'ธัญวัจน์' ก้าวไกล เห็นด้วยหากรัฐบาลจะสนับสนุน Soft Power พร้อมระบุว่า อย่าตื่นตัวเพียงเพราะเห็นความสำเร็จของ LALISA แต่ต้องจริงจังและส่งเสริมให้ตลอดรอดฝั่ง
ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีออกมา เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพร้อมผลักดัน 'Soft Power' ไทย สร้างมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ Creative Economy อยู่ในโมเดลเศรษฐกิจ BCG แล้ว มั่นใจคนไทยมีฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ระดับโลก เช่น MV ลิซ่า นำงานหัตถศิลป์ไทยโชว์ทั่วโลก
ธัญวัจน์ ระบุว่า จากข้อมูลข้างต้น ตนในฐานะผู้ที่เคยเป็นผู้ที่ทำงานด้านนี้มาก่อน และเห็นพลังจากซอฟต์พาวเวอร์ รู้สึกเห็นด้วยอย่างยิ่งหากรัฐบาลจะสนับสนุนและผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทย สร้างมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ Creative Economy อยู่ในโมเดลเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญที่สุด เจตนารมณ์ดังกล่าวนี้ต้องไม่ใช่แค่การตอบรับตามกระแส แต่รัฐบาลต้องดำเนินการให้เกิดขึ้นจริง อีกทั้ง อยากให้รัฐบาล เปิดพื้นที่รับฟังปัญหาของศิลปิน นักดนตรี นักเต้น ในเมืองไทย ที่ในขณะนี้ที่กระเสือกกระสนในอุตสาหกรรมบันเทิง ที่ไร้การสนับสนุนและผลักดันจากนโยบายรัฐ
ภาพความสำเร็จของลิซ่า ที่นานาชาติได้เห็นขณะนี้ ต่างต้องผ่านการฝึกฝนอย่างหนัก ความมุ่งมั่น และการสนับสนุนที่มากพอที่จะทำให้พวกเขาสามารถยืนหยัดในสิ่งที่ทำได้อย่างยาวนาน ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องจริงจังมากกว่าการออกมาขานรับความสำเร็จคือ การวางระบบอุตสาหกรรมด้านนี้อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนา ทรัพยากรเด็กและเยาวชน รวมถึง เครือข่ายทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมบันเทิง อย่างเช่นเกาหลีมองบุคคลที่จะมาเป็นศิลปินเขาคัดเลือกคนจากหลายประเทศนี่คือการสร้างเครือข่ายเพื่อคนที่จะไม่ได้เป็นเพียงนักร้องศิลปินในประเทศของเขาเท่านั้น จากทวีปเอเชียวันนั้นสู่ทั่วโลกวันนี้
หลักคิดของผู้ผลิตงานที่จะเป็น 'ต้นแบบ' ได้นั้นต้องใช้เวลา ทรัพยากร และ การสร้างงานที่พิถีพิถัน และ ความคิดสร้างสรรค์ 'กล้านอกกรอบ' นั่นหมายถึงว่าเราต้องขยายความเป็นไทยออกไปไม่กักขังความเป็นไทยในแบบดั่งเดิม วันนี้ในโรงเรียนต่างอาจมีการสอนรำไทย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดอะไร แต่ถามว่าวันนี้รัฐสนับสนุนการเรียน 'บัลเลต์' การเต้นสากลอื่นๆ ที่เป็นพื้นฐานที่ดีกับการ 'ต่อยอด' ให้เด็กที่พรสวรรค์ได้เติบโตและมีคุณภาพในวงการได้หรือไม่ วันนี้ตนยังเห็นเด็กประกวดเต้นต้องหัดกันเองบ้าง หาเงินเรียนเต้นบ้าง แถมเรียนได้สัปดาห์ละวัน หรือหาทุนไปประกวดส่งและผลักดันตนเองบ้าง ซ้ำร้ายไปกว่านั้น เมื่อทุ่มเทเวลามากหลายปี พอเติบโตขึ้นไปก็ไม่สามารถประกอบอาชีพที่ยั่งยืนได้ ต้องรับงานเยอะ ๆ เมื่อรับงานเยอะก็ไม่มีเวลาสร้างงาน และเมื่อสร้างงานแล้วก็ไม่มีพื้นที่ ไร้การสนับสนุน อย่าว่าแต่นักเรียน เด็ก เยาวชน เลย ครูสอนบัลเลต์ สอนเต้น ที่จะเป็นคนคอยสร้างงาน ยังต้องรับงานซ้อมเต้น 3 วัน แสดงเลย ไม่มีการสนับสนุนการแสดงแบบโรงละครเป็น Ballet Company หรือ Dance Company แบบต่างประเทศ
เพราะไม่ใช่ศิลปะ หรือ นาฏยศิลปรำไทยแบบดั่งเดิม ดังนั้นพวกหัวคิดศิลปะ “สากล” ก็ต้องกระเสือกกระสนหาทางรอดกันเดือนต่อเดือน ก่อนจะส่งออกวัฒนธรรมซึ่งเป็นความคิดที่ดี แต่สังคมเรายังไม่ได้รับการสนับสนุน จะให้รุ่มรวยทางวัฒนธรรมจนเอ่อล้นไปนานาประเทศก็คงสู้เขายาก
Soft Power นั้นไม่ใช่วัฒนธรรมประเพณีนิยม “การแช่แข็ง” ที่เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ หากรัฐจะสร้าง Soft Power นั้นหมายถึงต้องเขาใจคำว่า 'Pop' ด้วย เพราะนั่นคือการที่วัฒนธรรมเพลง ละคร ภาพยนตร์ จะสามารถทำงานไปสู่ครอบครัวได้ เพราะงานเหล่านี้ให้คุณค่าความบันเทิง ความสุข ที่มีอารมณ์มนุษย์เป็นพื้นฐาน รัก โลภ โกรธ หลง ไม่ใช่ความรู้สึกแบบประเพณี หรือ ความเชื่อสำหรับการกราบไหว้เพราะสิ่งเหล่านี้ทั่วโลกเขาไม่อิน
"นายกรัฐมนตรีภูมิใจใน 'ชุดไทย' ก็เป็นเรื่องที่ดีไม่ผิดอะไรที่จะนำเสนอความเป็นไทยสู่สากล แต่ไม่อยากให้หลงประเด็นเพราะจริง ๆ แล้ว 'ลิซ่า' ก็เป็นคนไทยในชุดต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ชุดใส่ชฎาอย่างเดียว จึงอยากให้ท่านนายกมองให้กว้างออกไปว่า 'ลิซ่า' คือคนไทยนั้นก็เพียงพอที่จะนำเสนอความเป็นไทยแล้ว จะได้ไม่มองคนไทยที่ไม่ใส่ 'ชฎา' เป็นคนคิดต่าง" ธัญวัจน์ กล่าว