Skip to main content

สำนักข่าวนิกเคอิของญี่ปุ่นระบุว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้เห็นว่า ตัวเลขที่ทางการไทยเปิดเผยไว้ว่า อัตราการว่างงานของไทยอยู่ที่เกือบ 2% นั้นไม่ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งตัวเลขที่ต่ำ ทำให้มองไม่เห็นปัญหาที่แท้จริง และไม่สามารถออกนโยบายที่เหมาะสมมาแก้ได้

นิกเคอิเผยแพร่รายงาน Thailand's COVID crisis exposes the reality of '2% unemployment' เมื่อ 17 ส.ค. บ่งชี้ว่า ไทยใช้เกณฑ์ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่จะไม่นับว่าเป็นคนว่างงาน หากทำงานอย่างน้อย 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เช่น ไกด์ทัวร์ในภูเก็ตที่ไม่ได้ทำงานมากว่า 15 เดือนแล้วเพราะโควิด-19 ระบาด จึงต้องหันมาทำผัดไทขาย ก็ไม่ถูกนับเป็นคนว่างงาน นอกจากนี้ มากกว่า 19 ล้านคนของแรงงานไทย (จากทั้งหมดราว 38 ล้าน) อยู่ในภาคแรงงานนอกระบบ ซึ่งไม่ถูกนับรวมอยู่ในจำนวนคนว่างงาน จึงทำให้ตัวเลขอัตราการว่างงานอย่างเป็นทางการของไทยอยู่ในระดับต่ำ 

รายงานอัตราการว่างงานฉบับล่าสุดของไทยระบุว่า อัตราการว่างงานในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้อยู่ 1.96% ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 12 ปี (ไตรมาสแรกของปี 2563 อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.03% และในไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 อยู่ที่ 1.86%) และมีการคาดการณ์ว่าตัวเลขนี้จะสูงขึ้น หลังจากที่สายพันธุ์เดลตาระบาดหนักในไทย แม้ตัวเลขของไทยจะต่ำกว่าประเทศเพื่อนและประเทศพัฒนาแล้ว ที่อัตราการว่างงานในสิงคโปร์อยู่ที่ 3.8% ญี่ปุ่น 3.0% สหรัฐฯ 5.8 % และฟิลิปปินส์ 7.7% แต่อัตราการว่างงานที่ต่ำนี้ไปบดบังปัญหาอื่นๆ 

โควิด-19 ทำให้เห็นว่าไทยพึ่งพาภาคท่องเที่ยวมากเกินไปในการสร้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจ คิดเป็น 12% ของจีดีพี ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่พึ่งพาการขายสินค้าให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ผับบาร์ในเมืองท่องเที่ยว ทำให้แรงงานในภาคท่องเที่ยวต้องออกไปทำเกษตรหรือขายของ เพื่อให้มีรายได้เลี้ยงตัวเองได้บ้าง แต่ก็ยังไม่สามารถทำรายได้ได้มากเท่าเดิม แม้รัฐบาลไทยจะมีมาตรการช่วยเหลือด้านเงินกู้ให้กับธุรกิจขนาดกลางและเล็ก และมีมาตรการเยียวยาแรงงานนอกระบบ ฟรีแลนซ์ คนขับแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง พ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอย แต่เงินเยียวยาเหล่านี้มักล่าช้าและต้องผ่านกระบวนลงทะเบียนที่ซับซ้อนยุ่งยาก

ส่วนปัญหาระยะยาวที่เกิดจากข้อมูลอัตราการว่างงานที่ต่ำจนไม่น่าเชื่อถือก็คือ ตัวเลขที่ต่ำทำให้มองไม่เห็นปัญหาที่แท้จริงและไม่สามารถออกนโยบายที่เหมาะสมมาแก้ได้ รัฐบาลที่บางส่วนมาจากการรัฐประหารจึงให้ความสำคัญกับปัญหาระนะสั้นอย่างการรักษาอำนาจของตัวเอง และละเลยปัญหาระยะยาว เช่น การปรับระบบการศึกษาเพื่อเตรียมพร้อมแรงงานเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งขยายตัวอย่างมากหลังโควิด-19 ระบาด และหากแรงงานไม่มีทักษะจำเป็นเหล่านั้นก็จะทำให้พวกเขาต้องทำงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับทักษะที่ตัวเองมี งานที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ หรืออาจว่างงาน

ปัญหาความเหลื่อมล้ำหนักอยู่แล้วยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นช่วงโควิด-19 ระบาด และการเลื่อนการเปิดประเทศเนื่องจากสายพันธุ์เดลตาระบาด ล้วนเป็นปัจจัยที่จะทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางการเมือง เพราะหากมีคนว่างงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การประท้วงก็มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น เพราะหลายคนมองว่าความถดถอยในภาคแรงงานเกิดขึ้นนับตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 และการบริหารประเทศที่ล้มเหลวของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาในช่วงโควิด-19 ระบาด