‘ศิริกัญญา’ ห่วงวิกฤต รัสเซีย-ยูเครน ทำราคาน้ำมันพุ่ง ซ้ำเติมปัญหาปากท้องประชาชน ย้ำ 2 มาตรการตรึงราคาเอาไม่อยู่ เหตุรัฐบาลเมินแก้กฎหมายบริหารหนี้สาธารณะ ปิดประตูทางรอดทางการคลังของประเทศ
ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) แสดงความกังวลปัญหาค่าครองชีพของประชาชนที่จะมากขึ้น สืบเนื่องจากกรณีปัญหาสงครามระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน ว่า ส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกปรับสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่อง เมื่อวานนี้ (3 มี.ค. 65) น้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) พุ่งขึ้นมาปิดที่ 114.59 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่ เดือน พ.ค.54 ขณะราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) พุ่งขึ้นมาปิดที่ 119.02 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ยังไม่ต้องพูดถึงราคาก๊าซธรรมชาติ ราคาอาหารสัตว์ และปุ๋ย ที่ตบเท้าเรียงแถวกันขึ้นพร้อมๆ กันย่อมกระทบกับเศรษฐกิจไทยและค่าครองชีพประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม
“ถึงแม้ว่าสงครามอาจไม่ยืดเยื้อยาวนาน แต่ก็ไม่มีใครทราบว่าจะจบลงในรูปแบบใด และการแซงก์ชั่นหรือคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจะจบลงพร้อมกับสงครามหรือไม่ ราคาพลังงานและสินค้าต่างๆ จะกลับมาเป็นปกติเมื่อใด รัฐบาลยังคงมีเป้าหมายที่จะตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 30 บาท/ลิตร และแย้มมาว่าจะอุดหนุนราคาน้ำมันเบนซินไปพร้อมๆ กัน แต่ ณ วันนี้ปั๊มต่างๆ ปรับราคาดีเซลขึ้นไปเกิน 30 บาทกันหมดแล้ว แม้จะเป็นเป้าหมายที่ดี แต่เริ่มเกิดความไม่มั่นใจว่าจะทำอย่างไร และยังมีคำถามคาใจที่ยังไม่มีคำตอบคือจะเอาเงินมาจากไหน ประชาชนส่วนนึงยังเฝ้ารอคำตอบชัดๆ ถึงมาตรการ” รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลระบุ
ศิริกัญญา ยังกล่าวต่อไปว่า มาตรการที่มีอยู่ตอนนี้มี 2 ส่วน ส่วนแรก คือใช้เงินจากกองทุนน้ำมัน ซึ่งติดลบอยู่ 20,000 ล้านบาทแล้วในปัจจุบัน ข่าวแว่วมาว่าจะใช้เงินอุดหนุนจากกองทุนเพิ่มอีกเป็น 4 บาท/ลิตร ในสถานการณ์ที่กองทุนยังกู้เงินจากสถาบันการเงินไม่ได้ เนื่องจากติดปัญหาการเปลี่ยนสถานะจากนิติบุคคลเป็นองค์การมหาชน จึงยังไม่ได้รับรองบัญชี ทำให้วงเงินที่ครม.เคยอนุมัติไว้ 30,000 ล้าน ยังไม่มีเม็ดเงินจริงๆเข้ากองทุนเลยแม้แต่บาทเดียว ยังคงต้องลุ้นกันต่อว่าจะกู้ได้เมื่อไหร่ เพราะถึงแม้จะเปลี่ยนสถานะได้ กว่าจะกู้ผ่านก็ยังต้องใช้เวลาอีก 2-3 สัปดาห์สำหรับธนาคารในการดำเนินการ ข้อจำกัดคือเงินที่ใช้อุดหนุนอยู่จะตกราว 8,000 ล้านบาทต่อเดือน หากกู้เพิ่มได้จริง 30,000 ล้าน ก็ไม่เพียงพอ ส่วน ครม.ยังมีช่องให้อนุมัติเพิ่มได้อีกเพียง 10,000 ล้าน หลังจากนี้หากจะกู้เพิ่มคงต้องแก้กฎหมายกองทุนน้ำมันที่กำหนดเพดานการกู้ไว้
ส่วนที่สอง คือการลดภาษีสรรพสามิต ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลง 3 บาท แต่ส่งผลให้ราคาน้ำมันลดลงเพียง 2 บาท อีก 1 บาทนำไปโปะกองทุนน้ำมัน คาดว่าจะทำให้กรมสรรพสามิตสูญเสียรายได้รวม 17,100 ล้านบาทในช่วง 3 เดือน หรือเฉลี่ยประมาณเดือนละ 5,700 ล้านบาท ทั้งนี้ มาตรการจะจบลงใน เดือน พ.ค. 65 แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อก็อาจจะต้องยืดมาตรการนี้ออกไปอีก เท่ากับจะมีเลือดไหลออกจากคลังเพิ่มอีกโดยที่จะกระทบกับเป้าการจัดเก็บรายได้และงบประมาณในที่สุด
“สาเหตุมาจากงบปี 65 ถูกตั้งไว้แบบตึงมาก แบบกู้จนเต็มเพดานแล้ว กู้มากไปกว่านี้ไม่ได้ตามกฎหมาย จากนี้งบประมาณจะได้ใช้จริงมากน้อยแค่ไหนขึ้นกับว่าจะเก็บภาษีได้ตามเป้าหรือไม่ หากจัดเก็บภาษีพลาดเป้าแม้แต่ 1 บาท จะเท่ากับงบประมาณที่ใช้ได้ลดลง 1 บาททันที
“ถ้าจะต้องลดภาษีสรรพสามิต 3 บาท มากกว่า 3 เดือน หรือต้องลดภาษีสรรพสามิตไปมากกว่า 3 บาท เพื่ออุ้มน้ำมันดีเซล ก็ต้องรอเพียงปาฏิหาริย์ว่าเศรษฐกิจปี 65 จะกลับมาฟื้นตัวดีแล้วเก็บภาษีอื่นได้เพิ่ม จึงจะไม่มีปัญหาตอนปิดหีบงบประมาณ แต่ความหวังก็ดูยิ่งริบหรี่จากสถานการณ์ค่าครองชีพในปัจจุบัน ปัจจุบันเงินคงคลังที่เหลืออยู่ไม่มากแล้ว ณ ไตรมาส 1 ปี 65 ลดลงเหลือราว 300,000 ล้านบาท หากสุดท้ายปิดหีบไม่ลง ก็คงต้องลดงบประมาณรายจ่ายลง รัฐบาลต้องตอบคำถามกับประชาชนให้ได้ว่าจะไปตัดงบส่วนไหนก่อน โครงการไหนจะโดนตัด โดนเลื่อน หรือต้องให้ไปรอลุ้นกันหน้างาน”
ศิริกัญญา ย้ำว่า มาตรการทั้ง 2 ส่วนไม่น่าจะเป็นทางออกให้กับรัฐบาลที่จะตรึงราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ที่ 30 บาทได้ตลอดรอดฝั่ง นับว่าเป็นโจทย์ที่หิน ยิ่งแก้ยิ่งพันหลัก และสะดุดขาตัวเองในที่สุด เริ่มจากการเขียนกฎหมายเรื่องกองทุนน้ำมันใหม่โดย สนช. ที่กลัวผีประชานิยม เคร่งครัดเรื่องการกู้ แต่กลับหละหลวมเรื่องการเก็บเงินเข้ากองทุนในยามที่น้ำมันถูก รวมไปถึงกฎหมายบริหารหนี้สาธารณะที่สร้างข้อจำกัดในการกู้เงินเพิ่มแม้ในยามที่ประเทศเกิดวิกฤต ก็ได้ถูกหยิบยกมาเสนอให้แก้ไขหลายครั้งแต่รัฐบาลกลับเมินเฉย ปิดประตูทางรอดทางการคลังของประเทศอย่างในวันนี้