Skip to main content

 

Libertus Machinus
 


คน Gen Y มักจะปรารถนาที่จะมีชีวิต "สโลว์ไลฟ์" ดังนั้น พวกพื้นที่อย่างบ้านนอกของอิตาลี ชานเมืองญี่ปุ่น หรือกระทั่งเชียงใหม่ ก็เป็นพื้นที่เค้ามองกันว่า ถ้าถึงวันเกษียณแล้วอยากจะมาอยู่

อย่างไรก็ดี เรื่องราวหนึ่งของผู้หญิงจากออสเตรเลียที่ทาง Business Insider หยิบยกมาเล่า เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากๆ เพราะมันเป็นเรื่องของสาว Gen Y คนหนึ่งที่จับพลัดจับผลูไปอยู่ "ชุมชนคนเกษียณ" โดยบังเอิญ แล้วติดใจ

ภูมิหลังคือ สาวคนนี้ทำงานฟรีแลนซ์ ตอนแรกเช่าบ้านอยู่กับแฟน แล้วก็เลิกรากันไป ก็ต้องหาที่อยู่ใหม่ซึ่งตอนแรกๆ เธอเช่า Airbnb อยู่ แต่มันแพง เธออยากได้บ้านที่จ่ายค่าเช่าถูกๆ จนเธอไปเจอป้าวัยเกษียณของเธอโดยบังเอิญ และป้าเธอก็ยื่นข้อเสนอพิสดารให้กับเธอว่า มันมีอพาร์ตเมนต์ขนาด 2 ห้องนอนใน "ชุมชนคนเกษียณ" ที่ป้าเธออยู่ ซึ่งกำลังหาผู้เช่า โดยที่ค่าเช่ามันถูกแน่ๆ ให้เธอลองไปยื่นใหม่สมัครดู แล้วบอกว่าป้าเธอแนะนำมา

ป้าของเธอบอกว่า มันได้ชื่อว่าชุมชนคนเกษียณก็จริง แต่ทางสมาคมเจ้าของบ้านเค้ายกเว้นให้ได้ แค่เราต้องทำตามระเบียบเค้าให้ได้ เช่น เค้าจะมีจำกัดเวลาให้คนนอกเข้าออกชุมชนได้ เพื่อความสงบ (ออสเตรเลียคล้ายกับอเมริกาคือ "สมาคมเจ้าของบ้าน" จะมีอำนาจในการกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ของชุมชน)

เธอยื่นใบสมัคร สมัครผ่าน เซ็นสัญญาเช่าระยะยาวแล้วเข้าอยู่แบบงงๆ โดยเธอบอกว่าค่าเช่ารายเดือนคือถูกจัดๆ เพียงประมาณ 10,000 บาทเท่านั้น สำหรับอพาร์ตเมนต์บ 2 ห้องนอน ถ้าเทียบกับพวกเมืองใหญ่ๆ ในออสเตรเลียคือคนละโลก เพราะเมืองใหญ่ๆ พวกนั้น ห้องขนาดนี้ราคาน่าจะประมาณ 80,000 บาท

ดังนั้น เธอได้ห้องพักค่าเช่าในราคาถูกสมใจ แต่สิ่งที่เธอได้แถมมาและประเมินค่าไม่ได้ ทำให้เธอซึ่งอยู่มา 1 ปี คิดว่า ไม่อยากย้ายไปไหนแล้ว อยากอยู่ที่นี่แหละ

เนื่องจากหมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านคนเกษียณ เพื่อนบ้านของเธอเป็นเหล่าผู้สูงอายุอัธยาศัยดีทั้งนั้น เธอเดินไปไหนมาไหนคนก็ทัก มีชวนไปกินข้าว มีแบ่งอาหารมาให้กิน สไตล์ "คนแก่" และแน่นอนในชุมชนมีกิจกรรมสันทนาการมากมาย ตั้งแต่บิงโกยันโยคะ ซึ่งเธอก็ไปเข้าร่วมตามความสนใจ

เธอเล่าชีวิตของเธอว่า เธอมักจะตื่นมากินกาแฟ พูดคุยกับเพื่อนบ้าน และร่วมกิจกรรมยามเช้าประจำวันนั้นๆ ทำงานตอนบ่าย เย็นๆ ก็ออกไปซื้อของ ซึ่งบางทีก็จะเจอเพื่อนบ้านชวนไปกินข้าวที่บ้านบ้างอะไรแบบนั้น

ถ้าใครคุ้นเคยกับการอยู่ในชุมชน "คนแก่" สิ่งที่คนแก่ชอบคือ การเล่าเรื่อง คนแก่ทุกคนมีเรื่องราวมากมายในชีวิตที่อยากเล่า ซึ่งถ้าคนชอบฟังนี่บันเทิงเลย และการที่คนแก่ชวนไปกินข้าว ก็คือ เค้าอยากมีคนฟังเค้าเล่าเรื่อง ซึ่งถ้าเราอยากฟังก็ยิ่งตอบโจทย์

เธอยอมรับว่า นี่คือสิ่งที่เธอไม่ได้คาดหวังในตอนแรก เพราะตอนแรกเธอแค่ต้องการห้องเช่าถูกๆ แต่สิ่งที่เธอได้เรียนรู้จากการอยู่ท่ามกลางผู้สูงอายุคือ เธอเรียนรู้ว่าจะ "แก่" ยังไง หรือเธอเริ่มเห็นว่าชีวิตตอนแก่มันไม่ได้แย่ ความแก่ไม่ใช่ความอับเฉาแบบที่เธอเคยเข้าใจ เพราะคนแก่ที่เธอเจอก็ยังมีเพื่อนใหม่ๆ ยังมีงานอดิเรกใหม่ๆ ไม่ใช่ชีวิตหยุดนิ่งสิ้นสุดรอความตายไปวันๆ ซึ่งแม้ว่าชีวิตจะดำเนินไปข้างหน้า แต่ทุกคนชิลกับชีวิต ไม่มีการเร่งรีบทำอะไร ทำให้การอยู่ท่ามกลางคนเหล่านี้มีสันติสุขอย่างประหลาด ซึ่งต่างจากโลกของคนหนุ่มสาวที่หมกมุ่นกับความเร็วและเทคโนโลยีแบบที่เธอเจอมาตลอดชีวิต

คำถามคือ เรื่องนี้สอนอะไรเรา? คำตอบรวมๆ ก็คือ เวลาพูดถึง "สโลว์ไลฟ์" บางทีเราจะนึกถึงชีวิตแบบเกษตรกร หรืออย่างน้อยๆ ก็คือชีวิตแบบบ้านนอก แต่ในความเป็นจริง แม้แต่ในเมืองใหญ่ๆ เอาจริงๆ ในชุมชนที่คนแก่ๆ อาศัยอยู่เยอะๆ ความ "สโลว์ไลฟ์" แบบนี้ก็ปรากฎ ลองไปดูพวก "หมู่บ้าน" หรือ "ชุมชน" ที่อายุประมาณ 30-40 ปี บางทีเราก็จะเห็นบรรยากาศแบบคล้ายๆ กับที่สาวออสเตรเลียคนนี้เล่ามา คือมันจะเป็นชุมชนที่คนอยู่กันมาตั้งแต่ทำงาน จนทุกวันนี้คนเกษียณแล้ว และทุกคนรู้จักกันหมด

ประเด็นคือ เอาจริงๆ "สโลว์ไลฟ์" มันอาจไม่ใช่เรื่อง "พื้นที่" แต่เป็น "ผู้คน" หรือพูดง่ายๆ ถ้าอยากสโลว์ไลฟ์ จริงๆ อาจไม่ต้องไปไหนไกล แค่ย้ายตัวเองไปยังชุมชนที่มีคนแก่วัยเกษียณเป็นประชากรส่วนใหญ่ก็น่าจะตอบโจทย์แล้ว โดยบางทีนั่นอาจเป็นชุมชนเก่าๆ หมู่บ้านเก่าๆ หรือกระทั่ง "แฟลต" เก่าๆ อะไรแบบนี้ก็ได้

ความน่าสนใจก็คือ ในสังคมที่เปลี่ยนผ่านเป็นสังคมผู้สูงอายุ ชุมชนพวกนี้ก็อาจมีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นชุมชนที่ผู้คนแก่ลงเอง หรือชุมชนที่ถูกสร้างขึ้นใหม่เพื่อรองรับผู้อยู่อาศัยที่เป็นผู้สูงวัยโดยเฉพาะ และความน่าสนใจในอนาคตก็คือ "ผู้สูงวัยรุ่นใหม่" ก็อาจมีกิจกรรมที่ต่างจากรุ่นเก่า เช่น คน Gen X วัยเกษียณ ก็อาจไม่รู้สึกบันเทิงกับการเต้นลีลาศแบบคนรุ่น Baby Boomer แต่อาจชอบแจมดนตรีร็อคกันมากกว่าก็ได้ เป็นต้น และการ "อัปเดต" ชุมชนคนสูงอายุไปเรื่อยๆ นี้ บางทีมันก็อาจทำให้คนรุ่นที่ห่างกันไม่มาก "เข้าถึง" และเข้าร่วมกิจกรรมได้ง่ายกว่า

และก็ต้องยอมรับว่า บางทีมันเป็นเรื่องของ "รสนิยม" ด้วย เพราะก็ไม่ใช่คน "วัยกลางคน" ทุกคนจะอยากได้ชีวิตสงบๆ ท่ามกลางผู้สูงอายุ แบบสาววัย 38 ชาวออสเตรเลียในต้นเรื่อง


อ้างอิง

I'm 38 and live in a retirement village. My rent is cheap, and my neighbors have taught me how to be a better friend.
  
   

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน