“สปีดเดทติ้ง” หรือ การจับคู่เดทแบบรวดเร็ว กำลังได้รับความนิยมในหมู่คนหนุ่มสาวชาวเกาหลีใต้ เนื่องจากใช้เวลาน้อยและค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการใช้บริการบริษัทจัดหาคู่ รวมถึงมีตัวเลือกจำนวนมากในการร่วมอีเวนท์ครั้งเดียว
เดือนมกราคมที่ผ่านมา ในกรุงโซล หนุ่มสาวช่วงวัย 20 และ 30 ราว 20 คน มาอีเวนท์หาคู่เดทแบบสปีดเดทติ้ง ซึ่งแต่ละคนจะมีโปรไฟล์การ์ดที่ระบุถึงอาชีพ อายุ รสนิยม ความสนใจล่าสุด และคำสำคัญที่ระบุถึงคู่เดท รวมถึงย่านที่พักอาศัย โดยหนุ่มสาวจะแลกเปลี่ยนการ์ดกัน และมีเวลาพูดคุยแนะนำตัว สร้างความสัมพันธ์กันภายใน 10 นาที ก่อนที่จะย้ายไปพบคนใหม่ที่โต๊ะถัดไป ซึ่งหากทั้งคู่สนใจซึ่งกันและกันก็จะแลกรายละเอียดการติดต่อกัน แต่หากว่า ไม่ ก็จะส่งกระดาษเปล่าให้เป็นการแสดงว่าไม่สนใจคู่ที่สนทนาด้วย
สปีดเดทติ้ง เป็นการให้ผู้เข้าร่วมสามารถพบปะคนที่มองหาคู่เดทได้หลายคนในเวลาสั้นๆ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นในหมู่คนหนุ่มสาวชาวเกาหลีที่ให้ความสำคัญกับเรื่องประสิทธิภาพ โดยได้อิทธิพลมาจากรายการจับคู่เดททางทีวีที่ชื่อ "I Am Solo" และ "Jjak" ของสถานีโทรทัศน์ SBS รวมถึงรายการทีวีโชว์ "Single’s Inferno" ที่ฉายทางเน็ตฟลิกซ์
ในการพูดคุยหาคู่เดทของสปีดเดทติ้ง จะใช้เวลาราว 2 ถึง 3 ชั่วโมง โดยผู้ที่สนใจต้องลงทะเบียนผ่านแอปจับคู่เดทอย่าง Somoim และ Munto หรือค้นหาอีเวนท์จับคู่เดททางโซเชียลมีเดีย ค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมอยู่ที่ 20,000 ถึง 50,000 วอน (ราว 467 ถึง 1,170 บาท) และจำนวนผู้เข้าร่วมมีตั้งแต่ 4 คู่ไปจนถึง 12 คู่
จุง พนักงานออฟฟิศวัย 28 ปี เคยเข้าร่วมสปีดเดทติ้งแล้ว 3 ครั้ง บอกว่า หลังจากอายุเลยช่วง 20 ต้นๆ ไปแล้ว การพบเจอคนใหม่ๆ กลายเป็นเรื่องยาก และสปีดเดทติ้งดูเหมือนจะเป็นทางออกที่ดี
จุงบอกว่า ถ้าเทียบกับบริษัทจัดหาคู่แล้ว ค่าใช้จ่ายเป็นหลักแสนวอน ทำให้สปีดเดทติ้งเป็นตัวเลือกที่สามารถจับต้องได้มากกว่า
ขณะที่ ลี ทันตนามัย วัย 34 ปี มีความเห็นทำนองเดียวกันโดยบอกว่า “ฉันอยากเดท แต่การต้องให้เวลาทั้งวันไปกับการนัดบอดเป็นภาระที่มากเกินไป สปีดเดทติ้ง คือการใช้ต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะฉันสามารถพบเจอคนหลายๆ คนโดยใช้เวลาสั้นๆ”
“การที่เพื่อนเป็นคนแนะนำคู่เดทให้ มันปฏิเสธยาก แม้ว่าจะคนที่เพื่อนแนะนำมาจะไม่น่าสนใจเลยก็ตาม แต่กับสปีดเดทติ้ง ไม่มีแม่สื่อ ไม่มีตัวกลาง ฉันเลยรู้สึกว่ากดดันน้อยกว่า” ลีกล่าว
อย่างไรก็ตาม สปีดเดทติ้งที่กำหนดเวลาพูดคุยไว้ที่ 10 นาที อาจน้อยเกินไปสำหรับการสนทนาที่เปี่ยมความหมาย และส่วนใหญ่จบลงที่การแนะนำตัวเองแบบรวดเร็ว ผู้เข้าร่วมบางคนมีความรู้สึกว่า สปีดเดทติ้ง เหมือนเป็นการจับคู่เดทแบบ ซูชิสายพาน
“คุณให้เวลากับการเลือกสรร แต่ท้ายที่สุด คุณอาจไม่รู้สึกพึงพอใจเลย แม้มีตัวเลือกมากมายเต็มไปหมด แต่ก็ไม่มีใครเลยที่คุณรู้สึกว่าน่าสนใจจริงๆ” ผู้เข้าร่วมรายหนึ่งกล่าว
ผู้เข้าร่วมสปีดเดทติ้งอีกรายซึ่งเป็นพนักงานออฟฟิศกล่าวว่า “ฉันจะไม่ไปอีกแล้ว การสนทนารู้สึกว่าผิวเผิน และฉันก็เจอแบบเดิมซ้ำๆ แม้ว่าฉันจะชอบเครื่องจักรกลก็ตาม และคู่ของฉันก็ดูเหนื่อยล้า ซึ่งสปีดเดทติ้งพรากเอาความกระตือรือล้นไปหมด”
แม้ว่า การจัดอีเวนท์นัดบอดขนาดใหญ่จะไม่ใช่เรื่องใหม่ในเกาหลีใต้ ในปี 2001 ซันวู บริษัทจัดหาคู่ เคยจัด “เทศกาลนัดพบแห่งสหัสวรรษ” มีคนโสดราว 4,000 คนเข้าร่วมงาน มีอีเวนท์ลักษณะเดียวกันนี้ในปี 2004 มีคนมาร่วม 1,200 คน และในปี 2007 ดึงดูดคนเข้าร่วมได้ 1,600 คน
“อีเวนท์การจับคู่ขนาดใหญ่มีน้อยลงเมื่อเวลาผ่านไป เพราะความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนการจัดงาน สปีดเดทติ้งยังคงได้รับความนิยม ด้วยอัตราความสำเร็จในการจับคู่ที่สูง” ลี วังจิน ซีอีโอของซันวูกล่าว
ในขณะที่เกาหลีกำลังเผชิญกับวิกฤตอัตราการเกิดที่ต่ำ ในเดือนพฤศจิกายน 2024 รัฐบาลมหานครโซล จัดงานนัดบอดชื่อ “มหัศจรรย์แห่งแม่น้ำฮัน” มีผู้เข้าร่วม 100 คน และในวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์นี้ จะมีการจัดอีเวนท์ชื่อ “มหัศจรรย์ ศิลปะยามค่ำคืน” เพื่อฉลองเทศกาลวันวาเลนไทน์ นอกจากนั้น ยังมีองค์กรพุทธศาสนาของเกาหลีใต้ที่จะเป็นเจ้าภาพจัดงานเดทประจำปีที่วัดอีกด้วย
ลี อึนฮี ศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านเศรษฐศาสตร์ผู้บริโภค มหาวิทยาลัยอินฮา ซึ่งวิเคราะห์เทรนด์ กล่าวว่า
“คนค้นข้อมูลอย่างกว้างขวาง ก่อนที่จะซื้อสินค้า คนวัยผู้ใหญ่ตอนต้นทุกวันนี้ต้องการเจอคนที่จะมาเป็นคู่เดทให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อค้นหาคนที่ดีที่สุด อีเวนท์เหล่านี้ทำให้ผู้เข้าร่วมรู้สึกว่าพวกเขาควบคุมตัวเลือกได้ เหมือนการเลือกตัวละครหลักในเรื่องของพวกเขาเอง”
ที่มา
Find your match in just 10 minutes: Speed dating gains popularity among young generation