Skip to main content

ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าต่อกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 65  เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์ไม่แสวงหากำไร พ.ศ… ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ยกร่าง และมอบให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เป็นเจ้าภาพรับร่างไปเปิดรับฟังความเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบ และจะครบกำหนดรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 25 มี.ค. ที่จะถึงพร้อมเตรียมเสนอสภาพิจารณาต่อไปนั้น โดยจากที่ได้ติดตามความเห็นจากเวทีภาคประชาสังคมและภาคประชาชนเป็นจำนวนมาก ต่างเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายซ่อนเร้น ทำลายความเข้มแข็งของภาคประชาชน ที่สุดท้ายประชาชนจะกลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบ จี้หากฟังความเห็นแล้วประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ก็อย่าดันทุรัง หยุดเดินหน้าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ก่อนที่จะกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับภาครัฐมากขึ้นไปอีก

สำหรับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีเนื้อหา 28 มาตรา สาระสำคัญคือการกำหนดนิยาม “องค์กรไม่แสวงหากำไร” ที่กว้างครอบคลุมเกือบทุกการรวมกลุ่ม ขยายไปจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่กำกับดูแลการจดทะเบียนมูลนิธิ สมาคมอยู่แล้ว การจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรไม่แสวงหากำไร ที่มี รมต.พม.เป็นประธาน มีการกำหนดให้องค์กรไม่แสวงหากำไร ต้องเปิดเผยข้อมูล ทั้งวัตถุประสงค์การจัดตั้ง วิธีการดำเนินการ แหล่งที่มาของเงินทุน ผู้รับผิดชอบ โดยเฉพาะหากเป็นเงินทุนจากต่างประเทศ ที่จะต้องมีกระบวนการตรวจที่ละเอียดมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมีการกำหนดว่าองค์กรต่างๆ ต้องไม่มีลักษณะที่ดำเนินกิจการส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือก่อให้เกิดความแตกแยกของสังคม  อย่างไรก็ตามเนื้อหาสาระของร่าง พ.ร.บ.ที่ผ่านการยกร่างของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานี้ มีความแตกต่างไปจาก ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ… ที่กระทรวง พม. เคยยกร่างก่อนหน้านี้

”มีองค์กรระหว่างประเทศ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน เป็นจำนวนมากประสานมายังพรรคก้าวไกลว่าไม่เห็นด้วยกับร่าง กม. ดังกล่าว ซึ่งมีเนื้อหาสาระขัดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติกา และอนุสัญญาระหว่างประเทศหลายฉบับ อีกทั้งจะส่งผลต่อการสนับสนุนที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรภาคประชาสังคมและภาคประชาชน ที่ทำงานตอบสนองต่อประชาชนในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเด็ก เยาวชน สตรี ผู้พิการ แรงงาน การเกษตร การอาชีพ การพัฒนาประชาธิปไตย ที่กระจายอยู่ทุกพื้นที่ ที่ภาครัฐเองไม่อาจดูแลได้อย่างทั่วถึง พวกเขาล้วนกล่าวว่า แทนที่หากจะมีการออก กม.เชิง “ส่งเสริม” กับกลายเป็น กม. “ควบคุม” และท้ายที่สุดคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือประชาชน ซึ่งไม่อาจคิดเป็นอื่นได้ นอกเสียจากวาระซ่อนเร้นทางการเมือง ที่ก่อนหน้านี้ได้ท้วงติงการบริหารของรัฐบาลที่ไปละเมิดสิทธิและส่งผลกระทบต่อประชาชน” ณัฐวุฒิกล่าว

ทั้งนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยังเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ… ผ่านช่องทางต่างๆ ของกระทรวงทั้งระบบออนไลน์ และเวทีรับฟังความเห็นผ่านสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในทุกจังหวัด โดยสำหรับประชาชนนั้นสามารถส่งความเห็นต่อร่าง กม.ดังกล่าวได้ที่เมล์ [email protected] จนถึงวันที่ 25 มี.ค. ควบคู่ไปกับเวทีของภาคประชาสังคมที่มีกำหนดจะจัดการชุมนุมคัดค้าน กม.ฉบับนี้ในวันที่ 24 มี.ค. หน้ากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตลอดทั้งวัน
 
“ข้อดีอย่างเดียวของการยกร่าง กม.ฉบับนี้ คือการทำให้ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนถึง 1,800 กว่าองค์กร เป็นหนึ่งเดียวกันในการออกมาลงชื่อร่วมกันคัดค้าน และเชื่อว่ามีอีกมากกว่าจำนวนนั้น สำหรับพรรคก้าวไกลนั้นมีจุดยืนเคียงข้างกับภาคประชาสังคมและภาคประชาชนคือไม่เห็นด้วยกับการยกร่าง กม. ฉบับนี้ และเชื่อว่าหาก รบ. ตั้งใจจะตรวจสอบแบบไม่มีวาระซ่อนเร้น ก็สามารถใช้กลไกทาง กม.และการบริหารที่มีอยู่ดำเนินการได้อยู่แล้ว รบ. ที่ดีจะต้องฟังเสียงประชาชน หากเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับร่าง กม.นี้ ก็อย่าดันทุรังเดินหน้าส่งสภาฯ แต่หากจะเดินหน้าส่ง ตนเชื่อว่า ส.ส.ที่มาจากประชาชนย่อมทราบว่าประชาชนต้องการสิ่งใด เมื่อนั้นตัวแทนประชาชนจะพิพากษาซ้ำให้ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมประชาชนฉบับนี้ตกไป และ รบ.จะต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ได้กระทำมาทั้งหมด” ณัฐวุฒิกล่าวทิ้งท้าย