วันที่ 15 มิ.ย. ที่รัฐสภา พรรคร่วมฝ่ายค้าน ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคพลังปวงชนไทย พรรคเพื่อชาติ และพรรคไทยศรีวิไลย์ นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นรายบุคคล ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร
โดยประธานสภาฯ กล่าวว่า จะรับญัตตินี้ไปพิจารณาภายใน 7 วัน ซึ่งต้องตรวจสอบว่าว่าญัตติมีความถูกต้องหรือไม่ โดยทั่วไปจะมีปัญหาเรื่องลายเซ็นไม่ตรงกัน ทั้งนี้ เราอภิปรายไม่ไว้วางใจกันมาทุกปี ประสบการณ์ทุกฝ่ายทราบดีว่าต้องเตรียมตัวอย่างไร คาดว่าจะใช้เวลาอีก 2 - 3 สัปดาห์ เนื่องจากเดือน มิ.ย. และเดือน ก.ค. มีร่างกฎหมายที่ต้องพิจารณาอีกมาก และจะต้องหารือกับรัฐบาลว่ามีความพร้อมช่วงเวลาใด
ด้าน นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ส.ส.ฝ่ายค้าน 7 พรรค ร่วมกันเข้าชื่อตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของส.ส.ที่มีอยู่ ทั้งหมด 182 รายชื่อ เพื่อขอยื่นญัตติอภิปรายรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล จำนวน 11 คน คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม, จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์, อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย, ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม, ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, จุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง, นิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย และสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า เด็ดหัวนายกฯ และนั่งร้านทั้ง 10 เราใช้ข้อกล่าวหาเป็นรายบุคคลอยู่แล้ว ในส่วนของพล.อ.ประยุทธ์ มีข้อกล่าวหาว่า ผิดพลาดบกพร่องล้มเหลวการบริหารราชการแผ่นดิน จงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ กฎหมาย มาตรฐานจริยธรรม ปล่อยปละละเลยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เอื้อประโยชน์พวกพ้อง ไม่ปฏิบัติตามคำแถลงนโยบายรัฐบาล มีพฤติกรรมที่ปล่อยให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และทำลายผู้เห็นต่าง ปล่อยปละละเลยให้มีการทำลายประชาธิปไตยระบบรัฐสภา มีภาวะผู้นำที่พิการทางสมอง แม้ว่าจะแรงพอสมควร แต่เป็นเรื่องของลักษณะความรู้ความสามารถ
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ส่วนข้อกล่าวหาของจุรินทร์ เน้นเรื่องความไม่ซื่อสัตย์สุจริต เอื้อประโยชน์ให้มีการทุจริตต่อพวกพ้อง, อนุทิน ข้อกล่าวหาสำคัญคือการบริหารราชการแผ่นดินล้มเหลวผิดพลาดบกพร่อง สนับสนุนหรือทำให้เกิดกระบวนการทำลายการปกครองระบบรัฐสภา มีการใช้เงินให้ได้มาซึ่งอำนาจ, พล.อ.ประวิตร จงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ เอื้อประโยชน์สนับสนุนให้มีการแสวงหาผลประโยชน์, พล.อ.อนุพงษ์ ข้อกล่าวหาคือไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ บริหารราชการแผ่นดินผิดพลาดล้มเหลว เอื้อประโยชน์ สนับสนุนให้มีทุจริต, ศักดิ์สยาม ข้อกล่าวหาคือไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต ใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์, ชัยวุฒิ บริหารราชการผิดพลาดบกพร่องร้ายแรง ทำให้เกิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงขาดมาตรฐานจริยธรรม ประพฤติปฏิบัติมิชอบ ในทางเสื่อมเสียศีลธรรมอันดี, จุติ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ล้มเหลวไร้ความรู้ความสามารถในการบริหารราชการแผ่นดิน และสุชาติ ข้อกล่าวหาคือไม่มีความซื่อสัตย์ เอื้อประโยชน์ แสวงหาประโยชน์ในหน้าที่
นพ.ชลน่าน กล่าวด้วยว่า สำหรับช่วงเวลาการอภิปรายการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับ และร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ น่าจะพิจารณาแล้วเสร็จไม่เกินวันที่ 24 มิ.ย.นี้ หรืออย่างช้าไม่ควรเกินวันที่ 1 ก.ค. ดังนั้น การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล น่าจะมีขึ้นตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. ทั้งนี้ การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านมา พรรคฝ่ายค้านอภิปรายรัฐมนตรีจำนวนน้อยกว่าการขอเปิดอภิปรายครั้งนี้ ยังใช้เวลาการอภิปรายถึง 4 วัน ฉะนั้น ครั้งนี้น่าจะใช้เวลามากกว่าครั้งที่ผ่านมา
“การอภิปรายครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายของรัฐบาลนี้ก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นแน่นอน อย่างช้าที่สุดไม่เกิน 23 มี.ค.2566 แต่เรามั่นใจจะมีการเลือกตั้งเร็วกว่านั้น การอภิปรายครั้งนี้ตั้งวัตถุประสงค์ไว้ 2 อย่าง คือ อาศัยมือในสภาเด็ดหัว สอยนั่งร้าน มั่นใจว่ามีเสียงพอในการโหวตไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี และคาดหวังว่าในสนามเลือกตั้ง เราจะตรวจสอบนั่งร้านเพื่อให้ประชาชนชี้ขาดวินิจฉัย เรามั่นใจในศรัทธาของประชาชน ถ้าไม่ตายในสภาก็ไปตายในการเลือกตั้ง” นพ.ชลน่าน กล่าว