วันนี้ สหรัฐอเมริกาจะเริ่มต้นการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงกับไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อกระชับความเป็นหุ้นส่วนในภูมิภาคให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นและตอกย้ำบทบาทที่สำคัญยิ่งของอาเซียนในการสร้างสันติภาพและความมั่งคั่งของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากสหรัฐฯ และไทย จะพบกันที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในวันที่ 9-10 พฤษภาคม เพื่อเข้าร่วมการหารือยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศระหว่างสหรัฐฯ กับไทย (U.S.-Thailand Strategic and Defense Dialogue) เป็นครั้งแรก โดยมีแดเนียล คริเทนบริงค์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก และอีไล แรตเนอร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายสหรัฐฯ ในขณะที่ธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศไทย และพลเอก วรเกียรติ รัตนานนท์ ปลัดกระทรวงกลาโหมไทย เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย
การหารือยุทธศาสตร์และการหารือด้านการป้องกันประเทศเป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไทยที่มีมายาวนาน ซึ่งการประชุมในปีนี้ถือเป็นการหารือร่วมกันและพบกันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดโรคระบาดใหญ่ขึ้นทั่วโลก การหารือในปีนี้จะครอบคลุมความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและความร่วมมือในหลากหลายด้านระหว่างสหรัฐฯ กับไทย นอกเหนือจากความร่วมมือที่กว้างขวางและหยั่งรากลึกของเราเพื่อรับมือกับความท้าทายนานัปการที่โลกกำลังเผชิญ ซึ่งรวมถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความมั่งคั่งหลังยุคโควิด-19 ความร่วมมือด้านสาธารณสุขและการบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนความพยายามในการต่อสู้กับวิกฤตการณ์ด้านสภาพภูมิอากาศ เราจะหารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันที่แข็งแกร่งในฐานะที่สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดและหนึ่งในแหล่งลงทุนจากต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของไทย แม้ต้องเผชิญกับความท้าทายในระดับภูมิภาคและระดับโลก สหรัฐฯ และไทย จะยืนยันการเป็นพันธมิตรในสนธิสัญญาและการเป็นหุ้นส่วนอันยาวนานระหว่างเรา ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนความร่วมมือในการจัดการความท้าทายและการบรรลุเป้าหมายที่มีร่วมกันต่อไป
หลังเสร็จสิ้นการหารือยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศระหว่างสหรัฐฯ กับไทย จะมีการประชุมสุดยอดสหรัฐฯ-อาเซียน สมัยพิเศษ (U.S.-ASEAN Special Summit) โดยประธานาธิบดีไบเดนจะเป็นเจ้าภาพต้อนรับผู้นำประเทศอาเซียน ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ระหว่างวันที่ 12-13 พฤษภาคม การประชุมสุดยอดแบบพบกันครั้งนี้จะเน้นย้ำความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ของรัฐบาลประธานาธิบดีไบเดนต่ออาเซียนและบทบาทสำคัญของอาเซียนในการหาทางออกที่ยั่งยืนเพื่อรับมือความท้าทายเร่งด่วนสูงสุดของภูมิภาค
การประชุมสมัยพิเศษครั้งนี้จะต่อยอดจากเมื่อครั้งที่ประธานาธิบดีไบเดนได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดสหรัฐฯ-อาเซียน เดือนตุลาคม 2564 ซึ่งจัดขึ้นทางออนไลน์ โดยในการประชุมดังกล่าว ประธานาธิบดีไบเดนได้ประกาศข้อริเริ่มใหม่ ๆ มูลค่า 102 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อขยายความร่วมมือของเรากับอาเซียนในด้านการฟื้นตัวจากโรคโควิด-19 และความมั่นคงด้านสุขภาพ ตลอดจนการต่อสู้วิกฤตการณ์ด้านสภาพภูมิอากาศ การกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในวงกว้าง การส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ และการสานสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของเราให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
เป้าหมายสำคัญอันดับต้น ๆ ของรัฐบาลประธานาธิบดีไบเดนและรองประธานาธิบดีแฮร์ริส คือการเป็นหุ้นส่วนที่มั่นคงและพึ่งพาได้ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อปี 2564 สหรัฐฯ ได้ประกาศยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ซึ่งกำหนดกรอบวิสัยทัศน์เชิงนโยบายการต่างประเทศและความมุ่งมั่นที่ประธานาธิบดีไบเดนมีต่อความร่วมมือที่ยั่งยืนและสร้างสรรค์กับพันธมิตร หุ้นส่วน และหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและนอกภูมิภาค