Skip to main content

'ปดิพัทธ์' ชวนจับตาโหวตแก้ไข รธน. วาระ 3 ชี้ ร่าง ปชป. มีปัญหาชัดเจนและมีความพยายามสอดไส้ ทำผิดกระบวนการนิติบัญญัติรัฐสภา ส่อเค้ามีปัญหาตามมา 

วันที่ 9 ก.ย. ที่อาคารรัฐสภา ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก เขต 1 พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ. … สัดส่วนพรรคก้าวไกล เเถลงต่อสื่อมวลชนถึงจุดยืนของพรรคก้าวไกลในการลงมติในวาระที่ 3 

ปดิพัทธ์ กล่าวว่า อยากให้พี่น้องประชาชนมองภาพใหญ่ด้วยกันว่า  หลังการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เเละการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในวาระ 2 ที่ผ่านมา เห็นชัดเจนถึงความไม่เเน่นอนของรัฐบาล เเละเสถียรภาพทางการเมือง จึงเชื่อว่าการลงมติในวันพรุ่งนี้ ( 10 ก.ย. 64) ตนคิดว่าน่าจะมีปัญหา 

ในประเด็นเเรก ร่างของพรรคประชาธิปัตย์ มีการเขียนหลักการที่เเคบมาก และมีความพยายามนำร่างที่ตกเเล้วในวาระ 1 มาสอดไส้ โดยไม่ฟังเสียงค้านใดๆ สุ่มเสี่ยงการทำลายนิติธรรม และมาตรฐานกระบวนนิติบัญญัติของสภา

ประเด็นที่สอง ไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานกรรมาธิการคือบุคคลที่ขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตลอด และสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของประยุทธ์ ที่ผ่านมาจึงเป็นเพียงการมาแสดงบทอยากแก้รัฐธรรมนูญเท่านั้น

ประเด็นที่สาม  กรรมาธิการแก้ไขเกินหลักการ จนต้องเรียกประชุมด่วนก่อนวาระ 2 เพียงไม่กี่ชั่วโมง แล้วถอนมาตราที่อาจเกินหลักการไปหมด

ประเด็นที่สี่ ชัดเจนด้วยคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ รัฐศาสตร์ ว่าระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบแบบ MMM ในปี 40 เป็นระบบที่จำนวนที่นั่งเบี่ยงเบน เอื้อพรรคใหญ่ กินรวบทั้งกระดาน แต่สองพรรคใหญ่ก็จะเอาให้ได้ ไม่สนความเป็นธรรม ไม่สนบทเรียนการเมืองปี 40-50 

ประเด็นสุดท้าย  มาตราที่คงไว้ ไม่มีการแก้ไข โดยเฉพาะมาตรา 93 และ 94 มีคำว่า 'พึงมี' 'พึงได้' ทำให้ยังไงก็เป็นการคิดคะแนนแบบรัฐธรรมนูญ 60 และจะส่งผลต่อกฏหมายลูกแน่นอน 

ปดิพัทธ์ กล่าวต่อไปว่า พรรคก้าวไกล ยังยืนยันว่า ไม่ได้กลัวการเลือกตั้งไม่ว่ารูปแบบไหน พรรคการเมืองมีหน้าที่ปรับตัวให้สอดรับกับการเลือกตั้ง  เเต่หากพรรคใหญ่จะเอาให้ได้ ไม่สนต่อความชอบธรรมซึ่งมีความชัดเจนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรอบนี้ไม่มีความชอบธรรม  รวมทั้งนักวิชาการ สื่อมวลชน ฝ่ายการเมืองต่างๆ แสดงความเห็นออกมาชัดเจนแล้วว่า กติกานี้เอื้อพรรคใหญ่และสังเกตได้ถึงการร่วมไม้ร่วมมืออย่างผิดสังเกตของพรรคใหญ่  

อย่างไรก็ตาม ชัดเจนว่า สิ่งสำคัญคือเราต้องแก้ไขโครงสร้างอำนาจของ ส.ว ซึ่งเป็นการเอื้อให้กับระบอบคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช.) เพราะนั่นคือเผด็จการประชาธิปไตย ส่วนกระบวนการนิติบัญญัติจะต้องแก้ไขด้วยความเป็นธรรม ฝ่ายการเมืองต่างๆ ต้องประเมินให้ดีว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นความด่างพร้อยของการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยในวันนี้พรรคก้าวไกลจะหารืออีกครั้ง ถึงประเด็นในการลงมติที่จะเกิดขึ้น