(1) ข้อถกเถียงเรื่องชุดตรวจโควิด-19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตัวเองและรู้ผลเร็ว (Antigen Test Kits) ที่เรียกสั้นๆ ว่า ATK ยังเกิดขึ้นรายวัน โดยล่าสุด บริษัทเวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ จำกัด ผู้ชนะประมูลจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ให้เป็นผู้จัดซื้อจัดหาและนำเข้าชุดตรวจนี้ ได้ยื่นจดหมายทักท้วงถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อ 19 ส.ค. เพื่อให้ทบทวนข้อสั่งการ ข้อ 6 ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ 17 ส.ค. ที่ระบุว่าการจัดหาชุดตรวจ ATK ในประเทศไทยต้องผ่านการรับรองทั้งจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทย และองค์การอนามัยโลก (WHO)
(2) เวิลด์ เมดิคอลฯ ในฐานะตัวแทน บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด ที่เข้าประมูลงานจาก อภ.ระบุในจดหมายว่า ข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จะส่งผลให้การเซ็นสัญญาระหว่าง อภ.กับบริษัท ออสท์แลนด์ฯ "ไม่สามารถเดินต่อไปได้" เพราะชุดตรวจโควิดแบบตรวจหาแอนติเจน (ATK) ที่ออสท์แลนด์เป็นผู้นำเข้า ยังไม่ผ่านการรับรองให้ใช้งานเป็นกรณีฉุกเฉินจาก WHO และย้ำด้วยว่า ขณะนี้ยังไม่มีชุดตรวจ ATK บริษัทใดในระดับโลกที่ผ่านการรับรองของ WHO เช่นกัน
(3) The Opener สืบค้นข้อมูลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ WHO พบว่ายังไม่มีชุดตรวจโควิดแบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเองของบริษัทใดผ่านการรับรองของ WHO จริง โดยอ้างอิงข้อมูลปรับปรุงล่าสุดในเดือน ก.ย.2563 โดยบริษัทเดียวที่ WHO รับรองชุดตรวจแอนติเจนแบบรู้ผลเร็วเพื่อใช้เป็นกรณีฉุกเฉิน ได้แก่ SD Biosensor Inc. จากเกาหลีใต้ แต่ผลิตภัณฑ์ที่รับรองเป็นชุดตรวจรุ่น STANDARD Q COVID-19 Ag Test รหัส 09COV30D ซึ่งเว็บไซต์ของบริษัทเองระบุเอาไว้ชัดเจนว่าผู้ใช้ชุดตรวจนี้ต้องเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือเจ้าหน้าที่ในห้องแล็บเท่านั้น
(4) แม้จะยังไม่มีชุดตรวจชนิดนี้ของบริษัทใดผ่านการรับรองจาก WHO แต่ อย.ไทยเผยแพร่รายชื่อชุดตรวจโควิดแบบรู้ผลเร็ว (Rapid Test Antigen หรือ Antigen Test Kits) แบบตรวจหาเอนติเจนด้วยตนเอง เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยมี 5 ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการอนุญาตให้ผลิต/ นำเข้าจาก อย. ได้แก่
• ชุดตรวจ STANDARD Q COVID-19 Ag Home Test รหัสสินค้า Q-NCOV-03G ของบริษัท SD Biosensor Inc.จากเกาหลีใต้ นำเข้าโดยบริษัท บริษัท เอ็มพี กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด
• ชุดตรวจ SARS-CoV-2 Antigen Self Test Nasal รหัสสินค้า 9901-NCOV-06G ของบริษัท SD Biosensor Inc.จากเกาหลีใต้ นำเข้าโดย บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด
• ชุดตรวจ SARS-CoV-2 Antigen Test Kit (GICA) รหัสสินค้า K602-1H, K602-5H, K602-1S และ K602-5S แบบตรวจสารคัดหลั่งจากโพรงจมูก (Nasal Swab) และแบบตรวจจากน้ำลาย (Saliva) ของบริษัท Shenzhen Kisshealth Biotechnology Co., Ltd จากจีน นำเข้าโดย บริษัท เจเนอรัลไซเอนซ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด
• ชุดตรวจ SARS-CoV-2 Antigen Rapid Test Kit (Colloidal Gold Immunochromatography) ของบริษัท Beijing Lepu Medical Technology จากจีน นำเข้าโดยบริษัท บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด
• ชุดตรวจ BIOSYNEX Autotest ANTIGENIQUE COVID-19 Ag รหัสสินค้า 859256 และ 859261 ของบริษัท BIOSYNEX SWISS SA, จากสวิตเซอร์แลนด์ นำเข้าโดย บริษัท ดับเบิ้ล เอส ไดแอคนอสติคส์ จำกัด
(5) คู่มือชั่วคราวของ WHO ที่เผยแพร่ล่าสุดเมื่อ 25 มิ.ย.2564 ให้คำแนะนำเรื่องการวางแผนยุทธศาสตร์และประเมินศักยภาพการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระดับประเทศเอาไว้ว่า ชุดตรวจ ATK ที่ WHO เรียกว่า Ag RTD (Antigen Rapid Test Device) มีความเสี่ยงจะคลาดเคลื่อนได้ ในระยะแรกของการป้องกันโรคแพร่ระบาดจึงไม่ได้แนะนำให้ใช้วิธีการนี้ และให้ใช้ชุดตรวจที่ดำเนินการจากห้องแล็บเป็นหลัก แต่เมื่อเชื้อสายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาดในวงกว้างหลายประเทศ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ชุดตรวจ ATK ในการคัดกรองผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะในชุมชนหรือคลัสเตอร์การแพร่ระบาดที่มีขนาดใหญ่ เพื่อนำตัวผู้ติดเชื้อเข้าสู่กระบวนการรักษาพยาบาลโดยเร็วที่สุด
(6) WHO ย้ำว่าผู้ใช้ชุดตรวจ ATK ควรกักตัวต่ออีก 3-5 วัน แม้ว่าผลที่ได้จะเป็นลบ และตรวจซ้ำอีกครั้งเมื่อครบกำหนดกักตัว ส่วนผู้ที่มีกลุ่มอาการเข้าข่ายติดโควิดในระดับรุนแรง แต่ผลตรวจ ATK เป็นลบ ควรนำตัวเข้ารับการรักษาหรืออยู่ในความดูแลของแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และต้องตรวจผลซ้ำเช่นเดียวกัน แต่ละประเทศควรวางแผนตรวจคัดกรองโดยมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน แต่ต้องสามารถปรับแก้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์แพร่ระบาดที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงต้องวางแผนจัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศนั้นๆ ด้วย