ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร Protection International กลุ่มดินสอสี กลุ่มด้วยใจรัก และลานยิ้มการละคร ร่วมกันจัดเวทีเสวนา จากบิลลี่ถึงชัยภูมิ สู่ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน “Woman : Unfinished Justice ผู้หญิงกับความยุติธรรม: การต่อสู้ไม่สิ้นสุด” โดย ตัวแทนผู้หญิงที่ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและสร้างสรรค์สังคมในด้านต่างๆ ได้แก่ อังคณา นีละไพจิตร ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ภรรยาทนายสมชาย นีละไพจิตร ผู้ถูกอุ้มหายบนถนนกลางกรุงเทพฯ ยุพิน ซาจ๊ะ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯจากกลุ่มด้วยใจรัก ตัวแทนครอบครัวชัยภูมิ ป่าแสผู้ถูกทหารวิสามัญฆาตกรรมที่ด่านรินหลวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ พิณนภา พฤกษาพรรณ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ ภรรยาบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ผู้สูญหายไปหลังจากถูกหัวหน้าและเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ควบคุมตัว พะเยาว์ อัคฮาด ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมารดา กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลผู้บาดเจ็บในเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง ปี 2553 และ ฐปนีย์ เอียดศรีไชย สื่อมวลชนที่เผยแพร่เรื่องราวสิทธิมนุษยชนและเรียกร้องความยุติธรรมให้กับโรฮิงญา เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมในเวที
ปรานม สมวงศ์ จาก Protection International ในฐานะตัวแทนผู้จัดงานและผู้ดำเนินรายการกล่าวว่า เดือนนี้เป็นเดือนวันสตรีสากลและงานนี้จัดขึ้นเพื่อให้ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในฐานะผู้เป็นแม่ พี่สาว ภรรยา คนดูแล ฯลฯ ที่ยังคงตามหาความยุติธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นกับคนที่รักที่จากไปหรือสูญหายไปจากการกระทำของรัฐทั้งโดยตรงและโดยอ้อม แม้เรื่องราวจะผ่านมาหลายปีและความยุติธรรมยังไม่ปรากฏ วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดก็ยังคงอยู่ แต่ผู้หญิงเหล่านี้ยืนหยัดที่จะสู้กับความยุติธรรมที่ยังไม่สิ้นสุด และผู้หญิงเหล่านี้ยังคงยืนหยัดที่เรียกร้อง เพรียกหา และพร้อมต่อสู้ให้ได้ความยุติธรรมเพราะฉะนั้นพวกเธอเหล่านี้เป็นตัวแทนกระบอกเสียงของผู้หญิงคนเล็กคนน้อยอีกมาที่ไม่สิ้นสุดกำลังใจและพลังในการปกป้องสิทธิมนุษยชนและต่อสู้ให้ได้มาซึ่งความยุติธรรมทั้งของตนและผู้อื่นในสังคม พวกเธอเหล่านี้เป็นผู้บุกเบิกนวัตกรรมทางความยุติธรรมที่จับต้องได้ให้เป็นจริง และนี่คือที่มาของงาน “Woman : Unfinished Justice ผู้หญิงกับความยุติธรรม: การต่อสู้ไม่สิ้นสุด”
อีกทั้งเดือนมีนาคม เป็นเดือนแห่งการรำลึกถึง รำลึกครบรอบ 18 ปีอุ้มหาย ทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และรำลึกครบรอบ 5 ปี ชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมเยาวชนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนลาหู่ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารที่ด่านบ้านรินหลวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ วิสามัญฆาตกรรม ที่แม้เวลาผ่านไปเนิ่นนานแล้วกระบวนการยุติธรรมก็ยังไม่สามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ในทั้งสองกรณี รวมถึงเดือนมีนาคมนี้ยังเป็น 'วันสตรีสากล' ที่รำลึกถึงการต่อสู้ของขบวนการแรงงานหญิงและผู้หญิงจากทั่วโลก
'อังคณา' เหยื่อไม่ใช่คนที่ถูกฆ่าหรือถูกอุ้มหายแต่เหยื่อคือคนที่อยู่ข้างหลัง และเหยื่อก็จะมีความเปราะบางมากขึ้นไปอีกเมื่อคนเหล่านั้นคือผู้หญิง
ขณะที่อังคณา กล่าวว่า ถ้าถามว่าผ่านมาได้อย่างไร 18 ปี ถ้าอายุความเรื่องการฆาตกรรมอีกสองปีก็หมดอายุความแล้ว การต่อสู้ไม่ว่าคุณจะต่อสู้สักแค่ไหนถึงเวลามันก็จะถูกทำให้ยุติ และในฐานะของเหยื่อตนอยากจะบอกว่า อันที่จริงแล้วเหยื่อไม่ใช่คนที่ถูกฆ่าหรือถูกอุ้มหายแต่เหยื่อคือคนที่อยูข้างหลัง และเหยื่อก็จะมีความเปราะบางมากขึ้นไปอีกเมื่อคนเหล่านั้นคือผู้หญิง อาจจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นคนที่ไม่ได้มีสถานะทางสังคม ไม่ได้ฐานะร่ำรวยไม่ได้มีการศึกษาสูง และหากสังเกตุผู้หญิงทั้ง 4 คนในเวทีนี้ทั้งหมดก็เป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ การที่เราเป็นเหยื่อยิ่งทำให้เกิดความซับซ้อนในการที่เราจะเข้าถึงความยุติธรรมมากขึ้นไปอีก ที่ผ่านมามีความพยายามช่วยเหลือจากรัฐด้านการเงิน แต่เป็นการที่โยนเงินให้และขอให้จบ ทั้งนี้เหยื่อทุกคนสิทธิ์ที่จะรับทราบความจริง เพราะผู้หญิงที่ครอบครัวถูกอุ้มหายชีวิตจะอยู่กับความคลุมเครือ ไม่ใช่แค่ใครสักคนหายไป ความคลุมเครือเหล่านี้ตามหลอกหลอนคนในครอบครัวทุกคน แต่คนที่ไม่เคยถูกคุกคามก็จะคิดว่าทำไม ไม่ยอมจบ รับเงินแล้วก็อยู่เงียบๆ แต่ชีวิตมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น
อังคณา กล่าวว่า ทั้งนี้จะได้ยินเหยื่อพูดซ้ำอยากให้เป็นกรณีสุดท้าย ซึ่งเป็นไปไม่ได้ หากผู้ทำผิดยังคงลอยนวล คนที่อุ้มทนายสมชาย คนที่เกี่ยวกับการเสียชีวิตของกมนเกด ชัยภูมิ หรือบิลลี่ ทุกคนก็ยังอยู่ละมีหน้ามีตาในสังคม คนที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิ์เหล่านั้นหลายคนยังรับราชการที่สูงขึ้น โดยไม่ได้ใส่ใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับครอบครัวหนึ่ง ชุมชน และสังคมทำให้เกิดแรงกระเพื่อมแค่ไหน ผู้หญิง 4 คนบนเวทีนี้สิ่งที่ทุกคนต้องเจอเหมือนกันคือการคุกคาม เรามานั่งตรงนี้หลายท่านอาจจะไม่ทราบว่าเราผ่านอะไรมาบ้าง การคุกคามมีหลายรูปแบบ ทั้งการใช้กฎหมาย การดำเนินคดี การตั้งหาร้ายแรงซึ่งหลายคนยังเผชิญอยู่ สิ่งเหล่านี้ไมมีวันหมดไปหากเจ้าหน้าที่ยังลุแก่อำนาจ ในขณะที่สังคมยังนิ่งเฉย ความเจ็บปวดที่ครอบครัวหลายๆ ครอบครัวต้องเผชิญนั้นมันยังไม่เท่ากับการที่สังคมเงียบ ไม่ตั้งคำถามและปล่อยให้มันผ่านเลยไป
อังคณา ยังกล่าวอีกว่า ในเรื่องการทำให้บุคคลสูญหายที่ผ่านมามีคนส่งกรณีของบิลลี่ไปที่สหประชาชาติ โดยวิธีการตรวจสอบเขาก็ส่งเรื่องกลับมาที่รัฐบาลไทย ซึ่งความพยายามที่รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชาทำคือพยายามลดจำนวนคนที่สูญหาย โดยกรณีบุคคลถูกบังคับให้สูญหายไทยอยู่ในอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ซึ่งตัวเลขของรัฐบาลไทยไม่มีจำนวนที่แน่ชัด เพราะไม่เคยให้ความสำคัญ แต่รายชื่อปรากฏในสหประชาชาติ แต่เมื่อไรก็ตามที่ญาติเชื่อว่าได้ทราบที่อยู่และชะตากรรม เขาจะถือว่าการบังคับสูญหายสิ้นสุด นับเป็นการเสียชีวิตและนับอายุความ กรณีดีเอสไอเจอกระดูกบิลลี่ รัฐบาลก็ดีใจส่งเรื่องไปสหประชาชาติและขอลบกรณีบิลลี่ออก อีกทั้งมีการลบกรณีอื่นออกได้รวม 12 กรณี ถอนชื่อบุคคลสูญหายออกบัญชีของสหประชาชาติ รัฐบาลโน้มน้าวให้ญาติถอนเชื่อออก และญาติต้องจำยอม
“การที่ใครสักคนจะขึ้นมายืนอยู่ตรงนี้ และทำเพื่อคนอื่นได้เป็นระยะเวลานานหลายปีไม่ใช่เรื่องง่าย หลายมือที่สนับสนุนและลมใต้ปีกเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เราทะยานไปได้และไม่ตกลงมา ชีวิตที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงทุกคนในที่นี้ ไม่ใช่ชีวิตที่เราเลือก วันหนึ่งอาจไม่ใช่แค่เราแต่เป็นใครก็ได้ที่อยู่ข้างนอก ทุกคนสามารถเป็นเหยื่อได้ ถ้าเราไม่สามารถเลิกวัฒนธรรมกับพ้นผิดลอยนวลได้ เรื่องความยุติธรรมเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ รัฐบาลไม่ว่ายุคไหนสมัยไหนก็เป็นรัฐที่ไร้ยางอางในการรับผิด หรือรับผิดชอบในสิ่งที่ได้ทำไป ทั้งกรณีเสียชีวิตในเหตุการณ์พฤษภา 2553 ไม่เคยมีคำขอโทษครอบครัวผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บ ผู้พิการ รวมทั้งกรณีความรุนแรงภาคใต้ หรือกรณีพฤษภาทมิฬปี 2535 หรือกรณีอื่นๆ ไม่เคยมีใครต้องรับโทษ สิ่งเหล่านี้หมักหมมในประเทศไทยมานาน เสียงเรียกร้องจากทุกท่านมีความสำคัญ ในการที่จะส่งสาส์นไปถึงรัฐบาลว่าสิ่งเหล่านี้ต้องไม่เกิดขึ้นอีก ความหวังจึงอยู่ที่สังคมที่ต้องไม่หยุดและไม่เหนื่อยที่จะพูดเพื่อปกป้องคนรุ่นหลังต่อไป” อังคณากล่าว