Skip to main content

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ใช้อำนาจตามมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เพื่อควบคุมมิให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 "ซึ่งเป็นโรคติดต่อได้ง่ายและเป็นอันตรายอย่างมากต่อชีวิตของผู้ได้รับเชื้อ" แพร่ระบาดในวงกว้าง ปรากฎตามประกาศฉบับลงวันที่ 25 มี.ค. 2563 นั้น 

โควิด-19 จึงเป็นโรคติดต่ออันตรายที่รัฐมีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการทั้ง 'ป้องกัน' และ 'ขจัดอันตราย' ให้กับประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อันเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 47 วรรคสามที่บัญญัติว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย" 

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงทางการแพทย์ว่า วัคซีน Sinovac รัฐจัดหามาให้กับประชาชนกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้น้อยและมีประสิทธิภาพเพียงป้องกันไม่ให้ผู้ติดเชื้อเสียชีวิต แต่ไม่สามารถ 'ป้องกัน' การติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) หรือสายพันธุ์อื่นๆ ที่กำลังแพร่ระบาดและเป็นอันตรายต่อชีวิตของประชาชนได้ ดังนั้น การที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้มีการจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคเพิ่มอีก 10.9 ล้านโดส วงเงิน 6,100 ล้านบาท เมื่อวัคซีนดังกล่าวไม่สามารถ 'ป้องกัน' การติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ที่กำลังแพร่ระบาดได้ การจัดซื้อวัคซีนดังกล่าวจึงขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 47 และมาตรา 55 ผู้ที่สั่งซื้อและคณะรัฐมนตรีอาจมีความผิดฐานจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอันถือเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา
157

พรรคไทยสร้างไทยจึงเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและคณะรัฐมนตรีได้ทบทวนการสั่งซื้อวัคซีนที่ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายและเร่งจัดหาวัคซีนที่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสดังกล่าวให้กับประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายอันเป็นหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญต่อไปโดยเร็ว