Skip to main content

สงครามหรือความขัดแย้งในพื้นที่ต่างๆ มักอยู่ในความสนใจของผู้คนทั่วโลก เรามักได้เห็นความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับผู้คน บ้านเมือง และเศรษฐกิจ แต่การนำเสนอข้อมูลจากพื้นที่สงครามหรือพื้นที่ความขัดแย้งก็มีอุปสรรคและข้อควรระวังมากมาย ที่สำคัญ สื่อมักจะตกเป็นเป้าการโจมตีเสมอ และหากเป็นผู้หญิงก็มีความเสี่ยงมากขึ้นเป็น 2 เท่า

โดยทั่วไปแล้ว สำนักข่าวหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งต่างๆ จึงต้องมีการจัดอบรมหลักปฏิบัติในการเข้าไปทำข่าวหรือนำเสนอเนื้อหาต่างๆ ในพื้นที่ความขัดแย้ง ก่อนที่จะส่งคนเข้าไปทำงานในพื้นที่ เพราะการไม่ทำตามหลักปฏิบัตินั้น นอกจากจะทำให้เสี่ยงเกิดอันตรายต่อชีวิตของตัวสื่อเอง หรือเป็นอันตรายต่อชุมชนที่สื่อลงไปทำข่าว ดังนั้น หลักการนี้ก็น่าจะใช้กับสื่อใหม่ๆ อย่างยูทูบเบอร์ หรือบล็อกเกอร์ต่างๆ ได้เช่นกัน

องค์กรสื่อไร้พรมแดมได้จัดทำคู่มือด้านความปลอดภัยไว้ให้สื่อศึกษาก่อนที่ลงไปทำงานในพื้นที่เสี่ยงภัย ไว้ดังนี้

เตรียมตัว

ก่อนเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง ต้องเตรียมร่างกาย จิตใจและความรู้ และต้องหาข้อมูลให้ละเอียดเกี่ยวกับพื้นที่นั้น ตั้งแต่เรื่องความมั่นคง สภาพสังคม การเมือง วัฒนธรรม วิธีปฏิบัติตัว และที่พักอาศัย ซึ่งจะให้ดี ควรหาของข้อมูลจากคนพื้นที่ที่ไว้ใจได้ ติดต่อเจ้าหน้าที่สถานทูตของตัวเอง NGO นักวิจัย เจ้าหน้าที่ทหารที่คุ้นเคยกับพื้นที่ หรือสื่อที่มีประสบการณ์มากกว่า เพื่อให้คนเหล่านี้ช่วยประเมินความเสี่ยง และเพื่อขอความช่วยเหลือในกรณีจำเป็น

นอกจากนี้ ยังต้องเรียนรู้ขั้นตอนด้านความปลอดภัยและการสื่อสาร โดยสำนักข่าวที่ได้มาตรฐานสากลมักจะให้ผู้สื่อข่าวฝึกอบรมการรับมือกับสถานการณ์คับขันต่างๆ เช่น เรียนรู้วิธีสังเกตกับระเบิด การเดินทางให้พื้นที่ต่อสู้ หรือจำลองสถานการณ์การถูกลักพาตัว

ก่อนไปควรตั้งคำถามกับตัวเองหลายข้อ เช่น เรารู้เกี่ยวกับพื้นที่ที่จะไปมากพอไหม? เรื่องที่จะไปทำคุ้มค่ากับความเสี่ยงหรือไม่? มีความเสี่ยงอะไรบ้างที่ต้องเจอและเราเตรียมตัวดีแค่ไหนจากความเสี่ยงด้านสุขภาพ ความขัดแย้ง ความเสี่ยงถูกลักพาตัว ถูกโจมตีด้วยระเบิด เป็นต้น

ช่วงปฏิบัติงาน

อย่ามั่นใจในตัวเองมากไป เพราะจะทำให้เราประมาทและตกอยู่ในอันตรายได้ เตรียมพร้อมรับความเสี่ยง ใช้สัญชาตญาณของตัวเองให้มาก เพื่อเตือนตัวเองว่า การเก็บภาพ วิดีโอหรือนำเสนอเรื่องราวในพื้นที่อาจไม่คุ้มกับการแลกด้วยชีวิต  อีกทั้งยังจำเป็นต้องเลือกที่พักที่ปลอดภัย ไม่อยู่ห่างไกลจากถนนเส้นหลักและสนามบิน หากมีเหตุฉุกเฉินจะได้เดินทางออกนอกประเทศได้ทันที

ก่อนออกจากที่พักควรเตรียมอุปกรณ์สำหรับการเอาตัวรอดในยามคับขัน เช่น เสื้อผ้าอุ่นๆ อาหาร น้ำดื่ม ชุดปฐมพยาบาล และศึกษาเส้นทางและตารางเวลาให้ดี รวมถึงจุดตรวจต่างๆ ว่าใครเป็นคนดูแลในพื้นที่นั้น และในเวลากลางคืนควรปิดโทรศัพท์ กล้อง เครื่องบันทึกเสียง ระวังการใช้เสียงและแสง ไม่ควรเดินทางไปไหนตอนกลางคืน

ไม่ควรสัมภาษณ์หรือใช้เวลาถ่ายทำบนถนนนานเกินไป เพราะการถือไมค์และกล้องวิดีโอจะทำให้ตกเป็นเป้าได้ง่าย ในกรณีที่ถูกข่มขู่ ควรรักษาระยะห่างกับแหล่งข่าว เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับตัวเองและแหล่งข่าว

หากมีการโจมตี ไม่ควรเข้าไปในพื้นที่การโจมตี ยกเว้นว่าไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว ให้หมอบลงกับพื้น และหาที่กำบัง เช่นหลุ่มหลบภัยใต้ดิน หรือหลบหลังกำแพงหนา หรือหากเกิดระเบิดในเมือง ให้หมอบลงกับพื้นและคลานไปพื้นที่ปลอดภัยที่ใกล้ที่สุด เพื่อป้องกันตัวเองจากแรงระเบิด เช่น ในหลุมหลบภัยใต้ดิน บริเวณกลางอาคาร ไกลจากหน้าต่าง และป้องกันศีรษะ นอกจากนี้ยังไม่ควรเดินทางออกนอกเส้นทางที่มีคนใช้ประจำ เพราะอาจมีการวางกับระเบิดไว้

นี่เป็นเพียงหลักปฏิบัติเบื้องต้นเท่านั้น ยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับความปลอดภัยอีกหลายด้าน เช่น หลักปฏิบัติเมื่อถูกลักพาตัว ถูกข่มขู่เอาชีวิต หรือมีความเสี่ยงต่ออุปกรณ์ดิจิทัลอยู่ในหลักปฏิบัติของสื่อไร้พรมแดน ที่แนะนำไว้ให้สำหรับสื่อที่ต้องการเข้าไปนำเสนอเรื่องราวหรือมุมมองจากในพื้นที่สงครามและความขัดแย้ง ได้เรียนรู้ไว้ก่อนลงพื้นที่