Skip to main content

วันนี้ (28 ต.ค.) สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อและรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ สภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบให้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ผู้ได้รับสัมปทานในสัญญาโครงการฯ 50 ปี มูลค่ากว่า 224,544 ล้านบาท มาชี้แจงในคณะอนุกรรมาธิการฯ ในวันที่ 1 พ.ย. ซึ่งเป็นวันแรกที่เปิดสภาและเปิดประเทศ

สุรเชษฐ์ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ประชาชนจำนวนมากให้ความสนใจและมีข้อกังขาตลอดมาถึง ‘ความเป็นไปแล้ว’ ในการจัดโครงการนี้เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ทุนใหญ่ แต่ไม่สมหวังดังใจกลายเป็น ‘ทุกขลาภ’ ด้วยความล้มเหลวของรัฐบาลในการบริหารจัดการปัญหาโควิด ทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ใหญ่หลวงเกินกว่าที่ควรจะเป็น

"ประเด็นสำคัญตอนนี้อยู่ที่ความพยายามที่จะ ‘ผ่อนผัน’ ให้เอกชนไม่ต้องปฏิบัติตามสัญญาร่วมลงทุนที่จะต้องชำระค่าสิทธิ์ร่วมลงทุนในแอร์พอร์ต เรลลิงก์ (ARL) 10,671.09 ล้านบาท ภายใน 24 ตุลาคม 2564 ซึ่งหากยึดตามสัญญาก็ต้องถือว่าเอกชน ‘เบี้ยว’ ไม่จ่ายเงินตามกำหนดไปแล้ว ต้องพิจารณาโทษหรือค่าปรับตามสัญญา แต่รัฐบาลมีความพยายามที่จะช่วยเหลือเอกชน"

สุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติ ‘รับทราบและเห็นชอบ’ ตามที่ สกพอ. เสนอ โดย ‘เลี่ยง’ ประเด็นการ ‘เบี้ยว’ สัญญา โดยใช้ช่อง MoU (Memorandum of Understanding) ให้หน่วยงานทั้ง 3 ที่คณะอนุกรรมาธิการฯ จะเชิญมาชี้แจงไปตกลงกันเองว่าจะผ่อนผันการชำระค่าสิทธิ์ร่วมลงทุนอย่างไร ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับดูแลฯ ได้ประชุม 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 และวันที่ 7 กันยายน 2564 โดยมีมติว่า "สถานการณ์โรคระบาดของโควิด-19 ไม่ถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยหรือเหตุผ่อนผันในการไม่ชำระเงินใดๆ ตามสัญญาร่วมลงทุนฯ ข้อ 28.1(3)(ข)"

"จุดยืนของพรรคก้าวไกลและผมในฐานะผู้แทนราษฎรคือทำหน้าที่ตรวจสอบเพื่อรักษาผลประโยชน์ให้พี่น้องประชาชน พวกเราเข้าใจถึงผลกระทบจากสถานการณ์โควิดและความจำเป็นที่จะต้องจัดให้มีบริการสาธารณะอย่างต่อเนื่อง แต่การเจรจากับเอกชนต้องเป็นไปอย่างสมเหตุสมผลและโปร่งใส หากเป็นไปตามข่าวที่ว่าเอกชน ‘ขอแบ่งจ่าย 10 งวด 10 ปี’ ผมถือว่ามันน่าเกลียดเกินไปมาก จึงจำเป็นต้องมีการประชุมเพื่อตรวจสอบรายละเอียดและป้องปรามไม่ให้มีการเอื้อประโยชน์ให้นายทุนอย่างเกินงาม"