‘วาโย’ จากพรรคก้าวไกลโต้ ‘อนุทิน’ ข้อมูลวัคซีนและเลขบัตรประจำตัวประชาชนเป็นความลับ ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย รัฐไม่ควรปล่อยให้ใครก็ได้เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของประชาชน
จากกรณีที่อนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า ข้อมูลของประชาชนที่ฉีดวัคซีนไม่ได้รั่ว และข้อมูลดังกล่าวไม่ได้ถือว่าเป็นความลับ เมื่อกรอกหมายเลข 13 หลักในหมอพร้อมก็จะพบข้อมูลนี้ นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ออกมาแสดงความเห็นว่า ตนรู้สึกตกใจมากที่เจ้ากระทรวงที่ดูแลข้อมูลส่วนตัวของประชาชนทั้งประเทศ ไม่ให้ความสำคัญกับปกป้องข้อมูลของประชาชน
“ปัจจุบัน ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่ามาก เพราะสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์และคาดการณ์อะไรได้อีกมาก หลายประเทศที่เขาตระหนักเรื่องนี้ ตนถือว่ามันเป็นความมั่นคงของประชาชนเลยด้วยซ้ำ ทีนี้ของประเทศไทย ควรจะต้องมี พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล หรือ PDPA ออกมาใช้ตั้งนานแล้ว แต่มันก็ยังไม่มีผลบังคับใช้สักที แล้วพอผู้มีอำนาจออกมาบอกว่าข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้เป็นความลับอะไร มันก็แสดงให้เห็นว่ารัฐไทยไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้แบบสุดๆ ไปเลย”
นพ.วาโย กล่าวต่อว่า แม้ PDPA จะยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่ปัจจุบันก็มีกฎหมายเฉพาะคุ้มครองข้อมูลสุขภาพของประชาชนบังคับใช้อยู่แล้ว เขาชวนให้ทุกคนคิดตามโจทย์ทางกฎหมายว่า มาตรา 7 ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ระบุว่า ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลเป็นความลับส่วนบุคคล ใครจะนำไปเปิดเผยในลักษณะที่จะทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ เว้นแต่คนนั้นจะยินดีเปิดเผยเอง
“แล้วข้อมูลวัคซีนถือเป็นข้อมูลสุขภาพหรือไม่? ก็ต้องย้อนไปดู พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 มาตรา 4 ระบุว่า การประกอบวิชาชีพเวชกรรมมีการรักษา บำบัด หรือป้องกันโรค ดังนั้น การฉีดวัคซีนเพื่อการป้องกันโรค ก็ถือว่าเป็นข้อมูลการรักษา เป็นข้อมูลสุขภาพ ซึ่งเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ผู้ใดจะเปิดเผยไม่ได้”
ดังนั้น การบอกว่า ใครก็เข้าถึงข้อมูลวัคซีนได้ เพียงแค่ใส่เลขบัตรประชาชนลงไปในแอปพลิเคชัน ‘หมอพร้อม’ จึงยิ่งแสดงให้เห็นถึงความหละหลวมในการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนทั้งประเทศ เป็นรัฐที่ไม่ให้ค่ากับข้อมูล ทำให้ประชาชนยิ่งไม่เชื่อมั่นว่ารัฐจะสามารปกป้องข้อมูลของประชาชนได้ ดังที่เคยเห็นมาแล้วว่า ประชาชนเคยไม่กล้าเช็คอินในแอปพลิเคชั่นของรัฐ เพราะกลัวว่ารัฐจะนำข้อมูลตัวเองไปทำอะไร
นพ.วาโยยังตั้งคำถามต่อว่า เมื่อข้อมูลสุขภาพที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคล ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่ปกป้องข้อมูลลับเหล่านี้ แต่กลับทำแอปพลิเคชั่นให้ใครก็ได้สามารถเข้าถึงข้อมูลนี้ จะถือมีความผิดหรือไม่? ตนมองว่าน่าจะเข้าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 323 เขียนว่า ผู้ใดล่วงรู้หรือได้มาซึ่งความลับของผู้อื่นโดยเหตุที่เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ แล้วเปิดเผยความลับนั้นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“ผมขอย้ำว่านี่ไม่ใช่แค่เรื่องของข้อมูลนักการเมือง แต่เป็นเรื่องของข้อมูลประชาชนทั้งประเทศ จริงๆ แล้ว เราน่าจะสามารถฟ้องศาลปกครอง ให้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการปกปิดข้อมูลของประชาชนได้เลยนะว่าการใส่แค่เลขบัตรประชาชนก็สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของเราได้เลยนี่มันไม่ถูกต้องเลย นี่อาจไม่ใช่เป็นเพียงการละเลย แต่น่าจะเป็นการละเมิดกฎหมาย แล้วเรื่องนี้ก็ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญปี 60 มาตรา 32 ด้วยว่า บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียงและครอบครัว”