Skip to main content

สรุป

  • นักวิชาการนานาชาติเรียกร้องบริษัทจัดอันดับสถาบันอุดมศึกษาใช้ข้อมูล ‘ดัชนีเสรีภาพทางวิชาการ’ ในการประเมินผลคะแนนสถาบันทั่วโลก
  • การจัดอันดับที่ผ่านมาไม่เคยคำนึงถึง ‘เสรีภาพทางวิชาการ’ ทำให้การเรียนการสอนในสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง ปิดกั้นการถกเถียงเรียนรู้ กระทบต่อการคิด-วิเคราะห์
  • สถาบันอุดมศึกษาบางแห่งเพิกเฉยต่อการจับกุม-ดำเนินคดีนักศึกษา-นักวิชาการ-อาจารย์ ที่แสดงความเห็นในประเด็นสาธารณะ พบ ‘ฮ่องกง บราซิล ตุรกี โคลอมเบีย แซมเบีย นิคารากัว’ ถดถอยที่สุด
  • ส่วนไทยติดกลุ่มประเทศรั้งท้ายที่คะแนนรวมเสรีภาพทางวิชาการปี 2020 ไม่ถึง 0.2 อยู่กลุ่มเดียวกับจีน ลาว เกาหลีเหนือ อียิปต์ อิหร่าน รวันดา ซีเรีย เซาท์ซูดาน และอื่นๆ

 

::: ถ้าไม่มีเสรีภาพทางวิชาการ การศึกษาวิจัยก็ไม่สะท้อนข้อเท็จจริงรอบด้าน :::

สถาบันนโยบายสาธารณะนานาชาติ (GPPI) และเครือข่ายนักวิชาการจากประเทศต่างๆ รวมกว่า 2,000 คนทั่วโลกที่รวมตัวในนาม Scholars At Risk ร่วมกันเผยแพร่ #ดัชนีเสรีภาพทางวิชาการ (Academic Freedom Index หรือ AFi) ประจำปี 2020 เมื่อ 11 มี.ค.2564 พร้อมเรียกร้องให้บริษัทจัดอันดับสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ นำคะแนนดัชนี AFi ไปร่วมประเมินคะแนนรวมของสถาบันอุดมศึกษาทั่วโลก เพื่อสะท้อนความเป็นจริงในการส่งเสริมการเรียนรู้และศึกษาค้นคว้าวิจัย

รายงาน AFi 2020 ย้ำว่าเสรีภาพทางวิชาการเป็นกุญแจสำคัญไปสู่ 'คุณภาพและชื่อเสียงทางวิชาการที่เชื่อถือได้' แต่ที่ผ่านมาบริษัทจัดอันดับสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ วัดความเป็นเลิศทางวิชาการจากจำนวนงานวิจัยและการถูกอ้างถึงในวารสารวิชาการ แต่ไม่ได้คำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่กดดันหรือบีบให้นักวิชาการต้องศึกษาหรือวิจัยเฉพาะประเด็นที่ได้รับอนุญาตให้ทำ หรือเฉพาะประเด็นที่รัฐหรือผู้มีอำนาจในสถาบันต้องการให้ศึกษา จึงไม่อาจสะท้อนความเป็นจริงอย่างรอบด้าน เพราะไม่อนุญาตให้มีการตั้งคำถามเพื่อสอบทาน

ผู้จัดทำรายงาน AFi ยังระบุด้วยว่า การนำคะแนนรวมของดัชนีเสรีภาพทางวิชาการไปใช้ร่วมกับเกณฑ์การประเมินคุณภาพสถาบันอุดมศึกษาทั่วโลก จะช่วยให้การจัดอันดับมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยต่างๆ ถูกต้องตามความเป็นจริงมากขึ้น โดยยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยในจีนและญี่ปุ่นมาเปรียบเทียบกัน หากนำคะแนน AFi ไปใช้ประเมินผลด้วย มหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นจะมีคะแนนรวมมากกว่ามหาวิทยาลัยในจีน 

 

::: เผย 5 เกณฑ์ชี้วัดเสรีภาพทางวิชาการ :::

GPPi และเครือข่าย Scholars at Risk ผู้จัดทำดัชนี AFi อ้างอิงการสำรวจข้อมูลสถาบันอุดมศึกษาใน 175 ประเทศ และเขตปกครองทั่วโลก รวมถึงการสังเกตการณ์การปิดกั้นหรือแทรกแซงเสรีภาพทางวิชาการโดยเครือข่ายนักวิชาการนานาชาติ จากนั้นจึงประเมินคะแนนรวมโดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกับกติกาด้านสิทธิและเสรีภาพของกรรมาธิการสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ (CESCR) 

กติกาของ CESCR ที่ถูกนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการวัดผล AFi ประกอบด้วย 1. เสรีภาพในการวิจัยและการสอน 2. เสรีภาพในการถกเถียงแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการ 3. ความเป็นอิสระของสถาบันการศึกษา 4. ความเป็นธรรมในสถาบันการศึกษา และ 5. เสรีภาพด้านวิชาการและวัฒนธรรมการแสดงความคิดเห็น

เนื้อหาในรายงานดัชนี AFi ระบุว่า ปี 2563 มีการจับกุมและดำเนินคดีนักวิชาการ นักวิจัย รวมถึงนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาทั่วโลก ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิและแทรกแซงเสรีภาพทางวิชาการ ทั้งยังสะท้อนให้เห็นอีกว่าสถาบันการศึกษาหลายแห่งทั่วโลกไม่ได้เป็นอิสระจากปัจจัยทางการเมือง เพราะหลายแห่งไม่ปกป้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการถกเถียงแลกเปลี่ยน 

และสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะยิ่งทำให้ประเด็นเหล่านี้มีผลกระทบต่อการเรียนรู้และถกเถียงแลกเปลี่ยนทั่วโลกมากยิ่งขึ้น ซึ่งรัฐบาลแต่ละแห่งจะต้องคำนึงถึงและหาทางป้องกันไม่ให้ปัจจัยเหล่านี้กระทบต่อคุณภาพทางวิชาการ

 

::: ไทยมีคะแนน ‘รั้งท้าย’ ด้านเสรีภาพทางวิชาการ :::

ผลจัดอันดับ AFi แบ่งกลุ่มประเทศต่างๆ ตามคะแนนรวมด้านเสรีภาพทางวิชาการที่รวบรวมจากข้อมูลในปี 2563 และตัดเกรดจาก A-E โดยประเทศที่มีคะแนนตั้งแต่ 0.8-1.0 ได้รับเกรด A ตามด้วยคะแนน 0.6-0.8 ได้รับเกรด B คะแนน 0.4–0.6 ได้รับเกรด C คะแนน 0.2–0.4 ได้รับเกรด D และคะแนน 0.0 – 0.2 ได้รับเกรด E

ประเทศที่คะแนนรวม AFi สูงสุด ได้แก่ อุรุกวัย (0.972) เบลเยียม (0.970) ลัตเวีย (0.970) อิตาลี (0.969) และออสเตรีย เยอรมนี สโลวะเกีย มีคะแนนรวมเท่ากัน (0.966) และประเทศที่คะแนนรวมแล้ว AFi ต่ำที่สุดในโลก คือ เกาหลีเหนือ (0.011) ขณะที่สถานการณ์เสรีภาพทางวิชาการในฮ่องกง บราซิล ตุรกี โคลอมเบีย แซมเบีย นิคารากัว ถดถอยที่สุดในปีที่ผ่านมา

ส่วนประเทศไทยติดอยู่ในกลุ่มสุดท้าย คือ เกรด E มีคะแนน AFi รวม 0.130 โดยถูกจัดอันดับอยู่กลุ่มเดียวกับเกาหลีเหนือ จีน อาเซอร์ไบจาน บาห์เรน เบลารุส บุรุนดี คิวบา อียิปต์ อิเควทอเรียลกินี อิริเทรีย อิหร่าน ลาว นิคารากัว รวันดา ซาอุดีอาระเบีย เซาท์ซูดาน ทาจิกิสถาน ตุรกี เติร์กเมนิสถาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และเยเมน

อย่างไรก็ตาม ดัชนีเสรีภาพทางวิชาการ (AFi) เพิ่งจัดทำขึ้นในปี 2563 เป็นครั้งแรก จึงยังไม่อาจระบุได้ว่าบริษัทจัดอันดับสถาบันอุดมศึกษาแห่งใดจะนำดัชนีนี้ไปปรับใช้ แต่ 'สหราชอาณาจักร' เป็นประเทศล่าสุดที่ปรับนโยบายการศึกษาไปเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา

โดยเว็บไซต์ของรัฐบาลสหราชอาณาจักรระบุว่า เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพทางวิชาการคือสิ่งสำคัญที่ต้องสนับสนุนเพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศ

ที่มา 

Free Universities: Putting the Academic Freedom Index Into Action

FREE UNIVERSITIES

Free Universities: Putting the Academic Freedom Index Into Action