Skip to main content


ในวันที่ 19 มี.ค. อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต ไมเคิล ฮีธ พบกับแม่ของนักเคลื่อนไหว 3 คนที่กำลังถูกคุมขังอยู่ในขณะนี้ โดยเป็นการพบปะกันตามคำขอ ซึ่งได้แสดงความเป็นกังวลเกี่ยวกับลูกๆ 

อุปทูตฮีธ และเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ คนอื่นๆ ได้พบปะกับชาวไทยในหลากหลายภาคส่วนอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาล เจ้าหน้าที่ทหาร นักธุรกิจ นักวิชาการ หรือผู้นำเยาวชน ทั้งนี้เพื่อให้ทราบถึงเป้าหมาย ความกังวล และประเด็นที่ชาวไทยให้ความสำคัญ การพบปะกันเช่นนี้สะท้อนถึงงานหลักของเจ้าหน้าที่การทูต อันได้แก่ การแสวงหาความเข้าใจเกี่ยวกับมุมมองที่กว้างขวางในด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การเมือง และอื่นๆ ของพลเมืองในประเทศที่ประจำการอยู่

 

แถลงการณ์สถานทูตสหรัฐฯ เรื่องอุปทูตพบ 3 แม่นักกิจกรรม

การพบกันระหว่างอุปทูตสหรัฐฯ กับ 3 แม่นักกิจกรรมนั้นเกิดจากคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หรือ ครช. ที่นำโดย รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วยเครือข่าย และแม่ของนักกิจกรรมทางการเมือง คือ สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ แม่ของเพนกวิน, และพริ้ม บุญภัทรรักษา แม่ของไผ่ เข้าพบและยื่นหนังสือต่ออุปทูตรักษาราชการสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

โดยเนื้อหาในหนังสือฉบับที่ยื่นไปนั้น พูดถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเลวร้ายลงต่อเนื่องหลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น เพราะนอกจากเป็นการแปลงโฉมคณะรัฐประหารผ่านกติกาที่บิดเบี้ยวและวิธีการฉ้อฉล ยังเป็นเงื่อนไขให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางผ่านหน่วยงานรัฐ กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

โดยเฉพาะการชุมนุมที่นำโดยนักศึกษาปี 2563 ที่ผ่านมามีการขัดขวางและสลายการชุมนุมอย่างผิดหลักการและขั้นตอนสากล มีการใช้กำลังไม่ได้สัดส่วนกับการชุมนุม มีการขู่คุกคามผู้ชุมนุมทั้งในสถานศึกษาและที่พักอาศัย รวมถึงมีการตั้งข้อหาและดำเนินคดีแกนนำและผู้ชุมนุมด้วยกฎหมายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, ม.116, และโดยเฉพาะ ม.112 หลังเว้นระยะการใช้มาประมาณ 2 ปี

จากรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ปลายเดือน พ.ย.2563 ถึงกลางเดือน มี.ค. 2564 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเองในข้อหา ม.112 อย่างน้อย 73 คนใน63 คดี มีจำนวนผู้ถูกจับกุม 18 คน มีเพียง 6 คนที่ได้รับสิทธิประกันตัว ส่วนอีก 12 คนไม่ได้รับสิทธิประกันตัว และการปฏิเสธคำขอปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหา โดยอ้างเหตุผลว่าผู้ต้องหาจะไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกันถือว่าขัดหลักการพื้นฐานทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทั้งในระดับสากลและที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญที่ว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด เพราะเป็นการตัดสินล่วงหน้าว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดทั้งที่กระบวนการไต่สวนพิจารณาคดียังไม่เริ่ม

เครือข่ายนักวิชาการ นักศึกษา ประชาชน รวมถึงผู้ต้องหาและญาติ จึงเดินทางมายังสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เพื่อให้สหรัฐฯ ในฐานะประเทศที่ส่งเสริมประชาธิปไตยปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมถึงผดุงไว้ซึ่งหลักนิติรัฐและนิติธรรม ได้ตระหนักในสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยเฉพาะที่เกิดขึ้นภายใต้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมและสื่อสารไปยังรัฐบาลไทยให้ยุติการกระทำดังกล่าว