Skip to main content

“เราจะได้เห็นข้อมูลที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เราจะได้เห็นพฤติกรรมของฝุ่นและองค์ประกอบทางเคมีของฝุ่น เราเห็นฝุ่นมากว่ายี่สิบปี แต่จากนี้เราจะเข้าใจมากขึ้น จะนำคุณค่ามาสู่วงการวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่แค่ไทยที่ได้เข้าใจ แต่ทั่วโลกจะได้เข้าใจเรื่องของฝุ่น...นี่คือโอกาสครั้งยิ่งใหญ่ที่เราจะสร้าง the real impact to political and general public ถ้าทุกคนมองเห็นภาพเดียวกันเข้าใจตรงกัน เราจะแก้ปัญหาได้ดียิ่งขึ้น”

ดร. ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอ ภ.) หรือ GISTDA ของไทยกล่าวในการแถลงการลงนามข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ระหว่างประเทศไทยและองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา หรือ นาซา เมื่อวันพฤหัสฯ ที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมา

โครงการ ASIA-AQ เป็นความร่วมมือระหว่างองค์การนาซา และสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของ เกาหลีใต้ ตลอดจนภาคีระหว่างประเทศหลายแห่ง เช่น กรมสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของ ฟิลิปปินส์, มหาวิทยาลัย Universiti Kebangsaan Malaysia (UKM) ของมาเลเซีย, สำนักงานพัฒนา เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) หรือ GISTDA ของไทย และกระทรวงสิ่งแวดล้อมของไต้หวัน ทั้งนี้ สาธารณชนจะได้ทราบข้อมูลและผลลัพธ์ที่ได้จากการศึกษาทั้งหมดภายในหนึ่งปี

 

 

 

ภายใต้ความร่วมมือระหว่างองค์การนาซากับสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของเกาหลีใต้ จะรวบรวมข้อมูลคุณภาพอากาศโดยละเอียดในหลายพื้นที่ทั่วเอเชีย โดยทีม ASIA-AQ จะใช้เครื่องบิน ดาวเทียม และสถานีบนพื้นดิน เพื่อรวบรวมและแบ่งปันข้อมูลกับหน่วยงานด้านคุณภาพอากาศ และรัฐบาลของประเทศในความร่วมมือ เพื่อช่วยให้เข้าใจเกี่ยวกับคุณภาพอากาศและเชื่อว่าข้อมูลนี้จะเป็นพยานหลักฐานในการแก้ปัญหา ฝุ่นเกิดที่ไหน เวลาไหน เกิดจากอะไร และนำไปสู่การแก้ปัญหาเชิงนโยบายในประเทศภาคีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ มลภาวะเปลี่ยนแปลงตามการเคลื่อนย้ายของประชากร การเติบโตและถดถอยของเศรษฐกิจ ตลอดจนการโยกย้ายหรือการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม โครงการ ASIA-AQ จะช่วยให้เราสามารถประเมินการ เปลี่ยนแปลงเหล่านั้น รวมถึงความเกี่ยวข้องในระดับโลกได้ โครงการดังกล่าวยังแสดงให้เห็นว่า ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เป็นความพยายามร่วมกัน โดยมีนักวิทยาศาสตร์ อากาศยาน และ อุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ มาจากทั่วเอเชียและทั่วโลก

แนวทางในการทำงานคือการเก็บตัวอย่างอนุภาคในอากาศจากหลายพื้นที โดยความร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ หน่วยงานด้านคุณภาพอากาศ และหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ในประเทศนั้น ๆ บนพื้นฐานของหลักการแบ่งปันข้อมูลระหว่างขั้นตอนต่างๆ โดยเปิดเผย และทําการวิเคราะห์ร่วมกันกับนักวิทยาศาสตร์และหน่วยงานด้านคุณภาพอากาศในประเทศที่ดําเนินการวิจัย

 

เครื่องบิน G-III จะทำการบินจากสนามบินอู่ตะเภา-เชียงใหม่ทุกวันๆ ละ 2 รอบๆ ละประมาณ 8 ชั่วโมง

 

เครื่องบิน DC-8 ของนาซาจะบินในระดับต่ำเหนือประเทศไทยเพื่อศึกษาคุณภาพอากาศบริเวณกรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียง

 

สำหรับประเทศไทย เครื่องบิน 2 ได้เริ่มทำการบินใน 2 รูปแบบคือ เครื่องบิน DC-8 ขององค์การนาซาจะบินในระดับต่ำเหนือประเทศไทยเพื่อศึกษาคุณภาพอากาศบริเวณกรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียงในระยะ 60 กิโลเมตร โดยบินเป็นแนวนอน ไป-กลับ ระหว่างวันที่ 16-25 มี.ค.

เครื่องบินอีกลำคือ G-III จะทำการบินเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 28,000 ฟุต โดยบินขึ้น-ลงจากสนามบินอู่ตะเภา-เชียงใหม่ทุกวันๆ ละ 2 รอบๆ ละประมาณ 8 ชั่วโมง

เครื่องบินทั้ง 2 ลำจะทำการสำรวจสภาพฝุ่นละอองและสารพิษในอากาศเหนือน่านฟ้าไทย โดยทำงานร่วมกับ GEMS-Geostationary Environment Monitoring Spectrometer เป็นอุปกรณ์ตรวจวัดที่ติดตั้งบนดาวเทียม KOMPSAT-2B  ของสาธารณรัฐเกาหลีใต้ ซึ่งเก็บข้อมูลฝุ่นและสารพิษในประเทศที่ร่วมโครงการในช่วงเวลากลางวัน วันละ 8 ชั่วโมง ซึ่งข้อมูลจากดาวทำจะทำให้เครื่องบินสามารถกำหนดจุดที่จะโฟกัสในการเก็บข้อมูลบนภาคพื้นได้แม่นยำ

ทั้งนี้ GEMS พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือบันทึก วิเคราะห์ และติดตามปริมาณก๊าซที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมบนโลกของเราได้อย่างต่อเนื่องโดยมีรายละเอียดข้อมูลที่ดีขึ้น อาทิ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซฟอร์มาลดีไฮด์ ก๊าซโอโซน และอนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5, PM10)

 

 

 

ดร.จองมิน ปาร์ค จากสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเกาหลีใต้ แสดงความยินดีที่ได้ร่วมมือในการทำงานร่วมกัน ปัญหาสภาพอากาศนั้นเกิดขึ้นจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษในอากาศไม่ใช่ปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้นแล้ว

“การเปลี่ยนแปลงเป็นเมืองและอุตสาหกรรม ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนและวางนโยบายคุณภาพอากาศ โครงการนี้ เป็นเรื่องการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ทั้งระดับภาคพื้นและอวกาศ และเชื่อว่าโครงการในไทยจะเป็นอีกโครงการที่ประสบความสำเร็จในการศึกษาในภาคสนาม และหวังว่าโครงการนี้จะทำให้เรามีอากาศที่สะอาดมากขึ้น” ดร.จองมินกล่าว

ดร.แบรี่ เลเฟอร์ นักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการ จากแผนกวิทยาศาสตร์พื้นพิภพองค์การนาซา ล่าวว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือของหลายประเทศได้แก่ สหรัฐ, เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ ไทย และมาเลเซีย ซึ่งเป็นห้าเมืองหลักในเอเชียที่กำลังเผชิญมลพิษทางอากาศมากที่สุด เนื่องจากมีการขยายการพัฒนาและอุตสาหกรรมเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเลือกเก็บประเทศไทยไว้สุดท้ายเพราะต้องใช้เวลามาก โดยประเทศไทยมีการเผาทางเกษตรกรรมค่อนข้างมาก และโครงการนี้เป็นปีแรกที่เริ่มเก็บข้อมูลและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถดำเนินการต่อเนื่องต่อไปอีก 5 ปี

ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ของไทย กล่าวขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมมือในโครงการนี้ รวมถึงฝ่ายความมั่นคงของไทยที่อนุมัติให้นาซ่าได้ทำการบินเหนือน่านฟ้าไทย และระบุว่า ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับคือการได้ข้อมูล เพื่อมาช่วยวางแผนเชิงนโยบายเพื่อจัดการปัญหามลพิษทางอากาศของไทยให้บรรเทาเบาบางลง