สำนวนไทย มีคำว่า “ขำตายล่ะ” หรือ “ขำจนสิ้นสมประดี” แต่ทว่าคนเรา “ขำ” จน “ตาย” ได้หรือไม่? การ “หัวเราะ” สามารถทำให้คนตายได้หรือเปล่า? เป็นคำถามที่นักวิทยาศาสตร์สนใจหาคำตอบ และพบว่าในทางทฤษฎีแล้วเป็นไปได้ แต่ในความเป็นจริง “การหัวเราะ” กลับเป็นยาวิเศษที่ช่วยลดความเครียด และช่วยเพิ่มการไหลเวียนของออกซิเจนในร่างกาย
บทความในเว็บไซต์ live science อธิบายว่า มีการหัวเราะบางแบบที่กระตุ้นให้เกิดผลกระทบทางลบต่อร่างกาย ในบางกรณี การหัวเราะอาจทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "หมดสติจากการหัวเราะ" ซึ่งเกิดจากความดันโลหิตที่ลดลงอย่างรวดเร็วระหว่างการหัวเราะอย่างรุนแรง โดยไปกระตุ้นการตอบสนองของระบบประสาทอัตโนมัติ ซึ่งเป็นเครือข่ายเส้นประสาทที่ควบคุมกระบวนการทางสรีรวิทยา ทำให้ปริมาณเลือดที่ไหลไปเลี้ยงสมองลดลงชั่วคราว ส่งผลให้หมดสติ
ในปี 1997 มีกรณีชายวัย 62 ปี เป็นผู้ป่วยรายแรกที่ถูกบันทึกสาเหตุของการหมดสติว่า เกิดจากการหัวเราะ โดยที่เขามีโรคความดันโลหิตสูงและปัญหาเกี่ยวกับหัวใจอื่นๆ อยู่ก่อนแล้ว ชายดังกล่าวหัวเราะเสียงดังและหมดสติไปหลายครั้งระหว่างดูรายการโทรทัศน์ชื่อ "Seinfeld" จนมีการนำลักษณะอาการไปชื่อเรียกการหมดสติแบบนี้ว่า "การหมดสติแบบ Seinfeld""
ดร.ทอดด์ โคเฮน หัวหน้าแผนกโรคหัวใจและผู้อำนวยการนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งนิวยอร์ก อธิบายว่า ขณะที่กำลังที่หัวเราะ หน้าอกจะมีการเคลื่อนไหวขึ้นลง และมีการเปลี่ยนแปลงความดันภายในช่องอก ซึ่งส่งผลต่อเส้นประสาทเวกัส (vagus nerve) ที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณไปยังสมองและอวัยวะภายในร่างกาย
เส้นประสาทเวกัส เป็นเส้นประสาทที่ยาวและซับซ้อนที่สุดเส้นหนึ่ง เริ่มต้นจากก้านสมอง และแผ่กระจายไปทั่วร่างกาย ทำหน้าที่ควบคุมอวัยวะต่างๆ ในช่องอกและช่องท้อง รวมถึงควบคุมการย่อยอาหาร การหายใจ การเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต การหลั่งฮอร์โมน และอื่นๆ
ดร.โคเฮนกล่าวว่า ชายคนดังกล่าวไม่ได้เสียชีวิตจากอาการหมดสติ ซึ่งโดยปกติแล้ว การหมดสติจากการหัวเราะ จะทำให้สลบไปเพียงไม่กี่นาทีก่อนจะฟื้นกลับขึ้นมา เขากล่าวว่า แม้ว่าในทางเทคนิคเป็นไปได้ที่การหมดสติจากการหัวเราะอาจทำให้หัวใจหยุดเต้น แต่ความเสี่ยงที่ใหญ่กว่า คือ การหมดสติแบบนี้อาจเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดอันตราย เช่น การล้มศีรษะฟาดพื้น หรือร่วงลงจากที่สูง หรือตกจากบันได หรือหล่นจากชานชลาลงไปบนรางของรถไฟใต้ดิน และเสียชีวิต
ในกรณีอื่นๆ การหัวเราะจะส่งผลต่อปริมาณอากาศที่เข้าสู่หัวใจ ปอด และสมอง อารมณ์สนุกสนานสุดเหวี่ยง สามารถเพิ่มอัตราการหายใจและไปกระตุ้นอาการหอบหืด ซึ่งอาจรุนแรงขึ้นจากการหายใจที่ผิดปกติอันเนื่องจากการหัวเราะ
การศึกษาในปี 2009 นักวิจัยได้ทำการสำรวจผู้ป่วยโรคหอบหืด 105 ราย พบว่ามากกว่าร้อยละ 40 มีอาการหอบหืดจากการหัวเราะ ในกรณีรุนแรงอาจถึงแก่ชีวิตได้หากไม่มีเครื่องพ่นยา
ดร.เมแกน คามาธ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (UCLA) กล่าวว่า ในทางทฤษฎี เสียงหัวเราะอาจทำให้เกิดการหดตัวอย่างกะทันหันของเส้นเสียง หรือเกิดภาวะขาดอากาศจากการที่ไม่ได้รับออกซิเจนเพียงพอระหว่างการหัวเราะ แต่อย่างไรก็ตาม โอกาสที่จะเสียชีวิตจากสาเหตุเหล่านี้เป็นไปได้ค่อนข้างน้อย
ดร.เมแกนกล่าวว่า แม้ว่าจะมีรายงานการเสียชีวิตจากการหัวเราะเนื่องจากขาดอากาศหายใจหรือหัวใจหยุดเต้น แต่โดยรวมแล้วสาเหตุการเสียชีวิตในลักษณะนี้ สำหรับบุคคลที่มีสุขภาพดีแล้วไม่น่าจะเป็นไปได้
มีการศึกษาอื่นๆ พบว่า การหัวเราะสามารถช่วยลดความวิตกกังวลลงได้อย่างมาก ทำให้ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล ซึ่งตอบสนองต่อความเครียดลดต่ำลง ขณะเดียวกันทำให้สมองเพิ่มการหลั่ง 'โดปามีน' ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ตอบสนองเมื่อร่างกายรู้สึกพึงพอใจ
นอกจากนี้ การหัวเราะยังช่วยเพิ่มการไหลเวียนของออกซิเจนทั่วร่างกาย และยังช่วยลดการอักเสบในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้อีกด้วย
ดร.โคเฮนกล่าวว่า การหัวเราะเป็นยาที่ดีที่สุด และไม่ทำให้ใครตาย แม้ว่าในทางทฤษฎีอาจเกิดขึ้นได้ก็ตาม