาขึ้น" แค่ไหน นี่คือคำอธิบายว่า ทำไมพวกคนรุ่นใหม่ในรัฐสวัสดิการที่ดูจะมีพร้อมทุกอย่างก็ยัง "ไม่มีความสุข" เท่าที่ควร

แต่ก็นั่นเอง สิ่งที่เราต้องไม่ลืมก็คือ รัฐสวัสดิการไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อ "แก้เหงา" หรือกระทั่งเพื่อให้คน “มีความสุข” แต่แรกอยู่แล้ว เพราะรัฐสวัสดิการ คือ การสร้างหลักประกันร่วมกันในสังคมเพื่อ “บรรเทาทุกข์” มากกว่า “บำรุงสุข” ความทุกข์ของคนในสังคมเป็นสิ่งที่รัฐสวัสดิการจะช่วยลด แต่ความสุขคุณต้องไปหาเอง ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐ รัฐสวัสดิการทั่วไปจึงมีเป้าเพื่อจะช่วยให้คนที่ย่ำแย่ที่สุดในสังคมให้สามารถรอดชีวิตได้ แต่ถ้าชีวิตคุณดีขึ้น คุณต้องดูแลตัวเอง หาทางมีความสุขไป นั่นคือเรื่องของคุณ ไม่ใช่เรื่องของรัฐ

ในกลางกลับกัน รัฐสวัสดิการก็ห้ามให้คุณไปทำอะไรที่ทำให้คุณไม่มีความสุขไม่ได้ ถ้ามันไม่คอขาดบาดตาย ซึ่งถ้าเราเชื่อว่ากลุ่มวัยรุ่นในประเทศที่สวัสดิการดีที่สุดในโลกยังไม่มีความสุขเพราะเหตุผลว่าพวกเค้าเล่น Social Media มากเกินไป เลยทำให้เหงาและรู้สึกโดดเดี่ยวทางสังคมเกินพิกัด

บางทีอาจต้องตั้งคำถามกันใหม่ว่า จะใช้นโยบายสาธารณะอะไรเพื่อแก้ปัญหานี้ดี และเราก็อาจต้องกลับไปคิดใหม่ด้วยเช่นกันว่า แม้แต่แพคเกจรัฐสวัสดิการที่ดูดีที่สุดในโลก ก็ยังมีปัญหาบางอย่างที่แก้ไม่ได้จริงๆ อยู่ และบางทีปัญหานั้นก็คือ ปัญหาพื้นๆ ของมนุษย์ อย่างเช่น การมีชีวิตให้มีความสุข

 

ที่มา:
Happiness of the younger, the older, and those in between
Happiness: Young People Less Happy Than Their Elders?
Why young people are becoming less happy than older generations
Nordic countries' 'happy' reputation masks sadness of young, says report
Nordic noir: The unhappiness epidemic affecting young people in the world’s happiest countries
Why Nordic countries might not be as happy as you think
Chart: Scandinavians take a lot of antidepressants. That might be a good sign.
 

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน
‘รัฐสวัสดิการ’ ทำให้การ ‘หย่าร้าง’ เพิ่มขึ้นจริง แต่นั่น...ไม่ใช่เรื่องราวทั้งหมด
ประเทศที่มี ‘สวัสดิการแปลงเพศฟรี’ แต่ทำไมคนกลับหนีมาทำที่ไทย?
รู้มั้ยทุกวันนี้ ‘คนมาเก๊า’ ได้เงินจากรัฐปีละกว่าสี่หมื่นบาท