Skip to main content

 

วงการ "เรียนพิเศษ" ของประเทศจีนเริ่มหันมาใช้ AI เพื่อติวหนังสือให้กับเด็กนักเรียน เนื่องจากราคาประหยัดกว่าการจ้างครูสอน และสามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบการสอนที่เข้มงวดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ศูนย์อ่านหนังสือและติวเตอร์เอไอ (AI) ถือเป็นเทรนด์ใหม่ที่กำลังมาแรงในวงการเรียนพิเศษซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศจีน โดยเด็กนักเรียนจะถูกจัดให้นั่งอยู่ในห้องเงียบๆ และเรียนจากหน้าจอแท็บเล็ตที่บรรจุซอฟต์แวร์ที่ถูกออกแบบมาให้ติดตามข้อผิดพลาด รวบรวมข้อผิดพลาด และปรับบทเรียนแบบเรียลไทม์ให้ตรงกับความต้องการของนักเรียนตรงหน้า โดยกระบวนการทั้งหมดนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ “ครู” แม้แต่คนเดียว

ติวเตอร์เอไอ กำลังได้รับความนิยมและขยายตัวอย่างรวดเร็วไปทั่วประเทศจีนเพื่อหลีกเลี่ยงข้อจำกัดของรัฐบาลที่ออกกำหนดเรื่องการเรียนพิเศษของเด็กชั้น ป.1 - ม.3 โดยติวเตอร์เอไอในศูนย์อ่านหนังสือที่มีจำนวนมากกว่า 50,000 แห่งทั่วประเทศได้กลายเป็นทางเลือกราคาประหยัดสำหรับนักเรียนที่ต้องการติวหนังสือ แต่การจ้างครูสอนอาจราคาสูงมากเกินไปสำหรับพวกเขา

นักเรียนที่มาติวจะได้เรียนตามแผนการเรียนรู้ ที่ได้รับการออกแบบโดยเอไอผ่านแท็บเล็ตที่บรรจุซอฟต์แวร์ซึ่งสามารถระบุและวิเคราะห์ข้อผิดพลาดของนักเรียนคนนั้นๆ อย่างแม่นยำ เพื่อจัดการและแก้ไขข้อผิดพลาดเหล่านั้น ขณะเดียวกันผู้ปกครองยังสามารถติดตามความก้าวหน้าของบุตรหลานได้ผ่านแอปพลิเคชั่น ทั้งนี้ ข้อมูลของบริษัท RUNTO บริษัทเทคโนโลยีในปักกิ่ง ชี้ว่า ปี พ.ศ. 2567 ยอดขายแท็บเล็ตในประเทศจีนพุ่งสูงถึง 1.83 ล้านเครื่อง และเพิ่มขึ้นกว่า 49.1% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

เจ้าของธุรกิจศูนย์อ่านหนังสือและติวเตอร์เอไอ ได้ออกมาเปิดเผยถึงผลกำไรจากการทำธุรกิจดังกล่าว บางคนอ้างว่าพวกเขาเปิดศูนย์อ่านหนังสือ 4 แห่งต่อปีและสร้างรายได้ให้พวกเขาเฉลี่ย 90,000 หยวนต่อเดือน (ประมาณ 420,000 บาท)

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษายังคงตั้งคำถามกับประสิทธิภาพและผลกระทบจากติวเตอร์เอไอเหล่านี้ โดย ซู่ ไห่ปิง ผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงศึกษาธิการของจีน ระบุว่า ศูนย์อ่านหนังสือและติวเตอร์เอไอถือเป็นการเรียนพิเศษรูปแบบใหม่ที่มีขนาดเล็กกว่าเดิมแต่ควบคุมได้ยากกว่าเดิม

ขณะที่ วู ฮี นักวิจัยอาวุโสของบริษัทซอฟต์แวร์เพื่อการเรียนรู้ แสดงความคิดเห็นว่า “ติวเตอร์เอไอยังขาดความสามารถด้านเอไอที่แท้จริง เพราะมันใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกตั้งข้อมูลเอาไว้ล่วงหน้าแทนการตอบโต้กับนักเรียนแบบเรียลไทม์ ซึ่งลักษณะการทำงานแบบนี้ส่งผลให้นักเรียนไปเน้นที่การสอบ ทำให้นักเรียนไม่รู้จักที่จะถามคำถามและขาดทักษะการคิดวิเคราะห์”


อ้างอิง
AI Study Rooms Are Filling China’s Tutoring Gap — For a Price
AI study rooms redefine education in China
China's AI self-study rooms gain attention, spark mixed reactions