Skip to main content

 

พันธุ์อาจ ชัยรัตน์


ในยุคที่ประเทศไทยกำลังพยายามปรับตัวเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนภายใต้บริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor: NEC) ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นหนึ่งในแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจที่สำคัญของรัฐบาล ด้วยความหวังว่าจะช่วยกระตุ้นการลงทุน เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคเหนือของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา ภาคเหนือมักถูกมองว่าเป็น เพชรยอดมงกุฎทางวัฒนธรรมและการศึกษา

ดังนั้น NEC จึงถูกตั้งความหวังไว้สูงว่า จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการต่อยอดจากทุนทางวัฒนธรรมและความรู้เหล่านี้ แต่คำถามที่หลายคนตั้ง คือ NEC จะสามารถผลักดันภาคเหนือให้ก้าวไปข้างหน้าได้จริงหรือไม่? หรือจะกลายเป็นแค่โครงการบนกระดาษ?

ผมได้มีโอกาสนำเสนอ แนวคิด ในฐานะกรรมมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือตอนล่าง 1 และเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor : NEC - Creative LANNA) และแลกเปลี่ยนมุมมองกับภาคเอกชน วิชาการ และประชาชน ในงานเสวนา "การพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคและร่างกฎหมายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ" ร่วมกับ สส. เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู และ คุณสันติ เหล่าพาณิชย์กุล กรรมการและเลขาธิการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อหาทางพัฒนาเศรษฐกิจภาคเหนือกันครับ


NEC คืออะไร?

 

ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC) เป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ภายใต้กรอบความร่วมมือใน อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS – Greater Mekong Subregion) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศจีนตอนใต้ เช่น มณฑลยูนนาน ลาว และเมียนมา เพื่อเสริมสร้างการค้า การลงทุน และการขนส่งทางบกระหว่างภูมิภาค

NEC มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ และเชื่อมโยงไปยังจังหวัดสำคัญ  3 จังหวัดในภาคเหนือ คือ เชียงราย ลำปาง และลำพูน โดยมีแนวคิดในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งถนน ระบบราง นิคมอุตสาหกรรม และศูนย์โลจิสติกส์ เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการเปิดตลาดกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงการเป็นประตูเชื่อมโยงไปยังตลาดจีนและอาเซียน โดยให้ความสำคัญในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่เรียกว่า “Creative Lanna” ซึ่งเป็นแนวทางหลักของโครงการ ที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บนฐานของวัฒนธรรมล้านนา โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ พัฒนาและประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบทั้งในระยะสั้นและยาว


บทเรียนที่ผมอยากกล่าวถึง มี 4 บริบท คือ

1. ปรับองคาพยพ ด้วยเครือข่ายท้องถิ่น ไม่ใช่ส่วนกลาง: สร้างทิศทางและกลไกใหม่ ไม่ใช่แค่รวมโครงการ

 

หนึ่งในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับโครงการพัฒนาภูมิภาคในอดีต คือ การใช้ แนวทางแบบ “Top-down” ที่มาจากส่วนกลาง โดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริงในพื้นที่ ทำให้เกิดความไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และศักยภาพเฉพาะตัวของท้องถิ่น

NEC Creative Lanna จึงเริ่มต้นด้วยการ “ปรับองคาพยพ” หรือเปลี่ยนแนวคิดใหม่ โดยเน้นการวางกลไกจากฐานราก (Bottom-up) ที่ให้ท้องถิ่นเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ไม่ใช่แค่ผู้รับผล แต่เป็น ผู้กำหนดทิศทางร่วมกัน

  • การทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการรายย่อย และสถาบันการศึกษาในพื้นที่
  • การออกแบบนโยบายที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมและทรัพยากรเฉพาะของแต่ละจังหวัด โดยเชื่อมโยงทั้ง “มรดกวัฒนธรรม (Cultural Assets)” และ “ศักยภาพด้านเทคโนโลยี (Technology Assets)” เช่น การใช้ศักยภาพของเมืองเก่า เชียงใหม่-ลำพูน ในการพัฒนาเมืองเชิงวัฒนธรรมและนวัตกรรม
  • การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างท้องถิ่น เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของภูมิภาคโดยรวม

 

2. พลิกโฉม Business Model คิดนอกกรอบ เชื่อมทุนนานาชาติ: สร้างมูลค่าจากรากฐาน ไม่ใช่แค่ปริมาณ

 

การพัฒนาเศรษฐกิจในอดีต มักเน้นปริมาณเป็นหลัก เช่น การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้มากที่สุด หรือสร้างโรงงานอุตสาหกรรมให้ได้มากที่สุด แต่สิ่งเหล่านี้มักไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มอย่างแท้จริงให้กับชุมชนท้องถิ่น

NEC จึงเลือกใช้ Business Model ที่คิดนอกกรอบ โดยเน้นการสร้าง Value Creation หรือ การสร้างมูลค่าเพิ่ม ที่เกิดจากศักยภาพภายในพื้นที่ พร้อมกับการเชื่อมโยงกับตลาดโลกและทุนนานาชาติอย่างชาญฉลาด โดยเฉพาะการผลักดัน เชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลาง (HQ) ของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และแหล่งลงทุนระดับภูมิภาค

  • สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน : เช่น การจัดตั้งเขตส่งเสริมการลงทุนเฉพาะทาง (Creative Investment Zone) ที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี การเข้าถึงเงินทุน และบริการ One-Stop Service
  • พัฒนาย่านสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Creative and Innovation Districts) : เช่น การปรับปรุงพื้นที่เมืองเก่า เชียงใหม่-ลำพูน ให้เป็นย่านนวัตกรรมวัฒนธรรมและศูนย์กลางของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์
  • ส่งเสริมการเป็น HQ ของธุรกิจสร้างสรรค์ : ดึงดูดบริษัทออกแบบ บริษัทเทคโนโลยีสร้างสรรค์ หรือบริษัทผลิตสื่อดิจิทัลให้เลือกตั้งสำนักงานใหญ่ในเชียงใหม่
  • เชื่อมโยงกับเครือข่ายนานาชาติ : ผ่านการร่วมมือกับเมืองสร้างสรรค์ในเครือข่าย UNESCO Creative Cities Network และการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อเชื่อมโยงกับนักลงทุนทั่วโลก

 

3. ปฏิเสธโมเดลสำเร็จรูป คิดให้ไกลกว่าการลอกแบบ: ล้านนาไม่ลอก EEC แต่สร้างทางของตัวเอง

 

หนึ่งในข้อกังวลที่มักถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับ NEC คือ “จะลอกแบบ Eastern Economic Corridor (EEC) มาใช้หรือไม่?” เพราะ EEC ถูกมองว่าเป็นโมเดลระเบียงเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จในภาคตะวันออกของประเทศไทย

แต่ NEC ไม่ควรพยายาม “ลอกแบบ” EEC แต่ควรเลือกที่จะ “สร้างทางของตัวเอง” ที่เหมาะสมกับบริบทของภาคเหนือ ซึ่งมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ และศักยภาพเฉพาะตัว

ภาคเหนือมีศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสูงกว่า EEC มาก ในแง่ของ ศักยภาพด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) ภาคเหนือมีข้อได้เปรียบเหนือ EEC อย่างชัดเจน โดยเฉพาะในแง่ของ

  • สถาบันอุดมศึกษาและศูนย์วิจัย : ภาคเหนือมีมหาวิทยาลัยชั้นนำ เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่มีศูนย์วิจัยและนวัตกรรมหลายสาขา เช่น ชีววิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม ปัญญาประดิษฐ์ และเกษตรกรรมแม่นยำ
  • การพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม : มีความพร้อมในการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในภาคเกษตรกรรม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาชุมชน
  • เครือข่ายนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญ : ภาคเหนือเป็นบ้านของนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งสามารถเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมระดับนานาชาติ

แต่ภาคเหนือไม่มีทางออกสู่ทะเล และไม่มีอุตสาหกรรมหนักต่างหาก ในทางกลับกัน ภาคเหนือมีข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ที่แตกต่างจาก EEC อย่างชัดเจน เช่น

  • ไม่มีทางออกสู่ทะเล : ทำให้การขนส่งสินค้าขนาดใหญ่หรือหนักต้องผ่านระบบทางบกที่มีต้นทุนสูงกว่า การขนส่งทางทะเล
  • ไม่มีฐานอุตสาหกรรมหนัก : ภาคเหนือไม่เหมาะกับการพัฒนาอุตสาหกรรมหนัก เช่น ปิโตรเคมี โลหะ หรือการผลิตรถยนต์ ซึ่งเป็นหัวใจของ EEC

ดังนั้น NEC จึงต้อง ไม่พยายามใช้กรอบแนวคิดเดียวกับ EEC ในพื้นที่เดียวกัน แต่ควรใช้จุดแข็งของภาคเหนือเพื่อสร้าง รูปแบบการพัฒนาที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น

  • พัฒนาเศรษฐกิจนวัตกรรม (Innovation Economy) : ใช้ศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่มีมูลค่าสูง
  • สร้างระบบนิเวศนวัตกรรมท้องถิ่น (Local Innovation Ecosystem) : สนับสนุน Start-up และ SMEs ที่ใช้นวัตกรรมในการแก้ปัญหาท้องถิ่น
  • พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและบริการขั้นสูง : เช่น การพัฒนาซอฟต์แวร์ การให้บริการด้านวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) และบริการสุขภาพเชิงนวัตกรรม

 

4. พัฒนาอย่างรับผิดชอบ เพราะโลกรวน ไม่เหมือนเดิม: โอบกอบภูเขาและธรรมชาติด้วยนวัตกรรมสีเขียว

 

ในยุคที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมกลายเป็นประเด็นสำคัญระดับโลก NEC ตระหนักดีว่าการพัฒนาจะต้องไม่ทำลายธรรมชาติ แต่ต้องสามารถ “อยู่ร่วมกับธรรมชาติ” ได้อย่างยั่งยืน

NEC Creative Lanna จึงควรมีแนวคิดหลักในการพัฒนาด้านนี้ด้วย เพราะปัญหา PM2.5 ดินโคลนถล่ม น้ำท่วม การปนเปื้อนทางเคมีเกษตรและอุตสหากรรม รวมทั้ง พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่า ต่างจาก EEC โดยสิ้นเชิง

นวัตกรรมสีเขียว (Green Innovation) และ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ

  • การพัฒนาพลังงานทดแทนในพื้นที่ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล ที่เหมาะกับพื้นที่ภาคเหนือ
  • การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (Eco-tourism) และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism)
  • การใช้เทคโนโลยีในการจัดการขยะและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
  • การสร้างความตระหนักรู้และมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม


บทสรุป: NEC จะเป็นมากกว่าโครงการบนกระดาษได้หรือไม่?

 

คำตอบขึ้นอยู่กับ "การปฏิบัติ" ไม่ใช่แค่ "การประกาศ" NEC มีศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงภาคเหนือได้จริง หากมีการบูรณาการระหว่างนโยบาย งบประมาณ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง รัฐบาลต้องแสดงความชัดเจนในการดำเนินโครงการ พร้อมกับปรับปรุงกฎหมายและระบบราชการให้เอื้อต่อการลงทุน และต้องไม่ลืมว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนต้องคำนึงถึงความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

หาก NEC ถูกผลักดันด้วยแรงผลักจากความต้องการทางการเมืองมากกว่าเหตุผลทางเศรษฐกิจ หรือหากขาดความต่อเนื่องและแผนปฏิบัติที่ชัดเจน ก็อาจจบลงด้วยการเป็นเพียงโครงการบนกระดาษ ที่เหลือไว้เพียงความหวังอันเลือนลางของประชาชนในภาคเหนือ

แต่หากทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงใจ NEC อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ภาคเหนือไม่ใช่ “ภูมิภาคที่ถูกลืม” อีกต่อไป แต่กลายเป็น “หัวใจเศรษฐกิจแห่งอนาคต” ของประเทศไทยได้ในที่สุด

 

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน