Skip to main content

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้มีการเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขต 6 จ.สงขลา เครือข่าย We Watch ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดเวทีรับฟังวิสัยทัศน์ผู้สมัคร โดยมี ธิวัชร์ ดำแก้ว ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล เบอร์ 2 ร่วมเวทีดีเบต พร้อมด้วย พงศธร สุวรรณรักษา ผู้สมัครจากพรรคกล้า, ภัทรวดี ศรีศักดา ผู้สมัครจากพรรคพลังสังคม โดยเวทีดังกล่าวจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ วานนี้ (12 มกราคม) ทั้งนี้ ทางเครือข่ายระบุว่า ได้ติดต่อเชิญผู้สมัครจากพลังประชารัฐและประชาธิปัตย์แล้วแต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตอนหนึ่งผู้ดำเนินรายการได้ให้ผู้สมัครแสดงวิสัยทัศน์ในการสร้างเศรษฐกิจชายแดน โดย ธิวัชร์ กล่าวว่า เริ่มต้นที่ขั้นแรก คนในชุมชนต้องมีภาพฝันร่วมกัน ตรงกันและกำหนดอนาคตตนเองก่อน ซึ่งภาพนั้นต้องเป็นภาพเดียวกัน จินตนาการและเห็นถึงสิ่งที่เราจะสร้างร่วมกัน หมายความว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะไม่รบกวนซึ่งกันและกัน เช่น คนที่ทำธุกิจขนส่งก็จะไม่ไปรบกวนโซนที่อยู่อาศัย หรือคนที่ทำอุตสาหกรรมก็จะไม่ไปรบกวนสิ่งแวดล้อม หากมองเห็นร่วมกันแบบนี้ ก็จะทำให้ภาพของการพัฒนาเป็นไปอย่างชัดเจน  ต่อมาขั้นที่สอง คือ มีการวางแผนร่วมกัน หรือที่เรียกกันว่าจัดโซนนิ่ง หรือผังเมืองจะเป็นอย่างไร ก็จะกลับไปเรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน จริงๆ กฎหมายผังเมืองของประเทศเราดีมาก แต่มันสามารถถูกบิดง่ายจากอำนาจรัฐ เช่นที่ผ่านมาก็อย่างเช่นคำสั่งของ คสช. ที่4/2559 ที่ทำให้เกิดบ่อขยะในอำเภอคลองหอยโข่ง ซึ่งกฎหมายถูกทำให้มาตรฐานมันหมดไป สิ่งนี้ถึงสร้างขึ้นมาได้ในช่วงรัฐประหาร

"ขั้นที่สามนี้สำคัญมาก ซึ่งเป็นเรื่องของการจัดวางตำแหน่งว่า เราอยู่ตรงไหนใน Global value chain หรือ ห่วงโซ่อุปทานของโลก เช่น ในพื้นที่เราปลูกยางพารา แล้วเราอยู่ตรงไหน เราเป็นเพียงผู้ผลิตถุงมือยาง หรือเราทำยางขั้นปลายแล้ว หรือในขณะนั้นๆ เทรนด์ของโลกด้านนี้อยู่ตรงไหน เราต้องวางตำแหน่งแห่งที่ของตนเองกับทรัพยากรที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก ขั้นที่สี่ การวางโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคม ซึ่งที่ผ่านมาเรามีการวางโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมผิดพลาด ด้วยการวางนโยบายจากรัฐส่วนกลาง กระทรวงคมนาคมอยากได้แบบนี้ กรมสรรพากรอยากได้แบบนี้ สุดท้ายก็ไม่สามารถวางโครงสร้างได้เหมาะกับพื้นที่ และขั้นที่ห้า ด้วยความที่อำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านเรามีน้อยมาก และด้วยความที่ศักดิ์ศรีทางการเมืองของประเทศเราน้อย รวมไปจนถึงวิสัยทัศน์ของผู้นำและรัฐมนตรีต่างประเทศ ไม่สามารถที่จะทำให้ประเทศเพื่อนบ้านยอมรับได้ หรือมีน้ำหนักพอในการเจรจา หรือมีความประณีตในศิลปะการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อันนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการเปิดเศรษฐกิจชายแดน โดยผู้บริหารที่มีศักยภาพ" ธิวัชร์ กล่าว

ธิวัชร์ กล่าวว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ของเราเหมือนถูกแช่แข็งมานาน หรืออาจเปรียบกับคนที่กำลังจะจมน้ำ เมื่อคว้าอะไรได้ก็จะคว้า ซึ่งแบบนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ดีในการพัฒนาเศรษฐกิจ ตนคิดว่าการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ หลักแรกต้องคิดว่า ที่ผ่านมาเราพึ่งพิงกับขาใดขาหนึ่งอยู่หรือไม่ เช่นภาคการเกษตร เช่น ภาคการท่องเที่ยว อย่าง จังหวัดอย่างภูเก็ต กระบี่ หรือหาดใหญ่ที่พึ่งพิงกับภาคการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว เมื่อเกิดโควิดขึ้นมาเราก็จะเห็นได้ว่ามันล้มไปเลย ทำให้เม็ดเงินไม่หมุนเวียน เพราะฉะนั้น วิสัยทัศน์ของตนก็คือ การไม่ฝากไข่ไว้ในตระกร้าใบเดียว เราควรกระจายอัตราส่วนของภาคเศรษฐกิจที่หลากหลายมากขึ้น และหลักต่อมาคือต้องไม่ทำกิจกรรมที่ฝืนศักยภาพของพื้นที่ อย่างเช่นการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ ทั้งๆ ที่ในพื้นที่นี้มีมูลค่าการท่องเที่ยวกว่า 200,000 ล้านบาท สุดท้ายมันก็จะวนไปที่มาตรฐานของสิ่งแวดล้อม หากเรามีมาตรฐานทางสิ่งแวดล้อมดีเราก็จะมีมาตรฐานทางการท่องเที่ยวที่ดี และสุดท้ายเราต้องมองว่าทั้งภาคใต้ว่าอยู่ตรงไหนในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก แล้วก็ต้องเอาความเข้มแข็งของศักยภาพตรงนั้น ไปเกาะแล้ววางไว้บนการค้าโลก" ธิวัชร์ กล่าว