Skip to main content

แพทย์เผย สภาพการทำงานที่แข่งขันสูงในปัจจุบันส่งผลให้คนวัยทำงานเกิด “ภาวะสมองล้า” ส่งผลให้การทำงานของสมองถดถอย ไม่มีสมาธิ คิดช้า หลงลืมง่าย ประสิทธิภาพการทำงานลดลง พบมากขึ้นในคนที่หายป่วยจากโควิด

นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า บริบทการทำงานในปัจจุบันที่ต้องแข่งขันกับเวลา ส่งผลให้เกิด “ภาวะสมองล้า” หรือ “Brain fog” ของคนวัยทำงาน โดยเฉพาะเรื่อง “ความจำที่แย่ลงก่อนวัย” ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่ประกอบไปด้วยปัญหาด้านความจำระยะสั้นแย่ลง สมาธิถดถอย ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งใดได้ยาวนานจนมักส่งผลให้ทักษะการทำงานและการวางแผนลดลง ทำให้ภาวะนี้มักพบได้ชัดเจนในวัยทำงาน ซึ่งต้องใช้ทักษะความคิดและความจำค่อนข้างมาก

นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า “ภาวะสมองล้า”ในคนวัยทำงานแตกต่างจากปัญหาความจำถดถอยในผู้สูงอายุ โดยสาเหตุเกิดจาก

1. ความเครียดจากการทำงาน ภาระงานมาก พักผ่อนไม่เพียงพอ ขาดเวลาผ่อนคลาย เข้าสังคม

2. ภาวะทางจิตเวช โดยเฉพาะโรคซึมเศร้าซึ่งพบมากขึ้นในปัจจุบัน และมีอาการเด่นในเรื่องความจำระยะสั้น

3. โรคทางกายหลายๆอย่าง เช่น ฮอร์โมนทำงานผิดปกติ โรคซีด ภาวะขาดสารอาหาร เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ปวดศีรษะไมเกรน เป็นต้น

4. การใช้สารเสพติดบางชนิด เช่น ภาวะติดสุรา ยานอนหลับ ยาแก้แพ้ ยาแก้ปวดบางชนิด

5. ปัจจุบันมีรายงานพบภาวะสมองล้าในผู้ป่วยหลังหายจากโรคโควิด-19 มากขึ้น และจัดเป็นอาการทางระบบประสาทที่พบได้ในกลุ่ม Long COVID syndrome ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม

สำหรับผู้ที่สงสัยว่าจะป่วยเป็นภาวะสมองล้า สามารถสังเกตว่ามีอาการเหล่านี้หรือไม่ ปัญหาความจำสั้น ขาดสมาธิจนรบกวนการทำงานหรือการเข้าสังคม โดยที่เพื่อนและคนใกล้ชิดอาจสังเกตได้จากสภาพการทำงานที่ย่ำแย่เฉียบพลันจนเห็นได้ชัด

ผู้ป่วยภาวะสมองล้า ควรไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ สาเหตุ และการรักษา โดยหลักการรักษาจะเน้นไปที่การแก้ไขสาเหตุ เช่น รักษาโรคทางกายให้ดี งดการใช้ยาและสารเสพติด รักษาอาการซึมเศร้า การพักผ่อนอย่างเพียงพอทั้งการนอนหลับและมีเวลาหยุดพักผ่อน ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แพทย์ระบุว่า ทั้งหมดนี้จะช่วยทั้งรักษาและป้องกันการเกิดภาวะสมองล้าได้เป็นอย่างดี