สรุป
-
ผู้ใช้สื่อโซเชียลหลายรายแชร์ลิงก์ข้อมูลกรมสุขภาพจิตของไทย ที่ระบุว่าการมีความคิด ‘หมกมุ่นผิดปกติ’ เฉพาะเจาะจงกับราชวงศ์ เป็นอาการของผู้ป่วยจิตเวช
-
มีผู้ตั้งคำถามว่ามีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์รองรับหรือไม่ เพราะอาการดังกล่าวถูกระบุในลิงก์กรมสุขภาพจิตว่าเป็นอาการป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง
-
โฆษกกรมสุขภาพจิต ชี้แจงว่าปีที่ผ่านมา ทำงานร่วมกับหลายฝ่าย มีการขอให้ปรับแก้เอกสารเพื่อให้มีการเก็บข้อมูลเพิ่มเติมจริง แต่ยกเลิกการเก็บข้อมูลดังกล่าวไปแล้ว เพราะเห็นว่าละเมิดสิทธิ แต่ที่เห็นในสื่ออาจจะเป็นเอกสารตกค้าง
-
ขณะเดียวกัน สำนักข่าว CNA ของสิงคโปร์รายงานด้วยว่า ไทยเป็นประเทศที่สถิติฆ่าตัวตายสูงสุดเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมด
-
โฆษกกรมสุขภาพจิตระบุ ตัวเลขในสื่อนอกเป็นการคาดประมาณโดยองค์การอนามัยโลก ซึ่งไม่ได้ขอข้อมูลทางการไทย แต่ถ้าอ้างอิงข้อมูลใบมรณบัตรของไทย สถิติฆ่าตัวตายจะอยู่ที่ 7.35 คนต่อ 100,000 ประชากร
เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2564 มีผู้ใช้เฟซบุ๊กหลายรายแชร์ลิงก์ของกรมสุขภาพจิตเรื่อง ‘ระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง’ ซึ่งระบุถึงผู้ป่วยจิตเวชรหัส SMI-V5 ว่าเป็น “ผู้มีอาการหลงผิด มีความคิดหมกมุ่นผิดปกติที่เกี่ยวข้องแบบเฉพาะเจาะจงกับราชวงศ์”
ผู้ใช้เฟซบุ๊กจำนวนหนึ่งตั้งคำถามว่ามีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ใดที่บ่งชี้ว่าอาการดังกล่าวคืออาการป่วยจิตเวชจริงหรือไม่ เพราะเกรงว่าอาจเป็นการบิดเบือนวิทยาศาสตร์เพื่อรับใช้เป้าหมายทางการเมือง และช่วงสายของวันที่ 18 มี.ค.2564 ลิงก์เชื่อมไปยังหน้าเพจของกรมสุขภาพจิตไม่สามารถเข้าถึงได้ โดยข้อความที่แสดงในลิงก์เดิมบ่งชี้ว่า "ไม่พบเอกสารที่ระบุ"
วันเดียวกัน Channel News Asia (CNA) สื่อสิงคโปร์ เผยแพร่รายงานพิเศษ With Southeast Asia's highest suicide rate, Thailand grapples with mental health challenge amid pandemic โดยระบุว่าไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านสุขภาพจิตในช่วงที่เกิดโรคระบาด เพราะไทยมีสถิติผู้ฆ่าตัวตายสูงที่สุดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คิดเป็น 14.4 รายต่อ 100,000 ประชากร ซึ่งอ้างอิงตัวเลขที่จัดทำโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) และรวบรวมข้อมูลล่าสุดเมื่อปี 2562
The Opener ได้สัมภาษณ์เพิ่มเติม นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต เพื่อขอทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสองประเด็นดังกล่าว
::: คู่มือคัดกรองผู้ป่วยหมกมุ่นราชวงศ์ ‘เอกสารตกค้าง’ สั่งยกเลิกตั้งแต่ ต.ค.2563 :::
นพ.วรตม์ ชี้แจงว่า เอกสารที่มี 5 ข้อ ได้ถูกส่งไปแก้แล้วเมื่อหลายเดือนก่อน โดยมีการทำหนังสืออย่างเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้ยกเลิกข้อ 5 ว่าด้วยผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งระบุในเอกสารดังกล่าว พร้อมยืนยันว่ามีการขอให้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้จริง แต่กรมสุขภาพจิตไม่ได้ให้ไป
“เราประเมินแล้วว่ามีการละเมิดสิทธิ ก็มีการทำหนังสือไปขอยกเลิกข้อ 5 เรียบร้อยแล้ว เพราะว่าปีที่แล้ว มีการร้องขอที่เกิดจากการทำงานร่วมกับหลายฝ่าย มีการเรียกข้อมูลในส่วนนี้ ซึ่งเราไม่มีให้ ก็เลยมีการปรับเพื่อให้มีการเก็บข้อมูลได้ แต่เมื่อเก็บไปได้สักช่วงเดียวเท่านั้นเอง เรารู้สึกว่าการเก็บรูปแบบนี้อาจจะละเมิดสิทธิ ก็เลยทำเรื่องยกเลิกไปแล้ว เพียงแต่เอกสารนี้ยังเป็นเอกสารที่คงค้างอยู่”
พร้อมกันนี้ นพ.วรตม์ได้เปิดเผยหนังสือราชการลงวันที่ 27 ต.ค.2563 จากกองยุทธศาสตร์และแผนงาน ศูนย์มาตรฐานรหัสด้านสุขภาพ ส่งถึงผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมสุขภาพจิต เลขที่ สธ.0209.11 ซึ่งระบุวันรับเอกสาร 1 พ.ย.2563 เรื่อง แจ้งยกเลิกรหัสการคัดกรองผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) (แฟ้ม Special PP)
เนื้อหาในเอกสารดังกล่าวระบุว่า:
“ตามหนังสือสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมสุขภาพจิต ที่ สธ 0848/725 ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2563 เรื่อง ขอยกเลิกรหัสการคัดกรองผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) (แฟ้ม Special PP) ตามโครงสร้างมาตรฐานข้อมูลด้านสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 1 รหัส คือ 1B034 การคัดกรองผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูง พบมีอาการหลงผิด มีความคิดหมกมุ่นผิดปกติที่เกี่ยวข้องแบบเฉพาะเจาะจงกับราชวงศ์ จนเกิดพฤติกรรมวุ่นวาย รบกวนในงานพิธีสำคัญ นั้น
กองยุทธศาสตร์และแผนงาน ศูนย์มาตรฐานรหัสด้านสุขภาพ ได้ดำเนินการยกเลิกรหัสการคัดกรองผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) (แฟ้ม Special PP) จำนวน 1 รหัส คือ รหัส 1B034 "การคัดกรองผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูง พบมีอาการหลงผิด มีความคิดหมกมุ่นผิดปกติที่เกี่ยวข้องแบบเฉพาะเจาะจงกับราชวงศ์ จนเกิดพฤติกรรมวุ่นวาย รบกวนในงานพิธีสำคัญ" ดังกล่าว เสร็จเรียบร้อยแล้ว”
::: ไทยยืนหนึ่ง สถิติฆ่าตัวตายสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ :::
กรณีสื่อสิงคโปร์รายงานว่าไทยเป็นประเทศที่มีสถิติผู้ฆ่าตัวตายสูงถึง 14.4 คนต่อ 100,000 ประชากรนั้น นพ. วรตม์ ระบุว่า เกิดจากการคำนวณที่แตกต่างกันระหว่าง WHO และทางการไทย โดยชี้แจงว่า WHO ไม่ได้เก็บข้อมูลในไทย และไม่เคยทำหนังสือขอข้อมูลจากไทย แต่ใช้วิธีการคำนวณที่เป็นการคาดประมาณ ซึ่งอาจนำไปอ้างอิงกับข้อมูลหนี้ครัวเรือนหรืออะไรต่างๆ ขณะที่ตัวเลขซึ่งไทยนำเสนออ้างอิงฐานข้อมูลตามใบมรณบัตร
นอกจากนี้ ตัวเลขที่อ้างอิงโดยสำนักข่าว CNA ก็เป็นข้อมูลที่ไม่อัปเดต เพราะมีการติดตามสารคดีดังกล่าวนานหลายเดือน แต่ตัวเลขของไทยที่อัปเดตจะพบว่าสถิติผู้ฆ่าตัวตายปี 2563 อยู่ที่ 7.35 คนต่อ 100,000 ประชากร ซึ่งถ้าเทียบกับสถิติของฟิลิปปินส์ 3.5 คนต่อ 100,000 ประชากร และสิงคโปร์ 11.2 คนต่อ 100,000 ประชากร จะเห็นว่าตัวเลขไทยไม่ได้ทิ้งห่างประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน
อย่างไรก็ตาม นพ.วรตม์ยอมรับว่า การอ้างอิงตัวเลขจากฐานข้อมูลใบมรณบัตรอย่างเดียว อาจทำให้ตัวเลขต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะผู้ที่เก็บใบมรณบัตรบางครั้งไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต แต่ทุกฝ่ายพยายามผลักดันให้เกิดการเก็บข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำที่สุด เพื่อวางนโยบายรับมือให้ตรงตามสถานการณ์จริง
“การวินิจฉัยของแพทย์บางครั้ง อาจจะมีอันที่ข้ามปัญหาด้านสุขภาพจิตไป เช่น อาจจะลงว่าขาดอากาศหายใจ แต่จริงๆ ผูกคอตาย...ซึ่งตรงนี้เราก็กำลังทำงานหลายๆ ภาคส่วนว่าเราจะไปสืบหาตัวเลขตรงนี้มากขึ้น แล้วมาเทียบกันมากขึ้น ซึ่งในอนาคต เมื่อเราได้รูปแบบที่ดีที่สุด อาจจะต้องคุยกับตำรวจด้วย เพราะตำรวจก็เป็นคนที่ถือข้อมูลอีกชุดนึง เมื่อบูรณาการทั้งหมดได้ก็จะได้ตัวเลขที่มันแน่ชัดที่สุด”
“เพราะฉะนั้น แม้ในใบมรณบัตรจะบอกว่าสถิติฆ่าตัวตายมีประมาณ 6 คน ต่อ 100,000 ประชากรก็ตาม แต่ว่าเราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เราเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างหนึ่ง ประมาณ 3,000 กว่าราย ใช้ระบบที่เรียกว่า รง.506 ที่เราพัฒนามาในช่วง 5 ปีหลัง เพราะรู้สึกว่าตัวเลขใบมรณบัตร อาจจะมีความคลาดเคลื่อนสูง”
“รง.506 เป็นการให้บุคลากรการแพทย์สอบสวนรายงานอย่างละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคนั้นๆ ซึ่งเราก็พบว่าการตายหลายครั้งที่โรงพยาบาลไม่ได้ระบุในใบมรณบัตร...แต่ว่า รง.506 จะเก็บเชิงละเอียด แต่ก็จะได้ข้อมูลอยู่ที่ประมาณ 2,000-3,000 เคส จาก 4,000 กว่าเคส ซึ่งเราก็เอามาเทียบบัญญัติไตรยางค์ว่าเคสที่ไม่ได้ถูกระบุในใบมรณบัตรมีเปอร์เซ็นต์เท่านี้ ก็เอามาปรับตัวเลขกัน จนกลายเป็น 7.35 ในปีล่าสุด”
::: วิธีการรับมือผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง :::
แม้จะหมดเรื่องฆ่าตัวตาย แต่ประเด็น ‘ผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง’ ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดอาจไม่ใช่ผู้หลงผิดและหมกมุ่นเกี่ยวกับราชวงศ์ แต่เป็นกรณี #ฆาตกรรมบางพรม54 ซึ่งผู้ก่อเหตุชื่อว่า ‘นนทชัย กรานเคารพ’ ถูกสันนิษฐานว่าเป็นผู้มีอาการป่วยจิตเวช จึงก่อเหตุเผาบ้านและสังหารแม่ของตนเองเมื่อวันที่ 20 ม.ค.2564 โดยเหตุเกิดที่ซอยบางพรม 54 แขวงบางพรม เขตตลิ่งชัน กรุงเทพ
กรณีดังกล่าวเป็นข่าวใหญ่ เพราะมีการสัมภาษณ์เพื่อนบ้านที่อยู่รอบจุดเกิดเหตุ พบว่ามีผู้โทรแจ้งตำรวจท้องที่ให้เข้ามาดำเนินการนำตัวผู้ต้องสงสัยว่าป่วยจิตเวชรายดังกล่าวไปรับการรักษา แต่ได้รับคำตอบว่า “ไม่ใช่การกระทำความผิดซึ่งหน้า” และภายหลังสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้สั่งสอบสวนข้อเท็จจริง พบว่าเจ้าหน้าที่ไม่ทราบข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับ พ.ร.บ.สุขภาพจิต
กรณีดังกล่าว นพ.วรตม์ ระบุว่า คนที่มีความเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต มีความรุนแรง เสี่ยงทำร้ายตัวเองหรือทำร้ายผู้อื่น หรือสมควรได้รับการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ที่ดูแลได้ทันที ซึ่งก็คือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายดูแลบ้านเมือง และเป็นสิ่งที่ระบุโดยตรงใน พ.ร.บ.สุขภาพจิต หาก จนท.ตำรวจไม่ดำเนินการ อาจถือว่ามีความผิดฐานเพิกเฉยต่อการปฏิบัติหน้าที่ได้
“อันนี้ชัดเจน มีอยู่ใน พ.ร.บ.สุขภาพจิต ทีนี้ถามว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ จะมีวิธีการอะไร อาจจะพูดคุยเกลี้ยกล่อม หรืออาจใช้การเหนี่ยวรั้งอะไรก็ตาม ตามวิธีการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อย่างแพทย์ พยาบาล อาจให้คำแนะนำได้ แต่ไม่มีอำนาจไปจัดการเรื่องการไปนำตัวผู้ป่วยมา แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ส่งตัวมาถึงเมื่อไหร่ก็จะดูแลรักษาตามหน้าที่”
นอกจากนี้ นพ.วรตม์ยังย้ำด้วยว่า ผู้ป่วยที่ต้องการรักษาอาการทางจิตเวช สามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทรักษาทุกโรค) และสิทธิประกันสังคมได้ ซึ่งกรณีที่โรงพยาบาลตามสิทธิไม่มีแพทย์เฉพาะทาง ก็จะต้องดำเนินเรื่องส่งตัว (refer) ต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีแพทย์ด้านนั้นรองรับ
“ต้องรีเฟอร์ครับ มันเป็นกฎ อยู่ใน พ.ร.บ.สุขภาพอยู่แล้วครับว่าถ้าเกิดไม่มีแพทย์เฉพาะทางที่ดูแลได้ ทาง รพ.มีความจำเป็นต้องรีเฟอร์ คือต้องให้การรักษาเบื้องต้นก่อนในภาวะที่ฉุกเฉิน และต้องรีเฟอร์ไปสู่โรงพยาบาลที่มีแพทย์รองรับนั้นๆ ประกันสังคมก็ครอบคลุมหมดครับ สิทธิทุกอย่างใช้ในการดูแลอาการด้านสุขภาพจิตได้หมด”
::: พัฒนาระบบฮอตไลน์ เพิ่มคู่สาย ทำให้รับมือผู้ขอคำปรึกษาได้ดีขึ้น :::
นอกจากนี้ นพ.วรตม์ยังระบุด้วยว่า สายด่วนสุขภาพจิต 1323 มีการเพิ่มคู่สาย ประมาณ 20 สายต่อวัน ทำให้ตัวเลขการโทรเข้ามาขอคำปรึกษาลดลง จาก 700,000 สายต่อวัน เหลือประมาณ 400,000 สาย แต่อาจไม่ได้หมายความมีผู้โทรเข้ามาขอคำปรึกษาลดลง เพราะตัวเลขก่อนเพิ่มคู่สายอาจเป็นการโทรซ้ำจากเบอร์เดิม
“พอเรารับสายได้ดีมากขึ้น โทรจาก 7 แสนเหลืออยู่ประมาณ 4-5 แสน ซึ่งมันอาจเหมือนคนโทรน้อยลง แต่จริงๆ เรามองว่าอาจจะเป็นเพราะว่าพอเรารับได้มากขึ้น คนก็ไม่จำเป็นต้องโทรซ้ำ"
"แต่ต้องยอมรับอย่างนึงว่ายังมีเวลาการรอสายอยู่ที่ประมาณ 10-15 นาที เพราะช่วงที่เป็นไพรม์ไทม์ เช่น หลังเลิกงานหรือช่วงเย็นๆ ช่วงนี้เป็นช่วงที่คนเลิกงาน เสร็จแล้วอาจจะเครียดจากงานก็อาจจะโทรมาหามากขึ้น ซึ่งมันยากมากเลยที่สิบถึงยี่สิบสายจะรับได้ทัน เพราะคนโทรมาเยอะมาก”