Skip to main content

ไม่เชื่อมั่นองค์กรกำกับดูแล! 'ศิริกัญญา' ชี้ 3 เหตุผลจำเป็นตั้ง กมธ.ศึกษาผลกระทบควบรวม 'ทรู - ดีแทค' หวั่นประชาชนเจอค่าบริการแพง - ยิ่งเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร 

ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล อภิปรายเสนอญัตติด่วน ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาผลกระทบ กรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคม บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ตนเองและคณะเป็นผู้เสนอ โดยระบุว่า การประกาศความร่วมมือ Equal partnership และมีข่าวการควบรวมกิจการทำให้สังคมเกิดความกังวล เนื่องจากทั้ง 2 บริษัทนี้มีบริษัทลูกเป็นผู้ถือใบอนุญาติให้บริการกิจการโทรศัพท์มือถือด้วยทั้งคู่ โดยที่กิจการโทรศัพท์มือถือเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของประชาชนในปัจจุบัน จึงน่ากังวลว่า โครงสร้างตลาดเดิมของธุรกิจโทรคมนาคมซึ่งมีความกระจุกตัวอยู่แล้วนั้น คือมีผู้ให้บริการหลักเพียง 3 ราย ส่วนรายที่ 4 นั้นมีส่วนแบ่งการตลาดน้อย หากการควบรวมครั้งนี้เกิดขึ้นจริง จะทำให้เหลือผู้ประกอบการเพียง 2 รายเท่านั้น โดยที่ทั้ง 2 รายจะกินส่วนแบ่งตลาดรวมกันถึง 98 เปอร์เซ็นต์ กลายเป็นตลาดที่มีระดับการผูดขาดที่เรียกได้ว่าเป็นอันตราย และง่ายต่อการใช้อำนาจเหนือตลาดอย่างไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค 

"มีผลการศึกษาในหลายประเทศทั่วโลกว่า แม้แต่การควบรวมเพื่อลดขนาดจาก 4 ราย เหลือ 3 ราย ก็จะทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าบริการที่จะสูงขึ้น ซึ่งแม้ต่อหน่วยอาจจะถูกลงแต่ก็จะถูกบังคับขายในแพ็คเกจที่มีราคาแพงขึ้น ซึ่งการควบรวมจาก 4 รายไป 3 ราย ก็มีบางกรณีที่องค์กรผู้กำกับดูแลหลายๆ ประเทศห้ามเพราะจะทำให้เกิดอำนาจเหนือตลาด แต่ทว่า สำหรับการควบรวมจาก 3 ราย เหลือ 2 รายนั้น แทบจะไม่มีเกิดขึ้นเลย ในระยะเกือบ 10 ปีที่ผ่านมานั้นมี 2 กรณีในยุโรป แต่ว่าองค์กรกำกับดูแลก็ไม่ได้ให้การอนุญาต อย่างไรก็ตามนอกจากเรื่องค่าบริการแล้ว ยังส่งผลกระทบเรื่องการเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตของประชาชนด้วย เพราะในปัจจุบันประชาชนใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วย ดังนั้น การแข่งขันที่ลดลงก็เท่ากับว่าต้นทุนการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนจะเพิ่มขึ้น ลดโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านดิจิทัลของประชาชนด้วย" ศิริกัญญา กล่าว 

ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า อีกเรื่องที่เป็นข้อกังวลยิ่ง เพราะปัจจุบันยังมีข้อถกเถียงจากนักวิชาการและภาคประชาสังคม เกี่ยวกับการกับดูแลขององค์กรของรัฐว่า สรุุปแล้ว ใครเป็นผู้มีอำนาจในการกำกับดูแลและพิจารณาอนุญาตให้เกิดการควบรวมในครั้งนี้ได้ เนื่องจากหน่วยงานที่มีอำนาจการกำกับดูแลเรื่องกิจการโทรคมนาคม อย่างคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก็ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องข้อกฎหมาย ส่วน คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ซึ่งควรต้องพิจารณาเรื่องควบรวม ก็กลับบอกว่าตนเองไม่มีอำนาจ เนื่องจากตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า นั้น ถ้ามีกฎหมายเฉพาะ จะต้องใช้กฎหมายเฉพาะ ซึ่งในกรณีนี้ก็จะเป็น พ.ร.บ.กสทช. ซึ่งก็มีปัญหาอีกเช่นกัน เนื่องจากได้มีการออกกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับ คือ ประกาศเกี่ยวกับการป้องกันการผูขาด พ.ศ.2549 ที่พูดเรื่องการขออนุญาตอย่างชัดเจน หากจะมีเรื่องการถือครองธุรกิจบริการประเภทเดียวกันเกินกว่าร้อยละ 10 จำเป็นต้องขออนุญาต แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีอีกฉบับ คือประกาศในปี 2561 เปลี่ยนจากเรื่องการขออนุญาตเป็นแค่การรายงาน นั่นเท่ากับว่า เป็นการผ่อนปรน เอื้อให้การควบรวมกิจการนั้นเป็นไปได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องขออนุญาต คือเท่ากับว่า กสทช.ไม่มีอำนาจในการยับยั้งการควบรวม เพียงแค่มีอำนาจในการออกมาตรการเฉพาะ หรือออกเงื่อนไขเพื่อรักษาระดับการแข่งขันเอาไว้เท่านั้น 

"ตรงนี้ทำให้เกิดข้อกังวลว่า การควบรวมกิจการที่จะส่งผลกระทบกับชีวิต กระทบกับผลประโยชน์ประชาชนและประเทศชาติขนาดนี้ ยังจำเป็นต้องมีการขออนุญาตหรือไม่ หรือสามารถกระทำได้โดยที่ไม่ต้องมีการกำกับดูแลแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า แม้ว่าทางบอร์ดจะได้มีการออกมาปฏิเสธว่าไม่มีอำนาจ แต่จริงๆ สามารถแสดงบทบาทหน้าที่ในการเข้ามาสอดส่อง ป้องกันการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการค้าที่จะกระทบกับการแข่งขันที่เป็นธรรมได้ คือป้องกันการฮั้วของทั้ง 2 เจ้านั่นเอง เพราะการควบบริษัทนี้จะไม่ได้เป็นแค่การรวม A กับ B แล้วเป็น A หากแต่เป็นการรวมแล้วเกิดบริษัทใหม่ขึ้นมา เท่ากับว่าต้องเป็นการรวมกันในทุกมิติกิจการ ดังนั้น ในกระบวนการเจรจา อาจจะมีขั้นตอนที่เรียกว่า Due Diligence คือการตรวจสอบกิจการซึ่งกันและกัน ซึ่งสุ่มเสี่ยงมากที่จะเข้าข่ายพฤติกรรมที่เข้าค่ายการปฏิบัติการการค้าไม่เป็นธรรม อาจจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวกับราคา เงื่อนไขบริการ แผนการลงทุนต่างๆ พฤติกรรมเหล่านี้อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อผู้บริโภคและการแข่งขัน แม้ว่าในท้ายที่สุดการควบรวมกิจการอาจจะไม่บรรลุผลสำเร็จก็ตาม" ศิริกัญญา กล่าว 

ศิริกัญญา กล่าวว่า สำหรับเหตุผลที่เห็นว่าจำเป็นที่จะต้องตั้ง กมธ.วิสามัญขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้ คือ 1. มีความกังวลของภาคประชาชน เรื่องการกำกับดูแลที่ย่อหย่อน ของทั้ง กสทช. และ กขค. ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลหลักที่สภาแห่งนี้จำเป็นต้องตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง เพราะนี่แทบเป็นเครื่องมือเดียวที่เหลืออยู่ในการกำกับตรวจสอบองค์กรอิสระต่างๆ ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการอื่นๆ 

2.กรณีนี้มีความซับซ้อนในเชิงเทคนิคที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะใน 2 เรื่อง คือ 1. เรื่องธุรกิจโทรคมนาคมที่มีความซับซ้อน และ 2.เรื่องกฎหมายทางการค้า ซึ่งก็มีความซับซ้อนเช่นกัน ทำให้จำเป็นต้องใช้กลไกผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกเข้ามามีส่วนร่วม และเหตุผลข้อที่ 3.ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาขององค์กรกำกับดูแล ทำให้เราขาดความไว้เนื้อเชื่อใจ กรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นอย่างการควบรวมกิจการค้าปลีกระหว่างซีพีกับเทสโก้ ทำให้เราเกิดความไม่เชื่อมั่นกับองค์กรที่กำกับดูแล ขณะที่ในส่วน กสทช.นั้น กว่า 10 ปี ที่คณะกรรมการชุดนี้ปฏิบัติหน้าที่มา มีหลายกรณีที่ทำให้เราเกิดความกังวล ไม่ว่าจะเป็นกรณีล่าสุดอย่างการยืดหนี้ค่าประมูล 4 จี ให้กับผู้ได้รับใบอนุญาติ 10 ปี โดยไม่มีดอกเบี้ยจากเดิมที่ต้องผ่อนชำระใน 4 ปี 

"กรณีการยืดหนี้ อาจจะไม่ใช่บอร์ดเป็นคนตัดสินใจ แต่เป็นกรณีที่บอร์ดเองถูกแทรกแซงโดย คสช. โดยคำสั่งมาตรา 44 ที่  4/2562 ให้ผ่อนชำระค่าประมูลได้ และยังมีการให้อำนาจเลขาธิการ กสทช. ข้ามหัวบอร์ด กสทช.อีกทีหนึ่ง ซึ่งบอร์ดกลับเพิกเฉยยอมให้ถูกกระทำ โดยไม่ออกมาปกป้องผลประโยชน์รัฐและประชาชน และยังเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือด้วย เพราะนี่เป็นการแก้ไขกติกาหลังประมูล ซึ่งไม่เป็นธรรมกับผู้เข้าร่วมประมูลรายอื่นๆ หรือเอกชนที่มีศักยภาพที่เข้าร่วมประมูล และตามคำสั่ง ที่ 4/2562 ยังมีการยกหนี้ที่กระทรวงการคลังใช้เงินของกองทุนวิจัยและพัฒนา ของ กสทช. คือมีการใช้ประกาศคำสั่ง คสช. 80/2557 แก้ พ.ร.บ. กสทช เรื่องวัตถุประสงค์การใช้เงินกองทุน จนล้วงเอาเงินกองทุนให้กระทรวงการคลังไปใช้ ต่อมาปี 2562 ก็ใช้คำสั่ง คสช. ในการยกหนี้ให้กระทรวงการคลังไม่ส่งต้องคืน ซึ่งนี่เป็นอีกครั้งที่บอร์ด กสทช.ยอมให้ฝ่ายรัฐบาลขณะนั้นแทรกแซงกิจการตนเองโดย ไม่ป้องประโยชน์ประชาชน ซึ่งนี่เพียงตัวอย่างที่องค์กรกำกับดูแลไม่ได้ทำหน้าที่ตัวเองอย่างภาคภูมิ จึงเป็นเหตุผลที่จำเป็นต้องตั้ง กมธ.วิสามัญครั้งนี้ ตรวจสอบคู่ขนาน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ประชาชนเป็นสำคัญ" ศิริกัญญา กล่าว