พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กถึงความคืบหน้าจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2565 ที่มีวงเงินกว่า 3.1 ล้านล้านบาท โดยจะมีการพิจารณาอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 29 -30 กรกฎาคม 2564 หลังจากนั้นจะส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาวาระ 2-3 อีกครั้งในช่วงกลางเดือนสิงหาคมนี้
จากการตัดลดงบประมาณจากห้องอนุกรรมาธิการหรือห้องย่อยแยกตามหมวดการพิจารณาต่างๆ ในภาพรวมแล้วนั้นมีวงเงินงบประมาณที่สามารถตัดได้กว่า 2.4 หมื่นล้านบาท โดยมีโครงการที่สิ้นเปลือง น่าตั้งข้อสงสัย รวมไปถึงบางโครงการที่ยังไม่ถูกตัดงบในชั้นกรรมาธิการ ดังนั้นทางกรรมาธิการของพรรคก้าวไกลพิจารณาแล้วเห็นว่าควรมีการปรับลดงบประมาณเพื่อยับยั้งโครงการที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน ดังต่อไปนี้
1. โครงการให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาลเมียนมา ในส่วนของการสร้างระบบกำจัดขยะและน้ำประปาที่เมียวดี วงเงิน 104 ล้านบาท และเงินนอกงบประมาณอีก 760 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์การรัฐประหารในเมียนมาที่มีการเข่นฆ่าและละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง ทางการไทยก็ควรงดให้ความช่วยเหลือชั่วคราวแก่รัฐบาลเมียนมาเช่นเดียวกับนานาชาติ
2. โครงการสร้างเขื่อนแข็งกันคลื่นของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ที่ไม่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หลายพื้นที่การก่อสร้างเหล่านี้ทำให้การกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงขึ้น ซึ่งพรรคก้าวไกลเสนอตัดงบประมาณ 116.5 ล้านบาท
3. โครงการจัดซื้อยุทโธปกรณ์อาวุธและอุปกรณ์ควบคุมฝูงชนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เนื่องจากอาวุธสงครามหลายรายการ เช่น ปืนเล็กสั้น (Carbine) ปืนเล็กยาว (Rifle) ปืนกลมือ (Submachine gun) ไม่ใช่การใช่การใช้อาวุธที่เหมาะสมสำหรับตำรวจที่เป็นเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายฝ่ายพลเรือน และการตั้งคำถามถึงแนวการปฏิบัติในการควบคุมฝูงชนก็ไม่ได้รับคำตอบในกรรมาธิการ ซึ่งพรรคก้าวไกลเสนอตัดงบประมาณ 800 ล้านบาท
.
4. โครงการจัดหาอากาศยานไร้คนขับประจำฐานบินชายฝั่ง ของกองทัพเรือ ซึ่งถูกตั้งไว้ในงบประมาณ 65 จำนวน 820 ล้านบาท และผูกพันไปอีก 4 ปี รวมงบประมาณทั้งโครงการ 4,100 ล้านบาท เนื่องจากเป็นการจัดซื้ออาวุธที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ประเทศ อีกทั้งในปัจุบันกองทัพอากาศในต่างประเทศ เช่น ในสหรัฐอเมริกา และ อินเดีย ต่างก็พิจารณาปรับลดหรือเลิกซื้อโดรนขนาดใหญ่แล้ว เนื่องจากปัญหาว่า ราคาแพง ถูกตรวจจับง่าย แล้วก็ตกง่ายด้วยอุบัติเหตุ
5. โครงการศึกษาความเหมาะสมโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล วงเงิน 25 ล้านบาท ซึ่งจะผูกพันไป 3 ปี 125 ล้านบาท เนื่องจากในปี 2565 ประเทศจีนจะปล่อยน้ำลงมาในแม่น้ำโขงมากผิดปกติ ทำให้การศึกษาในปีนี้จะไม่ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง
6. บางโครงการที่มีการเบิกจ่ายน้อยและเป็นการใช้งบประมาณไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ที่ขอตั้งงบประมาณไว้ 1,567.55 ล้านบาท แต่มีการเบิกจ่ายเพียงประมาณ 400 ล้านบาทในปี 2564 พรรคก้าวไกลได้ขอตัดงบประมาณส่วนนี้ 150 ล้านบาท, โครงการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ของสำนักปลัดกระทรวงวัฒนธรรม 99.15 ล้านบาท ซึ่งปี 2564 เบิกจ่ายได้เพียง 24.9 ล้านบาท และ กรมการศาสนา 35.17 ล้านบาท เบิกจ่ายเพียง 17.2 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการของกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของผู้คน ซึ่งพรรคก้าวไกลเสนอตัดโครงการเหล่านี้ทั้งหมด
7. โครงการพัฒนา Big Data ที่มีความซ้ำซ้อน และเป็นงบประมาณที่สูงผิดปกติ แต่ กอ.รมน. ทำเรื่องขออุทธรณ์งบประมาณคืนมา 72.15 ล้านบาท
โดยทั้งหมดนี้ กรรมาธิการจากพรรคก้าวไกลเห็นว่าควรแปรญัตติขอคืนงบประมาณให้หน่วยงานที่สมควรจะได้รับเพิ่มเติมตามความเหมาะสมและความต้องการจำเป็นแก่สถานการณ์ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโรคระบาดและวิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด-19 จึงเสนอให้แปรญัตติคืนงบไปให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือประชาชน ไม่ว่าจะเป็น
-กองทุนประกันสังคม ที่ขอแปรงบประมาณคืน จำนวน 18,292 ล้านบาท
-บัตรทอง ที่ขอแปรงบประมาณคืน จำนวน 860.48 ล้านบาท
-กองทุนเพื่อเสมอภาคทางการศึกษา ที่ขอแปรงบประมาณคืน จำนวน 631.73 ล้านบาท
-กองทุนการออม ที่ขอแปรงบประมาณคืน จำนวน 436.75 ล้านบาท
-ชดเชยรายได้ภาษีที่ดินของ อปท. ในกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ขอแปรงบประมาณคืน จำนวน 11,157 ล้านบาท และคืนให้ เทศบาลเมือง และเทศบาลนครต่างๆ ที่ของบประมาณเข้ามาในกรรมาธิการ
-งบประมาณอื่นของกระทรวงสาธารณสุข ที่ขอแปรญัตติงบต่างๆ ที่น่าจะนำมาใช้ประโยชน์ในการช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤติโควิดได้
จะเห็นว่ายอดของหน่วยงานเหล่านี้ที่ของบประมาณมามีมากกว่า 3.1 ล้านล้านบาทแล้ว ซึ่งงบประมาณที่อนุกรรมาธิการตัดได้ 2.4 หมื่นล้านบาทยังไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาให้กับประชาชน
ในฐานะหนึ่งในกรรมาธิการงบประมาณ ขอเชิญชวนเพื่อนกรรมาธิการจากทุกพรรคการเมือง ให้พิจารณางบประมาณแผ่นดินบนพื้นฐานของประโยชน์สูงสุดของประชาชน อย่างไรก็ตาม ต้องขอชี้แจงว่าผมไม่เห็นด้วยกับการที่มีข้อเสนอให้แปรญัตติงบประมาณไปให้ในส่วนของงบกลาง เนื่องจากงบกลางนั้นได้รับวงเงินงบประมาณไปแล้วถึง 8.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเป็นการตีเช็คเปล่าให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้บริหารจัดการในฐานะนายกรัฐมนตรี ซึ่งที่ผ่านมาก็เห็นแล้วว่ามีการใช้งบประมาณอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เข้าเป้า และไม่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างแท้จริง จึงเสนอให้แปรญัตติคืนงบประมาณ ไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบทางด้านสวัสดิการประชาชนโดยตรงจะดีที่สุด