'ประเสริฐ' เปิดเอกสาร 'ประยุทธ์-อนุทิน' บริหารสถานการณ์โควิดเหลว รู้เห็นเป็นใจจัดซื้อวัคซีนเอื้อประโยชน์บนความตาย ปชช. -กลโกงจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคส่วนต่างกว่า 2 พันล้าน
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มี ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานเพื่อทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ 5 รัฐมนตรี ที่รัฐสภา ในวันแรกนั้น
ประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย (พท.) อภิปรายว่า พล.อ.ประยุทธ์ และ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข บริหารงานล้มเหลว 4 ด้าน ได้แก่ 1.ความล้มเหลวด้านการควบคุมโรคระบาด ประมาทคิดว่าตัวเองแน่ ตั้งแต่การระบาดต้นปี 63 นายกฯไม่มีการประเมินผล ส่วน อนุทิน ไม่กวดขันไม่รอบคอบไม่ระมัดระวัง ทำให้ระบบสาธารณสุขล้มเหลว 2.การจัดหาวัคซีนผิดพลาดล้มเหลว ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์และนายอนุทิน คาดการณ์สถานการณ์ผิดพลาด ไม่มีความกระตือรือร้นในการจัดหาวัคซีน เมื่อจัดหาก็จัดหาน้อยเกินไป และมีเจตนาไม่เข้าโครงการโคแวกซ์ตั้งแต่ต้น เนื่องจากไม่มีเงินทอนทำให้ประเทศเสียหายโดยรู้เห็นเป็นใจกับนายอนุทิน
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของภาคเอกชนในการขอนำเข้าวัคซีนทางเลือกที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า การบริหารราชการของ พล.อ.ประยุทธ์และนายอนุทิน จึงเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงระบบราชการที่มีความล้าหลัง ทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะขาดแคลนวัคซีน 3.ความล้มเหลวในการกระจายวัคซีน ที่มั่วทั้งระบบ ขาดความเป็นเอกภาพ ต่างคนต่างทำ บางจังหวัดไม่ได้เป็นพื้นที่สีแดงเข้มแต่ได้รับวัคซีนจำนวนมาก และ 4.การบริหารงานในสถานการณ์วิกฤตมีการบริหารเหมือนสถานการณ์ปกติ แม้แต่ตัวนายกฯยัง WFH ทำงานที่บ้านแบบไม่ทุกข์ร้อน และการสั่งข้อราชการที่ไม่มีความเด็ดขาด
ทั้งหมดคือความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกภาคส่วน ถามว่าพวกเขาทำผิดอะไร ทั้งที่เกิดจากการบริหารที่ผิดพลาดของ พล.อ.ประยุทธ์ นอกจาก พล.อ.ประยุทธ์ไม่ช่วยแล้วยังกีดกันไม่อำนวยความสะดวก จนในที่สุดคนไทยมองไม่เห็นอนาคตว่า เขาจะอยู่อย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ปล่อยให้ประเทศเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร สิ่งที่น่าเสียใจมากที่สุดที่คนไทยรับไม่ได้เลย คือการค้าความตาย หากินบนความตายของประชาชนด้วยการจัดซื้อวัคซีนคุณภาพต่ำ แต่มีราคาแพง เอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชน โดยซื้อวัคซีนเพียงรายเดียว ผูกขาดตัดตอนขัดกันแห่งผลประโยชน์ ทำให้วัคซีนซิโนแวคเป็นวัคซีนเส้นใหญ่
ประเสริฐ อภิปรายโดยเปิดหลักฐานจากข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ที่ทนต่อการกระทำของ พล.อ.ประยุทธ์ และนายอนุทินไม่ไหว โดยได้มอบข้อมูลการจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคที่แสดงให้เห็นถึงแผนการนำเข้า ราคาซื้อต่อโดส และราคาที่ ครม.อนุมัติ ซึ่งการจัดซื้อครั้งที่ 1 มีแผนการนำเข้า 2 ล้านโดส นำเข้าได้จริง 1.9 ล้านโดส ราคาตามที่ ครม.อนุมัติ 17.0 เหรียญสหรัฐต่อโดส ราคาซื้อจริง 17.0 เหรียญสหรัฐต่อโดส, จัดซื้อครั้งที่ 2 ราคาตามที่ ครม.อนุมัติ 17.0 เหรียญสหรัฐต่อโดส ราคาซื้อจริง 15.0 เหรียญสหรัฐต่อโดส, จัดซื้อครั้งที่ 3 ราคาตามที่ ครม.อนุมัติ 17.0 เหรียญสหรัฐต่อโดส ราคาซื้อจริง 14.0 เหรียญสหรัฐต่อโดส, จัดซื้อครั้งที่ 4 ราคาตามที่ ครม.อนุมัติ 17.0 เหรียญสหรัฐต่อโดส ราคาซื้อจริง 9.5 เหรียญสหรัฐต่อโดส และจัดซื้อครั้งที่ 5 ราคาตามที่ ครม.อนุมัติ 17.0 เหรียญสหรัฐต่อโดส ราคาซื้อจริง 9.0 เหรียญสหรัฐต่อโดส
“จากข้อมูลทั้งหมดพบว่า ราคาตามที่ ครม.อนุมัติในการจัดซื้อทั้ง 5 ครั้ง คือ 331,500,000 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาท 10,846,680,000 บาท ส่วนราคาที่จัดซื้อจริง คือ 267,364,000 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาท 8,748,150,080 บาท ทำให้เกิดส่วนต่างในการจัดซื้อทั้งสิ้น 2,098,529,920 บาท” ประเสริฐระบุ
ประเสริฐ ยังกล่าวด้วยว่า การจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค จากบันทึกการประชุมของคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) เพื่อการแก้ไขปัญหาการคุ้มครองผู้บริโภค ในคณะ กมธ.คุ้มครองผู้บริโภค เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2564 ที่ระบุว่า มีการจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค 5 ครั้ง พบว่า ราคาที่ ครม.อนุมัติทั้ง 5 ครั้ง คือ 17.0 เหรียญสหรัฐต่อโดส แต่ราคาซื้อจริงครั้งที่ 2-5 ราคาลดลงตามลำดับ ตรงกับข้อมูลของเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขที่ให้มา จึงอยากถามถึงเงินส่วนต่างว่าหายไปไหน
ประเสริฐ กล่าวว่า การทำสัญญากับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ว่าเป็นการทำสัญญาที่ผูกขาด ตัดตอน ขัดกันแห่งผลประโยชน์ ทำให้รัฐเสียเปรียบ แรกเริ่มการผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เป็นความร่วมมือระหว่าง SCG กับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด แต่ที่แปลก คือรัฐมีโรงงานผลิตวัคซีนที่ทันสมัย แต่ทำไมไม่มอบให้โรงงานแห่งนี้ที่รัฐเป็นเจ้าของผลิต ตนไม่เข้าใจ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานว่า พล.อ.ประยุทธ์ กระทำการมิบังควร แอบอ้างพาดพิงสถาบันในการจัดซื้อวัคซีนด้วย
“ขอตั้งข้อสังเกตถึงความผิดพลาดในการบริหารจัดการวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ประการแรก รัฐบาลแทงม้าตัวเดียว ไม่ยอมบริหารความเสี่ยง ซึ่งเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน นางนวลพรรณ ล่ำซำ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ก็ให้สัมภาษณ์ในทำนองเดียวกันว่า ควรจะมีการสั่งซื้อวัคซีนในหลายทางเลือกให้กับประชาชน ประการที่สอง สัญญาซื้อขายเสียเปรียบบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า UK เพราะต้องสั่งซื้อล่วงหน้า และต้องจ่าย 60% ของมูลค่าการซื้อสั่ง หรือประมาณ 2 พันล้านบาท ก่อนด้วย และในสัญญายังระบุอีกว่าหากผลิตไม่ได้ก็ต้องสูญเงินจำนวนดังกล่าว” ประเสริฐกล่าว
ประเสริฐ กล่าวต่อว่า การผลิตวัคซีนแอสตร้าฯ ทุกสามล้านโดสนั้น หนึ่งล้านโดสแบ่งให้ประเทศไทย และ 2 ล้านโดสนำไปฉีดให้ต่างประเทศ ถามว่าทำสัญญาอย่างนี้ได้อย่างไร ทำสัญญาอย่างนี้คนไทยถึงไม่ได้ฉีดวัคซีนสักที คนไทยได้ฉีดวัคซีนที่สามารถผลิตเองในประเทศน้อยกว่าคนต่างประเทศ ท่านทำสัญญาอย่างนี้ได้อย่างไร ท่านต้องให้ประชาชนในประเทศได้รับการฉีดวัคซีนที่เพียงพอก่อน ค่อยเอาไปจัดสรรให้คนต่างประเทศ
ประเสริฐ กล่าวอีกว่า ประการที่สาม ความสับสนในการทำสัญญาระหว่างบริษัทแอสตร้าฯกับทางการไทย ตามเอกสารในวันที่ 25 มิถุนายน 2564 ที่บริษัท เขียนถึงนายอนุทินฯ ระบุว่า การกำหนดการผลิตวัคซีนอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย จะทำให้กระทรวงสาธารณสุขได้รับวัคซีนประมาณ 5-6 ล้านโดสต่อเดือน ซึ่งขึ้นอยู่กับผลิตผลของสารที่ใช้ในการผลิตวัคซีน และท้ายจดหมายยังระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ประมาณการว่า ระบบสาธารณสุขของประเทศไทย มีความต้องการวัคซีนประมาณ 3 ล้านโดสต่อเดือน และบริษัทแอสตร้าฯ แนะนำให้ไทยเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ เนื่องจากโครงการนี้มีวัคซีนแอสตร้าฯอยู่ด้วย แต่นายอนุทินได้ทำเอกสารตอบกลับวันที่ 30 มิถุนายน 64 ถึงบริษัทแอสตร้าฯว่า ไทยคาดว่าจะได้รับวัคซีนมากกว่า 1 ใน 3 ของการจัดส่งจากแอสตร้าฯ หรืออย่างน้อย 10 ล้านโดสต่อเดือนสำหรับการใช้ในประเทศ ดูเอกสารการโต้ตอบแล้ว เกิดความสับสนว่า กระทรวงสาธารณสุขสั่งวัคซีนไม่พอเพียง หรือบริษัทแอสตร้าฯส่งของไม่ครบตามสัญญา สงสัยว่าปัญหาวัคซีนขาดแคลนเกิดจากฝ่ายไหนกันแน่ ทุกวันนี้ ประชาชนจึงไม่เชื่อใจรัฐบาล นี่คือความบริหารการทำสัญญาที่ผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงของ พล.อ.ประยุทธ์และอนุทิน
“ผมขอกล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์และนายอนุทิน จงใจปฏิบัติ ละเว้นการปฏิบัติ ผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ ไม่สามารถดำเนินการตามเป้าหมายและแผนงานการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน ไม่ซื่อสัตย์สุจริต เสียสละ เปิดเผย ขาดความรอบคอบและขาดความระมัดระวัง นอกจากนี้ นายกฯและนายอนุทิน ร่วมกันจัดหาและจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค ส่อไปในทางทุจริต ไม่โปร่งใส เอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง แสวงหาประโยชน์จากการจัดซีนวัคซีน บนความตายของประชาชน ทั้งยังกีดกันวัคซีนอื่นที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า เพื่อมิให้คนไทยได้มีโอกาสฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์และนายอนุทิน มีพฤติกรรมค้าความตาย หาผลประโยชน์บนความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชน โดยให้นโยบายวัคซีนเป็นสินค้าสาธารณะ” ประเสริฐ กล่าว