Skip to main content

อรอนงค์ ทิพย์พิมล

 

 

อินโดนีเซียมีประชากรที่จัดเป็นกลุ่มผู้สูงอายุหรือที่เรียกในภาษาอินโดนีเซียว่า "lansia" (ลันเซีย)

lansia มาจากคำว่า lanjut usia คือ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวนราว 11.75 % ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 31,725,000 คน แม้จะไม่ใช่กลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ก็เป็นจำนวนมากกว่า 30 ล้านคนเนื่องจากประชากรของอินโดนีเซียมีมากถึง 270 ล้านคน

ผู้สูงอายุในอินโดนีเซียแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้สูงอายุรุ่นเยาว์ (60-69 ปี) ผู้สูงอายุรุ่นกลาง (70-79 ปี) และผู้สูงอายุรุ่นใหญ่ (80 ปีขึ้นไป) ปัจจุบันอายุขัยเฉลี่ยของชาวอินโดนีเซียคือ 72.13 ปี

ผู้สูงอายุชาวอินโดนีเซียส่วนมากได้รับการศึกษาค่อนข้างต่ำ สถิติการได้รับการศึกษาของกลุ่มผู้สูงอายุของอินโดนีเซียคืออยู่ที่ 8.77 ปี หมายความว่าส่วนใหญ่แล้วไม่ได้จบการศึกษาในระดับมัธยมต้น โดยกลุ่มผู้สูงอายุได้รับการศึกษาในระดับประถมศึกษามากสุดราว 32.42 % ตามด้วยกลุ่มที่ไม่จบการศึกษาระดับประถมศึกษาอยู่ที่ 29 เปอร์เซ็นต์ ไม่เคยได้รับการศึกษา 11.68 % สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมต้น 10.60 % จบการศึกษามัธยมปลาย 9.62 % และมีเพียง 6.77 % ที่ได้รับการศึกษาในระดับอุดมศึกษา

ในอินโดนีเซียมีโรงเรียนสำหรับผู้สูงอายุ (Sekolah Lansia) ซึ่งเป็นรูปแบบการศึกษาแบบไม่เป็นทางการที่มีหลักสูตรครอบคลุมด้านความรู้, การฝึกปฏิบัติ, การเล่น, การเข้าสังคม, การเงิน, เทคโนโลยี และการออกกำลังกาย ดำเนินการทั้งโดยหน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์การทางด้านสังคมอื่นๆ

โรงเรียนสำหรับผู้สูงอายุนี้เรียนฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ
1) พัฒนาความรู้และพฤติกรรมของผู้สูงอายุเพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพแข็งแรง 
2) ยกระดับสุขภาพของผู้สูงอายุทางด้านจิตวิญาณ (นอกเหนือจากด้านร่างกาย) 
3) ยกระดับคุณภาพชีวิตเพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 
4) เพิ่มความสุขและเพื่อให้ผู้สูงอายุพึ่งพาตนเองได้

เนื้อหาและแบบเรียนในโรงเรียนผู้สูงอายุจะถูกปรับให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนในแต่ละที่เป็นหลัก นอกจากเป็นสถานที่สำหรับเพิ่มพูนความรู้แล้ว โรงเรียนผู้สูงอายุยังเป็นพื้นที่ที่ผู้สูงอายุจะได้พบปะเพื่อนฝูงอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน ลดความเสี่ยงจากความเหงา ความรู้สึกโดดเดี่ยวและโรคซึมเศร้า และยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตทางสังคมของพวกเขาอีกด้วย

ตัวอย่างเช่น โรงเรียนผู้สูงอายุดวงตะวัน (Sekolah Lansia Matahari) ที่ตำบล Sirampog อำเภอ Brebes จังหวัดชวากลางที่เริ่มเปิดสอนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2022 หลังจากเปิดสอนได้ราวหนึ่งปีมีผู้สำเร็จการศึกษารุ่นแรก 75 คนจากนักเรียนทั้งหมด 80 คน ยิ่งไปกว่านั้นผู้สำเร็จการศึกษาท่านหนึ่งมีอายุเกือบร้อยปี

โรงเรียนผู้สูงอายุดวงตะวันใช้แบบเรียนของ Indonesia Ramah Lansia ซึ่งครอบคลุมเนื้อหาด้านสุขภาพ, สังคม และการเล่น เช่น การดูแลเรื่องโภชนาการของผู้สูงอายุ อะไรที่ผู้สูงอายุไม่ควรบริโภคหรือควรหลีกเลี่ยง การรู้จักและรับมือกับโรคภัยต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดตีบ โรคความดันโลหิตสูง และโรงเรียนยังสอนวิธีการออกกำลังกายเพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดตีบ

นอกจากนี้ โรงเรียนนี้ยังเน้นเรื่องการเล่นเพื่อให้ผู้สูงอายุเบิกบานและมีความสุข ผู้สูงอายุที่เข้าเรียนที่โรงเรียนนี้กล่าวว่าโรงเรียนได้สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ ข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพร่างกายและความคิด การเงิน เทคโนโลยี งานอดิเรก และการเข้าสังคม ซึ่งทำให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุดีขึ้น

หน่วยงานสวัสดิภาพครอบครัวและการส่งเสริมพลังครอบครัว สำนักงานประชากรและการวางแผนครอบครัวแห่งชาติของอินโดนีเซีย หรือ BKKBN (Keluarga Sejahtera dan Pemberdayaan Keluarga Badan Kependudukan dan Keluarga Berencana Nasional) ได้เปิดเผยว่าปัจจุบันมีโรงเรียนสำหรับผู้สูงอายุทั่วทั้งประเทศอินโดนีเซียราว 400 แห่ง ในปี 2024 BKKBN ตั้งเป้าว่าจะเปิดโรงเรียนสำหรับผู้สูงอายุทุกเมืองหรืออำเภอเพิ่มอีก 350 แห่ง