กองทัพเมียนมาทำรัฐประหารครบรอบ 100 วัน แต่การลุกฮือของประชาชนเพื่อต่อต้านการยึดอำนาจก็ยังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง แม้จะถูกผู้มีอำนาจปราบปรามด้วยอาวุธและความรุนแรง จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าสถานการณ์ความขัดแย้งนองเลือดครั้งนี้จะจบลงอย่างไร และมีความเป็นไปได้แค่ไหนที่เรื่องราวจะคลี่คลายไปสู่ 'ความสงบเรียบร้อย' ตามที่ผู้ก่อการรัฐประหารพยายามกล่าวอ้าง
‘ดุลยภาค ปรีชารัชช’ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ ประจำวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และการเมืองการปกครองของเมียนมา ประเมินความเป็นไปได้ 3 ฉากทัศน์ (scenario) ของเมียนมาในอนาคต ซึ่งไม่อาจตัดประเด็นใดประเด็นหนึ่งทิ้งไปได้
1. ฝ่ายกองทัพใช้กำลังปราบปรามประชาชนไปเรื่อยๆ
ฉากทัศน์แรกที่ 'ผศ.ดร.ดุลยภาค' ประเมินว่าน่าจะเป็นไปได้มากที่สุด คือ "อยู่กันไปแบบนี้" ในลักษณะที่กองทัพควบคุมกิจกรรมต่างๆ และจัดให้มีการเลือกตั้งในแบบที่กองทัพคิดว่าตัวแทนของตนน่าจะได้เปรียบ และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) 'หมดพิษสง' ในสนามเลือกตั้ง การเมืองเมียนมากลายสภาพเป็นแบบ 'พหุพรรค' ซึ่งน่าจะมีระเบียบวินัยตามที่ 'มินอ่องหล่าย' พล.อ.อาวุโส ผู้ก่อรัฐประหาร 'ต้องการ' ซึ่งจะมีลักษณะเป็นเผด็จการผสมด้วย
2. สองฝ่าย 'ยันกัน' และอาจนำไปสู่ 'สงครามกลางเมือง'
การชิงอำนาจรัฐระหว่างคณะรัฐประหารที่กรุงเนปิดอว์ หรือสภาผู้บริหารปกครองแห่งรัฐ กับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government: NUG) ซึ่งมีหลายๆ ชาติสนใจให้การรับรอง และมีกองกำลังชาติพันธุ์บางกลุ่มสนใจจะเข้าร่วมในลักษณะ 'รัฐบาลเงา' หรือรัฐบาลคู่ขนาน มีแนวโน้มจะ "ยันกันแบบนี้ไปเรื่อยๆ เลยทีเดียว"
3. มีการแทรกแซงจากต่างประเทศ
ความเป็นไปได้เรื่องการแทรกแซงจากต่างชาติมีโอกาสน้อยมาก โดยเฉพาะ การส่งกองกำลังจากข้างนอกประเทศเข้ามา แต่ก็ยังไม่ควรตัดประเด็นนี้ทิ้งไป แต่เชื่อว่าเงื่อนไขที่จะทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นจริงจะต้องรอให้สถานการณ์มีลักษณะสุกงอม มีสงครามกลางเมืองที่เข้มงวดรุนแรง มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ที่คล้ายกับอดีตประเทศยูโกสลาเวีย หรือรวันดา ซึ่งเมียนมายังไม่ได้เกิดแบบนั้น แต่ถ้ามีวิวัฒนาการไปสู่แบบนั้น ผู้นำทหารพม่าก็วาดภาพการรุกรานจากกองกำลังต่างชาติเอาไว้แล้ว
ผ่านไป 1 ปีจะมีเลือกตั้ง 'ตามสัญญา' จริงหรือไม่?
ถ้าถามในมุมมองของทหารพม่าว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เพราะคณะรัฐประหารเมียนมาเคยให้คำมั่นสัญญาในวันที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลพรรค NLD 'ผศ.ดร.ดุลยภาค' มองว่าก็น่าจะมีคำตอบอยู่ 2 สูตร
สูตรหนึ่ง เลือกตั้งได้จริง โดยมีเงื่อนไขว่ากองทัพต้องมั่นใจว่าจะควบคุมสถานการณ์ได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่กรณีนี้ กองทัพต้องปฏิรูปจัดการกับระบบเลือกตั้งก่อน ในลักษณะที่ไม่ทำให้พรรคคู่แข่งมีความได้เปรียบ เพราะที่ผ่านมา NLD ได้รับอานิสงส์จากระบบเลือกตั้งแบบเดิม ซึ่งเป็นแบบผู้ชนะกินรวบทั้งหมด
"สมมติ เขตเลือกตั้งนึง NLD ชนะ มีคะแนนนำหน้าคู่แข่งแบบหายใจรดต้นคอเลย แต่ว่าที่นั่งมันก็ปัดตกให้กับ NLD เจ้าเดียวกินรวบทั้งหมด กองทัพก็ต้องพยายามจะจัดการตรงนี้ แล้วก็ยัดคดีอาญา คดีความต่างๆ ให้กับผู้นำ แกนนำคนสำคัญของ NLD ซึ่งเมื่อสถานการณ์มันเป็นแบบนี้ ก็อาจจะ 1 ปีตามที่เขาวาดไว้ หรืออาจจะต่อขยายไปอีก ตามระเบียบรัฐธรรมนูญ ตามสภาวะฉุกเฉิน แล้วก็สภากลาโหมและหน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งตอนนี้มินอ่องหล่ายเข้าควบคุม มันก็สามารถต่อได้มากกว่าหนึ่งปี แล้วค่อยจัดให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งมันก็เป็นไปได้"
"แต่ ณ วันนี้ ผ่านมา 100 วัน สถานการณ์รัฐประหาร เราต้องยอมรับความจริงอย่างนึงว่าคณะรัฐประหารมินอ่องหล่ายยังเป็นรัฎฐาธิปัตย์แบบยังไม่สะเด็ดน้ำ คือกลุ่มอำนาจรัฐไม่ได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ยังมีกระแสต่อต้านมาเป็นพลวัต ซึ่งก็มีนักวิเคราะห์มองว่า เรื่องเลือกตั้งก็อาจจะต้องนานขึ้นไปอีกหรือเปล่า มันอยู่ที่เกมกลยุทธ์ของชนชั้นนำทหารว่าเขาสามารถควบคุมกวาดล้างคู่ปฏิปักษ์ได้มากแค่ไหน"
สูตรสอง การเลือกตั้งถูกลากยาวออกไป เพราะฝ่ายต่อต้านรัฐประหารซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามรัฐบาลทหารชุดปัจจุบันมีขั้วอำนาจเพิ่มขึ้น มีทั้งกลุ่มประชาชนผู้สนับสนุนประชาธิปไตย, กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่กระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่ และนานาชาติ-มหาอำนาจทางการเมืองโลก จนเกิดเป็น 'แนวรบสามขา' ซึ่งอาจจะนำไปสู่สถานการณ์ 'ค้างเติ่ง' ได้ โดย ผศ.ดร.ดุลยภาค อธิบายว่า
"ตอนนี้ ฝ่ายตรงข้ามเริ่มมีขั้วอำนาจผุดขึ้นมา เป็นรัฐบาลคู่แข่ง แล้วก็มีแนวรบสามขา ก็คือ คลื่นปฏิวัติประชาธิปไตย การเข้ารบในสงครามจรยุทธ์ของชนชาติพันธุ์ในหลายพื้นที่ แล้วก็บทบาทของชุมชนนานาชาติกับมหาอำนาจทางการเมืองโลก ตรงนี้ก็หนักใจเหมือนกันสำหรับกองทัพ แต่มันก็เป็นเงื่อนไขของกองทัพเหมือนกัน คือ ถ้าจัดเลือกตั้งไม่ได้ 1-2 ปี ก็มีการต่ออายุขององค์เสนาธิปัตย์ เมื่อสถานการณ์มันไม่เรียบร้อยเขาก็อยู่ไปเรื่อยๆ อย่างนี้ ค้างเติ่งกันไป ก็เป็นไปได้นะครับ"
เปรียบมวย 'กองทัพเมียนมา' VS 'กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์'
กรณีกลุ่มชาติพันธุ์ 'สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง' หรือ KNU ออกแถลงการณ์ว่า KNU ต้องการแก้ปัญหาวิกฤตปัจจุบันผ่านการเจรจาตามกรอบข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ และเรียกร้องอย่างหนักแน่นให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายทำเช่นเดียวกันเพื่อบรรลุสันติภาพ ความเสมอภาค ประชาธิปไตย และระบอบสหพันธรัฐ สะท้อนว่ากลุ่ม KNU จะเข้าสู่การเจรจาจริงหรือไม่
ผศ.ดร.ดุลยภาคระบุว่า ต้องทำความเข้าใจโครงสร้างอำนาจใน KNU ว่าไม่ใช่องค์กรที่มีเอกภาพ แต่แบ่งเป็นสองกลุ่มอำนาจ
กลุ่มแรก นำโดยประธานเคเอ็นยูคนปัจจุบัน คือ 'มูจูเซพอ' รวมถึงกองทัพกองพันต่างๆ ที่ส่วนใหญ่อยู่อาณาเขตทางด้านใต้ ในเขตควบคุมของ KNU กลุ่มนี้มีท่าทีที่พร้อมจะเจรจากับทางการพม่า ในอดีตข้อตกลงหยุดยิงแห่งชาติเมื่อตุลาคม 2015
กลุ่มสอง นำโดย 'โพล่าเส่ง' อดีตรองประธาน KNU ซึ่งแม้จะหมดอำนาจทางการเมืองไปแล้ว แต่ยังมีอิทธิพลอยู่ และ 'นายพลบอจ่อแฮ' ผู้นำกองพลที่ 5 ซึ่งมีอำนาจทางทหารเข้มแข็ง โดยกลุ่มนี้อยู่ทางตอนเหนือของรัฐกะเหรี่ยง เขตที่ตรงข้ามกับแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอนของไทย
"พวกนี้สู้รบกับทหารพม่า มีอุดมการณ์การต่อสู้ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น radical เน้นการปฏิวัติ ปกป้องรัฐกะเหรี่ยง และต่อต้านการเจรจาใดๆ หลายๆ ประการกับกลุ่มของทางพม่า เพราะฉะนั้นการเมืองของกะเหรี่ยงแตกออกเป็นสองกลุ่มหลักๆ ผู้ชมก็เลยอาจจะสับสนนิดนึงว่าขณะที่เห็นภาพเหมือนดูจะรอมชอมในบางแง่มุม แต่อีกแง่มุมก็เปิดแนวรบอยู่ เพราะว่ามันมีกลุ่มการเมืองที่คิดไม่ตรงกัน แล้วมันก็มีพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่ควบคุมแตกต่างกันอยู่"
"แต่เรื่องของนวัตกรรมการรบ อยากให้จับตามองว่ากองทัพพม่าที่ผ่านมาเขาเสียกองทหารราบในการบุกเข้าไปตีฐานที่มั่นของกลุ่มชาติพันธุ์ ก็เลยถูกซุ่มตีแบบจรยุทธ์ เสียกำลังเยอะ เขาก็เลยแก้เกมด้วยการใช้เวหานุภาพ เอาเครื่องบินรบไปทิ้งตามจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ ก็ใช้ได้ผลนะครับ"
อย่างไรก็ตาม กองทัพเมียนมา หรือ 'ตั๊ดมาดอ' ยังมีความได้เปรียบอยู่ แม้กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วทุกพื้นที่ของเมียนมาจะรวมตัวกันได้จริง ก็ยังมีกำลังพลน้อยกว่ามาก แต่กลุ่มชาติพันธุ์ได้เปรียบหากเป็นการรบแบบจรยุทธ์หรือต่อสู้ตามแนวตะเข็บชายแดน ซึ่งทำให้กองทัพเมียนมาเลือกใช้การโจมตีทางอากาศเป็นการตอบโต้
"ในแง่ของอำนาจกำลังรบเชิงเปรียบเทียบ ต้องยอมรับนะครับว่า กลุ่มชาติพันธุ์ยังสู้กองทัพพม่าไม่ได้ กองทัพพม่า บวกตำรวจ บวก อส. กองกำลังป้องกันชายแดน กำลังคนมันประมาณ 500,000 นายหรือมากกว่านั้น ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ ถ้าประกอบกำลังรวมกันก็ประมาณ 100,000 หรืออาจจะต่ำกว่านั้น เพราะฉะนั้นมันก็ยังต่างกันอยู่"
"กองทัพชาติพันธุ์ไม่มีสายบังคับบัญชาร่วมหรือระบบกองทัพร่วม ต่างฝ่ายต่างรบในสมรภูมิที่ตนเองถนัด แต่ว่ามันมีความได้เปรียบตรงที่กลุ่มชาติพันธุ์ นักรบ นักต่อสู้ มีลักษณะการปกป้องมาตุภูมิ ซึ่งเป็นถิ่นฐานบ้านเกิดของตัวเอง จิตใจต่อสู้จึงฮึกห้าว และประสบการณ์ที่ชำนาญการรบในอาณาบริเวณป่าเขาตามตะเข็บชายแดน ก็สร้างความเจ็บปวดรวดร้าวให้กับกองทัพพม่าเหมือนกันนะครับ"
"เพราะฉะนั้นแม้ว่าปริมาณกำลังคน อาวุทยุทโธปกรณ์จะสู้กองทัพพม่าไม่ได้ แต่ก็มีการเติมดุลกำลังรบ เติมอาวุธบางตัว แล้วก็ทักษะการรบแบบจรยุทธ์ ก็ทำให้กองทัพพม่าหนักใจเหมือนกัน"
โรดแมปปรองดอง 'รัฐบาลทหาร' VS 'รัฐบาลเงา'?
ผศ.ดร.ดุลยภาค ได้กล่าวถึง 'ปีกความหวัง' ในทางการเมืองการปกครอง หลังถูกตั้งคำถามว่า 'รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ' (NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาของเมียนมา จะดึงดูดให้กลุ่มชาติพันธุ์มาร่วมมือกันทำให้เกิด 'สหพันธรัฐประชาธิปไตย' ตามโรดแมปสันติภาพ แทนที่จะเข้าร่วมกับฝั่งรัฐบาลทหารได้หรือไม่ โดยเขามองว่า เป็นเรื่องที่ประเมินได้ยาก เพราะไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มที่ต้องการการปกครองในแบบสหพันธรัฐประชาธิปไตย
"กลุ่มชาติพันธุ์ที่เจรจาหยุดยิงไปเมื่อเดือนตุลาคม 2015 มีธงในโครงสร้างการเมืองการปกครองร่วมกับรัฐบาลทหารพม่าหรือคนพม่า เรื่องการสร้างสหพันธรัฐประชาธิปไตย (democratic federation) ซึ่งก็ตรงกับรัฐบาล NUG รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ที่มีการออกกฎบัตรมา เน้นเรื่องสหพันธรัฐประชาธิปไตยด้วยเหมือนกัน ตรงนี้ผมคิดว่ากลุ่มชาติพันธุ์และจะโยกเข้ามาร่วมมือกับรัฐบาลเงาของคนพม่ามากขึ้น"
"ที่ผ่านมา สหพันธภิวัตน์กับประชาธิปไตยภิวัตน์ผนวกรวมเป็นเนื้อเดียวกัน ในฐานะการเมืองการปกครองที่พึงปรารถนาสำหรับประชาคมที่อาศัยอยู่ในพม่า แต่ว่ารัฐบาลของมินอ่องหล่ายก็มีความหลักแหลม เพราะเขาก็ประกาศเหมือนกันว่า รัฐบาลพม่าที่กรุงเนปิดอว์ชุดปัจจุบัน มีวัตถุประสงค์ มีโรดแมปในการสร้างสหพันธรัฐประชาธิปไตยเหมือนกัน แต่ว่าพฤติกรรมของทหารพม่าเป็นการรวมศูนย์อำนาจและเป็นเผด็จการ ก็ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ยังลังเลอยู่ ยังไม่ค่อยเชื่อถือมากนัก แต่ก็ตัดไพ่ของมินอ่องหล่ายทิ้งไปเสียไม่ได้ เพราะว่ามินอ่องหล่ายก็คุมเกมการจัดเจรจาสันติภาพ ในนามของรัฐพม่าได้เพราะเขาควบคุมกิจการที่กรุงเนปิดอว์ได้"
ผศ.ดร.ดุลยภาคย้ำว่า "ไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มที่จะมีฝันอย่างจริงจังว่าจะอยากได้สหพันธรัฐประชาธิปไตย บางกลุ่มเขาอาจจะต้องการอยู่ของเขาโดดๆ ไม่ต้องมีใครมายุ่งกับเขา ขอเป็นรัฐอิสระพอประมาณ อย่างเช่นกลุ่มว้า เป็นต้น หรือกลุ่มโกกั้งก็แนบชิดกับจีน อยากมี Chinese Model เรื่องของการปกครองตนเอง (autonomy) โดยว้ากับโกกั้งมองตัวแบบอย่างฮ่องกง มาเก๊า ไม่ใช่สหพันธรัฐ federalism ในแบบที่กลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มเข้าใจ อย่างสหรัฐอเมริกา อินเดีย"
'ซูจี' ปรากฏตัว มีนัยซ่อนเร้นอย่างไร?
หลังจากถูกคุมตัวตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2564 'อองซาน ซูจี' ผู้นำพรรค NLD และสัญลักษณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเมียนมา จะปรากฏตัวเพื่อขึ้นศาลในวันที่ 23 พ.ค.นี้ เพราะเธอถูกรัฐบาลทหารกล่าวหาในหลายคดี จึงมีคำถามว่าการนำตัวซูจีมาปรากฏตัวต่อสาธารณะเป็นครั้งแรก ถือเป็นการส่งสัญญาณอะไรเป็นพิเศษจากกองทัพเมียนมาหรือไม่
ผศ.ดร.ดุลยภาคมองว่า "เป็นเกมปกติของกองทัพ" เพราะถึงแม้ว่ารัฐบาลทหารจะมีลักษณะเผด็จการ แต่ก็ยังต้องคำนึงถึงภาพลักษณ์ของความเป็นประชาธิปไตย ตามที่ พล.อ.อาวุโสมินอ่องหล่าย เคยระบุว่าเขาจะทำให้เมียนมาเป็น 'ประชาธิปไตยที่มีระเบียบวินัย' และกองทัพเมียนมาต้องเปลี่ยนแปลงตามความเปลี่ยนไปของโลก แต่ต้องเปลี่ยนบนเงื่อนไขที่ว่ากองทัพจะต้องคุมสถานการณ์ได้ เพราะสาเหตุที่กองทัพทำรัฐประหารล่าสุด เป็นเพราะพรรค NLD ได้รับความนิยมมากเกินไป
"อองซาน ซูจี ก็โดนแบบนี้มาบ่อยๆ เดี๋ยวถูกกักขังบริเวณ เดี๋ยวก็ถูกปิดเก็บไว้ในที่ลับ แล้วพอบางจังหวะจะโคนก็ถูกปล่อยออกมาให้ปราฏตัวต่อหน้าสาธารณชน แต่ไม่ว่าจะเป็นยังไง ที่แน่ๆ ก็คือจะโดนยัดคดีความต่างๆ โดนยัดคดีความที่มีโทษจำคุกสูงในทางอาญา ซึ่งมันจะทำให้เธอไม่สามารถจะก้าวเข้ามาเป็นผู้นำเต็มที่ได้อยู่แล้วในการเมืองของฝ่ายประชาธิปไตย เขาถึงได้มีความพยายามที่จะตั้งรัฐบาลเงาอะไรขึ้นมาแล้วชูภาพอองซาน ซูจี แต่ว่าการนำด้วยตัวเองถูกจำกัดไว้เรียบร้อยแล้ว รัฐบาลทหารพม่าพยายามที่จะควบคุมตรงนี้อยู่"
"ผมมองว่าในอนาคต โจทย์สำคัญสำหรับพม่า คือมันจะมีลักษณะเป็นรัฐเผด็จการ แต่ก็ต้องมาคุยเรื่องประชาธิปไตยอยู่ดี มินอ่องหล่ายก็ต้องคุยว่าถ้าเป็นประชาธิปไตยแบบมีระเบียบวินัย ไม่มีพรรค NLD ที่จะมาเด่นเหมือนในอดีต ก็ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งให้ได้ เป็นแนวคิดแบบอยากให้มีแบบไฮบริด เป็นระบอบลูกผสม อยากให้เป็นอย่างนั้นอยู่ แต่ที่เขาทำรัฐประหาร เพราะว่าที่ผ่านมา NLD สยายปีกมากเกินไป เขาอยากตัดไฟแต่เบื้องต้นแล้วก็อยากจะจัดระบบระเบียบใหม่ และก็สร้างระบบที่เขาควบคุมได้"
"ทหารพม่าก็คิดนะครับว่าถ้าโลกเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยน แต่ขอให้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่กองทัพสามารถควบคุมได้ ในเมื่อกองทัพเห็นว่าสิ่งที่ควบคุมไม่ได้มันก็ถอยหลังเข้าคลองไปก่อน ถอยหลังเข้าสู่เผด็จการ แล้ว set up สู่ประชาธิปไตยในแบบไฮบริดที่เขาควบคุมได้ ส่วนอีกเรื่องที่เป็นโจทย์ใหญ่ก็คือเมียนมาจะเป็นสหพันธรัฐหรือจะเป็นรัฐเดียวรวมศูนย์ ซึ่งตรงนี้มันต้องคุยผ่านวง peace process การเจรจาสันติภาพ ซึ่งก็ต้องดูตัวแสดงว่าเขามีแนวคิดทางการเมืองที่อยากจะให้พม่าเป็นแบบไหน"
"ที่แน่ๆ คือ กองทัพกลัวลึกๆ นะครับว่าไปให้น้ำหนักกับสหพันธรัมากๆ จะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน เพราะรัฐประหารโดยนายพลเนวินในปี 1962 ก็คุยเรื่องนี้ ไปคุยเรื่องสหพันธรัฐมาก เดี๋ยวประเทศจะแตกกระจายออกเป็นรัฐอิสระ เพราะฉะนั้นกองทัพก็ถือตัวเองงว่าเป็นคนควบบคุมอธิปไตยของรัฐ และตราบใดที่ยังมีการสู้รบ มีแนวคิดที่จะถอนตัวออกจากสหภาพ คุยเรื่องการกระจายอำนาจมากๆ กองทัพก็อาจจะมีการกระตุกอำนาจกลับ มันก็อาจเป็นอย่างนี้นะครับ อาการของรัฐพม่า ก็จะสลับกันไปมาระหว่างเผด็จการประชาธิปไตย เป็นสหพันธรัฐ ผสมกันได้มาสิบปี ตอนนี้ก็แตกออกมา"
ทหารแตกแถว? สะเทือนเอกภาพกองทัพหรือไม่
กรณีที่สื่อหลายสำนักรายงานข่าวทหารเมียนมาหลายรายไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร และยอมแตกแถวเข้าข้างประชาชนและกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐประหาร ถือเป็นสัญญาณว่าเอกภาพในกองทัพเมียนมาสั่นคลอนได้หรือไม่ ผศ.ดร.ดุลยภาคตอบว่า ทหารแตกแถวเป็นเพียงงส่วนน้อย และชนชั้นนำในหมู่ทหารพม่านั้นยังมีความเหนียวแน่นกันอย่างมาก
"ผมเชื่อในความเหนียวแน่นของชนชั้นนำของทหารพม่านะครับ ชนชั้นนำสถาบันกองทัพมีความเอกภาพภายในสูงมาก เรื่องแตกแถวก็มีบ้างเล็กๆ น้อยๆ ก็อาจจะมีทหารที่เป็นสายพิราบ (soft liner) บ้าง ที่อยากจะผ่อนปรนประนีนอมกับฝั่งประชาธิปไตย หรือเห็นอกเห็นใจฝ่ายประชาธิปไตย แต่ว่าตัวฮาร์ดคอร์ที่เป็นกระดูกสันหลังของกองทัพปัจจุบันมันยังเป็นฮาร์ดไลเนอร์อยู่ เป็นพวกอนุรักษนิยม"
"เบอร์หนึ่งคือมินอ่องหล่าย เบอร์สองคือโซวิน ที่เป็น ผบ.ทบ. ผมคิดว่ายังค่อนข้างมีเอกภาพ เวลาเราดูข่าวการออกงานต่างๆ ก็มีทั้งไปด้วยกัน แยกส่วนกัน แต่ก็ทำเพื่อผลประโยชน์ของกองทัพหรือว่ารัฐบาลใหม่ที่ชัดเจน แล้วให้ดูขุมอำนาจหลักก็คือแม่ทัพภาคที่กรุงเนปิดอว์กับแม่ทัพภาคที่มัณฑะเลย์ ซึ่งการรัฐประหารที่ผ่านมา ใช้กองกำลังจากพวกนี้ ก็เป็นคนที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับมินอ่องหล่าย เป็นคนที่มินอ่องหล่ายดันให้เติบโตขึ้นมาในสายงานของกองทัพด้วย แล้วก็คงจะได้รับความดีความชอบมิใช่น้อย ในการรัฐประหาร 3 เดือนกว่าๆ ที่ผ่านมา"
"เพราะฉะนั้นผมคิดว่าบางคนอาจจะพูดว่ากองทัพพม่าแตกแถว มีความหวาดกลัว มีคนที่ออกมา มีคนเห็นใจไม่ยิงประชาชน นั่นคือเฉพาะบางคนนะครับ แต่ว่าส่วนใหญ่ของสายบังคับบัญชาของกองทัพมันอยู่ได้ด้วยการรวมศูนย์อำนาจและการใช้ความรุนแรงในการปราบคู่ปฏิปักษ์ทางการเมือง เป็นแพตเทิร์น เป็นธรรมเนียมของทหารพม่าหลายยุคหลายสมัย คิดว่าตรงนี้ยังเหนียวแน่นอยู่นะครับ"