'ณัฐชา' ห่วง ความรุนแรงในพื้นที่ชุมนุม ส่ง 'คณะทำงาน' กมธ.พัฒนาการเมือง หาความจริง กรณียิงกระสุนใส่ผู้ชุมนุม 14 พ.ย.ทันที
ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร แสดงความเห็นต่อสถานการณ์การชุมนุมของประชาชนเมื่อวานนี้ (14 พ.ย.64) ว่า การชุมนุม เป็นทั้งสิทธิเสรีภาพและสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ภายหลัง ศาลรัฐธรรมนูญไทยวินิจฉัยว่า การปราศรัย “ชุมนุม 10 สิงหา” ที่เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ “เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยไม่สุจริต มีมูลเหตุจูงใจเพื่อล้มล้างการปกครอง” นั้น จะนำไปสู่ปฏิบัติการที่รุนแรงมากขึ้นของเจ้าหน้าที่ในการควบคุมฝูงชน ซึ่งที่ผ่านมาแนวทางปฏิบัติก็เลวร้ายมาตามลำดับ จากการส่งสัญญาณจากรัฐบาลในแต่ละครั้ง
"น่าเสียดายที่กลุ่มชนชั้นนำไม่เลือกที่จะรับฟังเสียงของประชาชนและปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย แต่กลับเลือกที่จะฉุดรั้งพัฒนาการของสังคมและการเมืองไว้ต่อไปผ่านกลไกต่างๆรวมถึงการใช้อำนาจตุลาการเป็นอีกเครื่องมือหนึ่ง การชุมนุมที่เกิดขึ้นเมื่อวานก็คือแรงสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของประชาที่มีต่อท่าทีเหล่านี้โดยตรงและคงจะยกระดับขึ้นอีก"
"ผมในฐานะผู้แทนราษฎรและประธาน กมธ.ที่มีบทบาทหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงอยากให้ผู้ที่มีอำนาจไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมคิดให้ดีๆ เพราะเรามีบทเรียนที่เป็นความสูญเสียเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งและเราสามารถที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้ประวัติศาสตร์หน้านี้ซ้ำรอยได้ด้วยการรับฟังและเปิดพื้นที่สำหรับความคิดความเห็นที่แตกต่าง"
อย่างไรก็ตาม ณัฐชา กล่าวว่า จากการติดตามอย่างใกล้ชิด ทำให้เห็นแนวโน้มที่รุนแรงมากขึ้นของสถานการณ์โดยเฉพาะฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ไม่ได้มาด้วยความอดทนอดกลั้นหรือเพื่อระงับยับยั้งเหตุตามลำดับขั้นตอนที่มีแนวปฏิบัติอยู่แล้ว แต่ดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการขณะนี้ จะมาด้วยการบ่มเพาะความโกรธและเกลียดชังเหมือนกำลังมองผู้ชุมนุมเป็นอริราชศัตรู ซึ่งการหล่อเลี้ยงอารมณ์ให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการอย่างไร้วุฒิภาวะเช่นนี้ถือเป็นสิ่งที่อันตราย
"ด้วยความเป็นห่วงต่อสถานการณ์และตระหนักได้ถึงความไม่ปกติที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการจึงได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 2 ชุด ชุดแรก คือคณะทำงานติดตามสถานการณ์การชุมนุม ที่มี อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล เป็นประธาน เมื่อวานก็อยู่ในพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์ด้วย พบว่า มีการมาตรการรุนแรงต่อผู้ชุมนุมทันทีตั้งแต่เริ่มต้น ไม่มีการรับฟังหรือทำความเข้าใจเพื่อพยายามไม่ให้มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บรุนแรงจากการยิงด้วยกระสุนที่ยังไม่ทราบชนิดว่าเป็นกระสุนยางหรือกระสุนจริง แต่สิ่งที่ระบุได้คือรูปแบบการยิงไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายซึ่งมีการยิงในระยะกระชั้นชิดของเจ้าหน้าที่และเป็นการยิงใส่ผู้ชุมนุม แนวปฏิบัติลักษณะนี้คือภาพสะท้อนตัวตนที่ชัดเจนของการปกครองที่มีผู้นำหลงอำนาจ ที่ไม่สามารถรับได้กับการเปิดให้สิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องปกติ เป็นพัฒนาการในทางที่เลวร้ายแตกต่างจากบรรยากาศในช่วงแรกที่มีการชุมนุมที่เจ้าหน้าที่มีความเข้าอกเข้าใจผู้ชุมนุมและมีท่าทีที่เปิดกว้างต่อการแสดงออกของประชาชนมากกว่านี้
สำหรับอีกชุดคือ คณะทำงานค้นหาความจริงจากเหตุความรุนแรงในพื้นที่ชุมนุม กรณีแรกคือการหาความจริงเหตุที่มีการใช้กระสุนจริงยิงใส่ผู้ชุมนุมหน้า สน. ดินแดงทำให้มีทั้งผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งเดิมทีตำรวจใช้ภาพจากเพียงกล้องตัวเดียวในการค้นหาผู้ต้องสงสัยและความคืบหน้าทางคดีเป็นไปอย่างล่าช้ามาก แต่คณะทำงานของเราใช้ข้อมูลจากกล้องจำนวน 54 ตัว สามารถชี้ให้เห็นกลุ่มผู้ต้องสงสัยได้และพบว่า อาจมีความเกี่ยวพันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทาง กมธ.ส่งข้อมูลทั้งหมดให้กับตำรวจแล้ว ผลจากรายงานนี้สามารถส่งผลกดดันจนมีการขยับจากตำรวจในการติดตามคดี แม้ว่าจะยังไม่สามารถตอบข้อสังเกตในรายงานของ กมธ ได้อีกหลายจุดก็ตาม แต่เราก็จะเกาะติดเรื่องนี้ต่อไป
"สำหรับเหตุรุนแรงที่มีขึ้นในการชุมนุมวันที่ 11 พ.ย. ที่มีผู้ชุมนุมถูกยิงอย่างน้อย 3 ราย บางรายยังมีอาการสาหัส ยังไม่ทราบว่าเป็นกระสุนชนิดใด เป็นกระสุนยางหรือกระสุนจริง อย่างไรก็ตาม กรณีนี้คณะทำงานของ กมธ.จะทำงานทันที เราจะใช้คณะทำงานทั้ง 2 ชุดติดตามสถานการณ์และหาข้อเท็จจริงเพื่อรายงานให้คณะกรรมาธิการได้ทำหน้าที่เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน จากนี้คงต้องติดตามดูกันต่อว่า ระหว่าง กมธ.กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ใครจะหาความจริงเพื่อคลายข้อกังขาให้กับสังคมได้ ที่พูดเช่นนี้ไม่ใช่การแข่งขัน แต่เราอยากกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำงานอยู่ได้บนความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชน" ณัฐชา กล่าว