Skip to main content

 

งานวิจัยชิ้นใหม่ในแคนาดา พบหลักฐานเพิ่มเติมที่ตอกย้ำถึงความเกี่ยวข้องระหว่าง “การเสพกัญชา” กับอาการผิดปรกติทางจิต โดยเฉพาะในกลุ่มคนวัยผู้ใหญ่ตอนต้นที่สมองและระบบประสาทยังไม่พัฒนาเต็มที่

งานวิจัยพบว่า สัดส่วนของผู้ป่วยจิตเภทที่มีสาเหตุเกี่ยวเนื่องกับการใช้กัญชา เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 3 เท่าตัวในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยปริมาณการใช้ค่อยๆ เพิ่มขึ้นภายหลังมีการอนุญาตให้นำกัญชาไปใช้ในทางการแพทย์ได้ และในเวลาต่อมา มีการอนุญาตให้ใช้เพื่อการสันทนาการ

งานวิจัยชิ้นใหม่นี้ พิจารณาข้อมูลจากบันทึกทางการแพทย์มากกว่า 13.5 ล้านรายการของคนไข้ที่อายุระหว่าง 14 ถึง 65 ปีในรัฐออนแทริโอ ประเทศแคนาดา ช่วงระหว่างปี 2006 ถึง 2022 โดยพบหลักฐานเพิ่มเติมว่า การใช้กัญชาอย่างหนัก นำไปสู่อาการจิตเภทและความผิดปรกติทางจิต

นักวิจัยกล่าวว่า สัดส่วนของผู้ป่วยจิตเภทรายใหม่ที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้กัญชาในออนแทริโอ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 ก่อนหน้าที่กัญชาจะถูกกฎหมาย และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10.3 หลังปี 2018 เมื่อกฎหมายอนุญาตให้ใช้กัญชานอกเหนือจากทางการแพทย์ได้

ในขณะที่อัตราการของเกิดโรคทางจิตเวชคงที่ตลอดช่วงที่ผ่านมา โดยไม่มีการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยอย่างกว้างขวาง เมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้าที่กัญชาจะถูกกฎหมาย

นักวิจัยระบุว่า ในกลุ่มผู้ชายอายุน้อยในออนแทริโอ พบว่า มีผู้ป่วยด้วยอาการจิตเภทเพิ่มสูงขึ้น โดยราวร้อยละ 19 ของผู้ป่วยรายใหม่ มีอายุระหว่าง 19 ถึง 24 ปี ซึ่งพบว่ามีการใช้กัญชาในปริมาณที่มาก

“สิ่งสำคัญที่เรากำลังพิจารณาคือ การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ที่ถูกวินิจฉัยว่ามีอาการจิตเภท ซึ่งได้รับการบำบัดจากการใช้กัญชาเกินขนาดก่อนที่พวกเขาจะได้รับการวินิจฉัย” แดเนียล ไมแรน ประธานการวิจัย คณะเวชศาสตร์ครอบครัว มหาวิทยาลัยออตโตวา กล่าว

มีงานศึกษาซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร JAMA  Psychiatry เมื่อปี 2021 ที่ศึกษาคนจำนวน 7 ล้านคนที่เกิดก่อนปี 2001 ในยุโรป พบว่า สัดส่วนของผู้ป่วยจิตเภทเชื่อมโยงกับการใช้กัญชาเกินขนาด โดยเพิ่มขึ้น 3 ถึง 4 เท่าจากสองทศวรรษที่แล้ว

การศึกษาในปี 2019 จาก 11 พื้นที่ทั่วยุโรป พบด้วยว่า การใช้กัญชาทุกวัน โดยเฉพาะในปริมาณมาก เชื่อมโยงไปสู่พัฒนาการของความผิดปรกติทางจิต

มาร์ทา ดิ ฟอร์ติ ศาสตราจารย์ด้านยา พันธุกรรม และโรคจิตเภท มหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจ ลอนดอน หัวหน้าทีมวิจัยของการศึกษาปี 2019 ซึ่งเคยพบผู้ป่วยหลายรายที่ใช้กัญชาอย่างหนัก และนำไปสู่อาการทางจิต กล่าวว่า งานวิจัยของนักวิจัยชาวแคนาดาเป็นความพิเศษ และตรงไปตรงมา

อย่างไรก็ดี การศึกษานี้ยังมีข้อจำกัด รวมถึงการที่นักวิจัยไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับพันธุกรรม รวมถึงประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก และปัจจัยที่มีศักยภาพอื่นๆ ซึ่งจะส่งผลต่ออาการจิตเภท

ในข้อคิดเห็นต่องานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ควบคู่ไปกับการศึกษานี้ โจดี กิลแมน รองศาสตราจารย์ด้านจิตเวช โรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ด ระบุว่า การค้นพบนี้ 

“สนับสนุนหลักฐานที่ว่า การใช้กัญชามีส่วนต่อความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคจิตเวชที่เพิ่มมากขึ้น และเผยว่าการเสพกัญชากับการเกิดอาการทางจิตเวช ส่วนใหญ่มีผลรุนแรงกับคนในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ซึ่งเปราะบางต่อกัญชาที่จะส่งกระทบกับพัฒนาการทั้งระบบประสาท และการนำไปสู่อาการทางจิตเวช”

รองศาสตราจารย์โจดีกล่าวว่า ทั้งนี้ งานวิจัยไม่ควรถูกนำไปลดทอนความสามารถของกัญชาที่จะนำมาใช้ในทางการแพทย์ภายใต้สภาวะที่มีการควบคุม แต่หากประเทศต่างๆ ทำให้กัญชาถูกกฎหมาย ก็จำเป็นต้องจัดเตรียมการดูแลประชาชนที่ป่วยเป็นโรคจิตเวช หรืออาการเสพติดกัญชาด้วย 

ซึ่งข้อค้นพบจากงานวิจัยของรองศาสตราจารย์โจดี เผยว่า

“มีต้นทุนมหึมาที่ต้องแบกรับสำหรับบริการสาธารณสุขด้านสุขภาพจิต ต้นทุนที่มหึมาของครอบครัวและสังคม และต้นทุนที่มหึมาสำหรับคนหนุ่มสาว”

“ผมคิดว่า การศึกษานี้เป็นการเตือนว่า นี่ไม่ใช่ความปลอดภัยที่ไม่จำเป็น หรือไม่เป็นไรหรอกนะทุกคน โดยเฉพาะคนอายุน้อยที่สมองยังพัฒนาไม่เต็มที่ เพราะมีความเกี่ยวข้องที่หนักแน่นมากระหว่างการใช้กัญชากับความผิดปรกติทางจิต และโรคจิตเภท” แดเนียลกล่าว


ที่มา
New schizophrenia cases linked to heavy cannabis use have tripled, particularly in young men