Skip to main content

เมื่อเวลา 12.45 น. วันที่ 9 มิ.ย. ที่รัฐสภา พรรคร่วมฝ่ายค้าน 6 พรรค ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ และพรรคพลังปวงชนไทย นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน แถลงว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านมีมติร่วมกันว่าจะยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นรายบุคคล ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 ในเวลา 10.00 น. วันที่ 15 มิ.ย.นี้ โดยกำหนดการอภิปรายครั้งนี้ว่าเป็นยุทธการ 'เด็ดหัว สอยนั่งร้าน' ดังนั้น จะเป็นการอภิปรายเด็ดหัวนายกรัฐมนตรี และครม. เป็นรายบุคคล ในประเด็นข้อกล่าวหาเกี่ยวกับความผิดพลาดล้มเหลวการบริหารราชการแผ่นดิน จงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญและมาตรฐานจริยธรรม ส่อทุจริตเอื้อประโยชน์ ไม่ปฏิบัติตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาหรือเรื่องที่ฝ่ายค้านเคยอภิปรายทักท้วงไว้ การละเมิดสิทธิมนุษยชน และทำลายระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา ซึ่งในกรอบ 6 เรื่องนี้ เรามั่นใจในข้อมูลจาก 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน บวกกับพรรคไทยศรีวิไลย์ที่จะมาร่วมอภิปรายด้วย 

 เมื่อถามว่า การอภิปรายครั้งนี้จะส่งผลให้ล้มรัฐบาลได้หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า พิจารณาจากข้อกล่าวหาในประเด็นทุจริตทำผิดกฎหมายเรามั่นใจ เพราะเป็นข้อกล่าวหาที่ชี้ชัดลงไป เรามีใบเสร็จทางการเมืองที่จะชี้ให้เห็นจึงมีความมั่นใจ โดยเฉพาะรัฐมนตรีที่ทำผิดต่อกฎหมาย ส่วนนายกฯ จะเป็นผลพวงจากหน้าที่ที่ท่านกำกับดูแล ยืนยันว่า เสียงของฝ่ายค้านเหนียวแน่น แม้ว่าอาจแปรปรวนไปบ้างจากการลงมติที่ผ่านมา แต่เราไม่เคยนับคนกลุ่มนั้นว่าอยู่ในกลุ่มฝ่ายค้านอยู่แล้ว 
 เมื่อถามว่า การจะล้มรัฐบาลได้จะต้องมีพลังที่ไม่ใช่จากพรรคฝ่ายค้านอย่างเดียวใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เราต้องมีสมาชิก และพรรคที่เห็นพ้องกับเรา ว่าข้อกล่าวหาที่เราตั้งเป็นสิ่งที่เขายอมรับ และไว้วางใจไม่ได้ ซึ่งเป็นเอกสิทธิ์ที่เขาจะตัดสินใจ

เมื่อถามว่า วุฒิสภาจะยื่นเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ จะเป็นการฟอกขาวรัฐบาลหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ต้องดูเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า ส.ว.เข้าชื่อยื่นได้ แต่เป็นการให้ ครม. มาแถลงข้อเท็จจริง หรือชี้แจงปัญหาสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ถือเป็นการทำหน้าที่ตรวจสอบควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ถ้านอกเหนือจากนี้ก็อาจเข้าข่ายฟอกขาวได้ ทั้งนี้ เราต้องเฝ้าดูเนื้อหาสาระในญัตติของ ส.ว. เพราะตามรัฐธรรมนูญเขามีสิทธิยื่นได้ พร้อมกับดูพฤติกรรมในการอภิปราย ถ้าไม่ใช่ข้อเท็จจริง แต่มาแถลงผลงานหรือมาตอบผลสัมฤทธิ์ ก็เข้าข่ายว่าน่าจะไม่ชอบตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ แต่ใช้วุฒิสภาในการฟอกขาว ซึ่งประชาชนจะจับตาดู

เมื่อถามว่า จะเป็นการอภิปราย ครม. ทั้งหมดกี่คน สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน กล่าวว่า 1 หัวมี 1 คน ส่วนนั่งร้านมาจาก 3 พรรค คือ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)  และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) รวมนั่งร้าน 9 คน รวมกับหัวด้วยก็เป็น 10 คน ซึ่ง 3 ป.โดนครบทุกคน เพราะเป็นเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ ขณะที่กรอบระยะเวลาการอภิปราย คาดว่าจะใช้เวลามากกว่า 4 วัน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รัฐมนตรีที่จะถูกยื่นอภิปรายทั้ง 10 คน ประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ 6 คน ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย, สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน, ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง พรรคประชาธิปัตย์ 2 คน ได้แก่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ และเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ และพรรคภูมิใจไทย 2 คน ได้แก่ อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข และศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ส่วนใครจะถูกอภิปรายเรื่องใดนั้นยังไม่มีความชัดเจน เพราะเป็นการเสนอชื่อมาจากแต่ละพรรค ซึ่งแต่ละพรรคยังไม่บอกข้อกล่าวหาของแต่ละคน ส่วนสาเหตุที่อภิปรายรัฐมนตรีมากถึง 10 คน เพราะครั้งนี้ถือเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้าย และที่ใช้ชื่อยุทธการว่า 'เด็ดหัว นั่งร้าน' เพราะมุ่งอภิปรายไปที่หัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรค ของพรรคที่เป็นแกนนำในซีกรัฐบาลเป็นหลัก