Skip to main content

 

เกิดผลกระทบที่ไม่คาดคิดกับ “การมองเห็น” ของนักบินอวกาศหลังเสร็จสิ้นภารกิจบนอวกาศและกลับสู่โลก องค์การนาซาพบว่า ราวร้อยละ 70 ของนักบินอวกาศที่ปฏิบัติภารกิจในอวกาศเป็นเวลายาวนาน จะมองเห็นภาพเบลอทั้งระยะใกล้และระยะไกล ซึ่งนาซากำลังศึกษาเพื่อหาคำตอบว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

กรณีของ ดร. ซาราห์ จอห์นสัน ซึ่งปฏิบัติภารกิจบนสถานีอวกาศนานาชาติเป็นเวลา 6 เดือน ก่อนขึ้นสู่อวกาศเธอมีการมองเห็นที่คมชัด แต่เมื่อกลับสู่พื้นโลกสายตาของเธอกลับเบลอ การมองเห็นไม่ชัดเจน สิ่งนี้เกิดขึ้บนักบินอวกาศรายอื่นๆ ด้วยที่รายงานว่า พวกเขาอ่านหนังสือลำบากมากขึ้น และมองเห็นระยะไกลได้ไม่ชัด ซึ่งอาการนี้จะอยู่ต่อเนื่องไปอีกหลายปีหลังจากที่พวกเขากลับสู่พื้นโลก

อาการดังกล่าว ในปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ “Spaceflight Associated Neuro-ocular Syndrome” หรือ SANS ซึ่งกลายเป็นความกังวลใจอย่างยิ่งทางด้านสุขภาพของนักบินอวกาศที่ต้องอยู่นอกโลกเป็นเวลานาน โดยเฉพาะเมื่ออาการ SANS ต่างจากผลกระทบด้านสุขภาพอื่นๆ ของนักบินอวกาศ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือการเสียการทรงตัว ที่สามารถฟื้นฟูให้กลับเป็นปรกติได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่ SANS อาจเป็นอาการที่ถาวร

ส่วนสาเหตุของการมองเห็นไม่ชัดหลังกลับสู่โลกเกิดจากสภาพของแรงโน้มถ่วง ซึ่งบนโลกแรงโน้มถ่วงจะดึงของเหลวในร่างกายให้ไหลลงด้านล่างอยู่ตลอดเวลา แต่ในอวกาศที่แรงโน้มถ่วงเกือบจะเป็นศูนย์ ของเหลวในร่างกายจะกระจายตัวใหม่ ซึ่งส่งผลให้ใบหน้าบวมและเกิดแรงดันในกะโหลกศีรษะเพิ่มขึ้น แรงดันที่สูงขึ้นนี้เองที่ทำให้ด้านหลังของลูกตาแบนลง และทำให้ประสาทตาและจอประสาทตาบวม

“เราต้องเข้าใจให้ได้ว่า การเปลี่ยนแปลงของการมองเห็นจะคงที่ หรือแย่ลงเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป และถ้าสายตาของนักบินอวกาศเสื่อมลงอย่างรุนแรง ก็อาจทำให้ภารกิจไปดาวอังคารทั้งหมดตกอยู่ในความเสี่ยงได้” ดร.ไมเคิล โรเบิร์ตส์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านการมองเห็นของนาซากล่าว

ดร.ไมเคิล และทีมวิจัยของนาซา กำลังพัฒนาอุปกรณ์เพื่อป้องกัน รวมถึงคอนแทคเลนส์ชนิดพิเศษ รวมถึงยาช่วยลดความดันให้กับของเหลวในร่างกาย และทำข้อกำหนดการออกกำลังกายเพื่อช่วยรักษาการไหลเวียนของเหลวในร่างกายให้อยู่ในสภาพที่ปรกติ และยังมีการทดสอบอุปกรณ์เพื่อช่วยจำลองการมองเห็น

แม้การมองเห็นไม่ชัดของนักบินอวกาศที่กลับสู่โลก จะเป็นความกังวลใจของนักวิทยาศาสตร์ แต่ก็ก่อให้เกิดผลดีกับคนที่อยู่บนโลกด้วย เมื่อนักวิทยาศาสตร์ได้ความรู้ใหม่เกี่ยวกับความดันที่มีผลต่อการมองเห็น ซึ่งจะสามารถพัฒนาไปสูการรักษาโรคต้อหิน และภาวะความดันภายในกะโหลกศีรษะสูงกว่าปกติได้


ที่มา
What if a trip to space changed your eyesight forever?