Skip to main content

สรุป

  • รัฐบาลสหรัฐฯ ออกเอกสารชี้แจงว่า ให้การช่วยเหลือไทยในการรับมือโควิดแล้วกว่า 933 ล้านบาท ผ่านการบริจาคเป็นอุปกรณ์ป้องกันให้กับแพทย์และพยาบาลไทย 
  • ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ มอบความช่วยเหลือกว่า 404 ล้านบาท โดยทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขไทย
  • ร่วมพัฒนาแอปพลิเคชัน 'พ้นภัย' สำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่เพื่อช่วยให้ประชาชนที่ต้องกักตัวอยู่ใน 69 จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศไทยได้รับการแจกจ่ายชุดยังชีพ188,203 ชุด พร้อมทั้งน้ำดื่ม (มูลค่าเกือบ 4 ล้านเหรียญ หรือราว 124 ล้านบาท) ได้โดยตรงและรวดเร็ว
  • องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ช่วยไทยยืนยันผู้ป่วยโควิด-19 รายแรกที่เดินทางมาจากต่างประเทศเมื่อเดือน ม.ค. 2563

รัฐบาลสหรัฐฯ ออกเอกสารร่ายยาวข้อเท็จจริง ว่าสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนไทยในการต่อสู้โควิด-19 มาโดยตลอด เริ่มจากเมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลสหรัญฯ ประกาศแบ่งวัคซีนโควิดจำนวน 80 ล้านโดสให้ทั่วโลกภายในเดือน มิ.ย.นี้ และในแผนส่งมอบวัคซีน 25 ล้านโดสแรกจะมีวัคซีนจำนวน 7 ล้านโดสที่มอบให้กับประเทศต่างๆ ในเอเชีย รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยเพิ่มเติมจากความช่วยเหลือมูลค่า 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ ราว 124,496 ล้านบาทที่สหรัฐฯ ได้ประกาศว่าจะมอบให้กับโครงการโคแว็กซ์

อีกทั้งรัฐบาลสหรัฐฯ ยังมอบความช่วยเหลือให้ไทยเพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 รวมมูลค่า 30 ล้านเหรียญ (933 ล้านบาท) โดยในจำนวนนี้เป็นการบริจาคเครื่องช่วยหายใจ หน้ากากอนามัย แว่นตานิรภัย และอุปกรณ์ป้องกันรวมมูลค่า 17.5 ล้านเหรียญ (544 ล้านบาท) ให้กับแพทย์และพยาบาลไทย รวมทั้งความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยในค่ายตามแนวชายแดน ขณะที่ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ (U.S. CDC) ได้มอบความช่วยเหลือเพิ่มเติมมูลค่า 13 ล้านเหรียญ (404 ล้านบาท) โดยทำงานเคียงบ่าเคียงไหลกับกระทรวงสาธารณสุขของไทย

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการตอบโต้โรคโควิด-19 ของไทยในทุกระดับ

การตรวจหาการติดเชื้อ: องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ตลอดจน U.S. CDC และกองทัพสหรัฐฯ ได้ช่วยเหลือรัฐบาลไทยในการเสริมสร้างศักยภาพการตรวจวินิจฉัย โดย USAID ช่วยไทยยืนยันผู้ป่วยโควิด-19 รายแรกที่เดินทางมาจากต่างประเทศเมื่อเดือน ม.ค. 2563

การเฝ้าระวังชายแดน: U.S. CDC พัฒนาศักยภาพโครงการเฝ้าระวังในค่ายอพยพ 9 แห่งตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา โดยได้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในตัวอย่างส่งตรวจไปแล้วกว่า 1,500 ตัวอย่าง และตรวจพบการระบาด 3 แห่ง ซึ่งช่วยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในค่ายตระหนักถึงสถานการณ์การระบาดได้โดยเร็วและป้องกันการแพร่กระจายของโรคในสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงสูง

การรักษา: USAID สนับสนุนการให้คำปรึกษาทางออนไลน์และมอบเครื่องวัดออกซิเจนในเลือดเพื่อช่วยให้กลุ่มประชากรหลักที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองและเข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้น โดยรวมไปถึงกลุ่มผู้อพยพ

การพัฒนาวัคซีนและยา: นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหารของสหรัฐฯ กำลังร่วมมือกับภาคีชาวไทยศึกษาวิจัยวัคซีนในประเทศเพื่อเร่งรัดความพยายามในการปกป้องคนไทยในอนาคต 

การบริจาคชุด PPE: รัฐบาลสหรัฐฯ ได้บริจาคเครื่องช่วยหายใจ หน้ากากช่วยหายใจ หน้ากากอนามัย แว่นตานิรภัย และอุปกรณ์ป้องกันรวมมูลค่า 17.5 ล้านเหรียญให้กับแพทย์และพยาบาลไทย รวมทั้งมอบความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยในค่ายตามแนวชายแดน

โครงการให้ความรู้กับผู้อพยพ: U.S. CDC และ USAID ดำเนินกิจกรรมกับชุมชนผู้อพยพ โดยให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการรักษาความสะอาดเพื่อยุติหรือลดการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 แก่ผู้อพยพและประชากรกลุ่มเปราะบางจำนวนกว่า 117,601 คน

การช่วยเหลือผู้กักตัว: USAID ร่วมพัฒนาแอปพลิเคชัน 'พ้นภัย' สำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่เพื่อช่วยให้ประชาชนที่ต้องกักตัวอยู่ใน 69 จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศไทยได้รับการแจกจ่ายชุดยังชีพ188,203 ชุด พร้อมทั้งน้ำดื่ม (มูลค่าเกือบ 4 ล้านเหรียญ หรือราว 124 ล้านบาท) ได้โดยตรงและรวดเร็ว

การวิจัย: ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ สหรัฐฯ ในประเทศไทย ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขของไทยศึกษาวิจัยโครงการการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อประเมินความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติตนในการฉีดวัคซีนในกลุ่มประชากรหลัก