รัฐบาลไทยประกาศ 'กลุ่มป่าแก่งกระจาน' ได้ขึ้นทะเบียนโดยยูเนสโก ให้เป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติเป็นแห่งที่ 3 ของประเทศ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์แห่งสหประชาชาติ เรียกร้องคณะกรรมการยูเนสโก "ทบทวนมติ" โดยระบุว่า รัฐบาลไทยไม่มีแนวทางชัดเจนที่จะรับรองสิทธิชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน เสี่ยงถูกคุกคาม-กระทบวิถีชีวิต
16 ปีแห่งการผลักดันแก่งกระจานเป็นมรดกโลก
'วราวุธ ศิลปอาชา' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถลงผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์หลังจากคณะกรรมการมรดกโลกขององค์การยูเนสโก ประกาศขึ้นทะเบียนพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกเมื่อ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่ากลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 3 ของประเทศไทย ต่อจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ที่ได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกในปี 2534 และ กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ในปี 2548
"วันนี้ ผืนป่าแก่งกระจานที่มีพื้นที่กว่า 2.5 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 4 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ตั้งแต่จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกสำเร็จแล้ว ซึ่งจากการทำงานอย่างเต็มกำลังกว่า 16 ปี ประกอบกับความพยายามถึง 4 ครั้ง ในการนำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลก และได้สำเร็จลงในครั้งที่ 4" รมว.กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมกล่าว
ขณะที่สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์รายงานว่า พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เนื่องจากเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ ที่ใกล้สูญพันธุ์ และมีคุณค่าโดดเด่นระดับโลก รวมไปถึงเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรี และแม่น้ำภาชี เป็นป่าผืนใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีเนื้อที่ประมาณ 2.5 ล้านไร่ (4,089 ตารางกิโลเมตร) มีความยาวตั้งแต่เหนือสุดถึงใต้สุดของพื้นที่ มากกว่า 200 กิโลเมตร โดยพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ภายใต้เกณฑ์ข้อที่ 10 ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ
ผู้เชี่ยวชาญยูเอ็นด้านชาติพันธุ์จี้ยูเนสโกทบทวนมติแก่งกระจาน
ขณะที่รัฐบาลไทยกำลังเฉลิมฉลองมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งใหม่ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหลายแห่ง ตลอดจน 'ฟรานซิสโก คาลี เซ' ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ แถลงข่าวเรียกร้องให้ทางยูเนสโฏทบทวนมติขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจาน โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีการรับฟังเสียงกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งอยู่ในพื้นที่ป่ามายาวนาน จึงเป็นเรื่องน่าเสียใจที่กระบวนการทำงานของคณะกรรมการมรดกโลกไม่ได้คำนึงว่ามติดังกล่าวจะส่งผลต่อสิทธิในการจัดการหรือเข้าถึงทรัพยากรของกลุ่มชาติพันธุ์ในอนาคต
คาลี เซ ระบุว่า การอนุรักษ์ที่ยั่งยืนและอยู่บนพื้นที่ฐานของสิทธิมนุษยชนไม่อาจเกิดขึ้นได้ถ้ากลุ่มชาติพันธุ์ในท้องถิ่นยังถูกคุกคาม ถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย ทำให้พวกเขาต้องพลัดถิ่นจากที่อยู่อาศัยดั้งเดิม และไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิในการดำรงวิถีชีวิตตามความเชื่อและวัฒนธรรมของชุมชน
คำกล่าวของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ อ้างถึงกรณีชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ป่าแก่งกระจานถูกละเมิดสิทธิอย่างต่อเนื่อง จากกรณีที่ถูกบังคับให้อพยพจากที่อยู่อาศัย ถูกเผาบ้าน และ 'บิลลี่' พอละจี รักจงเจริญ แกนนำชุมชนถูกบังคับสูญหายและเสียชีวิต หลังถูกเจ้าหน้าที่อุทยานควบคุมตัว ทั้งยังมีการจับกุมชาวบ้าน 28 ราย ในข้อหาบุกรุกแผ้วถางที่ดินดั้งเดิมเมื่อเดือน มี.ค.
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เสนอให้รัฐบาลไทยเลื่อนการขอขึ้นทะเบียนผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกออกไปก่อน เนื่องจากมีข้อห่วงกังวลถึงปัญหาสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอยยังไม่ได้รับการแก้ไข แต่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีผู้ผลักดันนโยบาย "ทวงคืนผืนป่า" ยังคงเดินหน้าต่อไปท่ามกลางเสียงทักท้วงจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง