22 กรกฎาคม 2565 ณ ห้องประชุมสุริยัน สัปปายะสภาสถาน รัฐสภา รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการตำรวจ ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ กรณีปล่อยปละละเลยทุจริตที่เกิดขึ้นในกองบินตำรวจ ทั้งยังมีการยอมให้ใช้ ‘ตั๋วช้าง’ อีกประเภทหนึ่งเป็นเกราะกำบังเพื่อไม่ให้ใครหรือหน่วยงานใดกล้าตรวจสอบได้
รังสิมันต์ กล่าวว่า คดีนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ พล.ต.ต.ก หรือชื่อจริงคือ กำพล กุศลสถาพร ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองบินตำรวจ (บ.ตร.) โดยระหว่างนั้นได้ดำเนินการเซ็นสัญญาโครงการซ่อมบำรุงอากาศยาน กับ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ให้เป็นผู้ดำเนินการซ่อมและจัดหาอะไหล่ ตามงบประมาณปี 2563 จำนวนกว่า 950 ล้านบาท แต่ต่อมาเมื่อเดือนกันยายน 2564 การบินไทยได้ยื่นหนังสือทวงหนี้มายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จึงทำให้พบว่ากองบินตำรวจ โดย พล.ต.ต.กำพล และพวก ได้สั่งจ้างสั่งซื้อเพิ่มเติมเกินกว่างบประมาณที่วางไว้ รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดของโครงการเป็นจำนวนถึง 2,774 ล้านบาท ซึ่ง 2 ใน 3 ของทั้งหมดนี้ กองบินตำรวจไม่สามารถเบิกจากคลังมาจ่ายได้ และกว่า 784 ล้านบาท ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการซ่อมเครื่องบินเลย เช่น ซื้อถังน้ำดับไฟป่า 8 ล้านบาท หรือซื้อตะขอเกี่ยวสินค้า 6.3 ล้านบาท เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อเรื่องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบกลับถูกเตะถ่วง ทำให้ล่าช้า และทำซ้ำไปมา ทั้งนี้ กระบวนการตรวจสอบครั้งแรก เริ่มต้นจากการเสนอเรื่องให้ ผบ.ตร. สั่งให้จเรตำรวจตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องนี้ในเดือนมีนาคม 2564 แต่กลับใช้เวลากว่า 3 เดือน จึงจะสามารถตั้งคณะกรรมการตรวจสอบได้ และเสร็จสิ้นในเดือนตุลาคม 2564
“ทว่าภายหลังกระบวนการตรวจสอบโดยจเรตำรวจสิ้นสุด กลับมีคำสั่งให้ส่งเรื่องไปกองวินัยตำรวจเพื่อตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่อีก ขนาดว่าทางกองบินตำรวจทวงถามเรื่องการตั้งคณะกรรมการสอบสวนไปอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ก็มีคำตอบกลับมาว่ายังร่างคำสั่งไม่เสร็จ และกว่าจะได้ตั้งคณะกรรมการชุดใหม่กันจริงๆ คือช่วงปลายเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา และถึงแม้ว่าตั้งมาแล้วผ่านไปอีกหนึ่งเดือนก็ยังวุ่นอยู่กับการเปลี่ยนตัวกรรมการไม่เลิก” รังสิมันต์ ระบุ
รังสิมันต์ ยังได้ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ ว่า ในฐานะผู้บัญชาการสูงสุดของตำรวจ ได้ทราบเรื่องนี้ตั้งแต่ที่ สตช. ทำหนังสือขอความช่วยเหลือมายังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 และต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ ได้ลงนามท้ายหนังสือรับทราบเรื่องนี้ด้วยตัวเอง แต่สุดท้ายก็ยังปล่อยปละละเลยไม่เร่งรัดกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง หน่วงเวลาจนกระทั่งกรมบังคับคดีซึ่งดูแลเรื่องการฟื้นฟูกิจการของการบินไทยส่งหนังสือทวงหนี้ 1,824 ล้านบาท มายัง สตช. อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนนี้เป็นโอกาสสำคัญที่จะปฏิเสธหนี้ก้อนนี้ได้ เพราะตามขั้นตอน สตช. มีเวลาในการปฏิเสธหนี้ภายใน 14 วัน แต่ สตช. กลับล่าช้าทำหนังสือปฏิเสธหนี้ตอบกลับไปเกินเวลาที่กำหนด ทำให้ สตช. ต้องชำระหนี้การบินไทยเป็นจำนวนถึง 937 ล้านบาท ส่วนสาเหตุที่หนี้ลดลงจากเดิม เนื่องจากทางตำรวจไปขอต่อรองกับการบินไทยให้ยกเลิกรายการบางส่วนที่ยังไม่ได้รับพัสดุมาได้
“ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จึงใช้วิธีอนุมัติงบกลางเพื่อใช้หนี้ใน วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 และในวันที่ 12 เมษายน 2565 ครม.ก็อนุมัติอีกที รวมถึงยังอนุมัติให้ สตช. สามารถก่อหนี้ผูกพันเกินกว่าที่กำหนดไว้ในงบประมาณปี 2563 ด้วย มตินี้จึงเหมือนเป็นทั้งการฟอกขาวให้ไปในตัว ทั้งยังนำเงินภาษีของประชาชนไปจ่ายให้กับการทุจริตที่เกิดขึ้นในกองบินตำรวจอีกด้วย”
รังสิมันต์ ยังอภิปรายต่ออีกว่า นอกจากการสั่งซื้อสั่งจ้างเกินกว่างบที่วางไว้แล้วเอาภาษีประชาชนไปจ่ายแทนแล้ว ยังมีอีกกรณีทุจริตจากการที่ พล.ต.ต.กำพล ไปทำสัญญาแลกเปลี่ยนอะไหล่อากาศยานด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง โดยรวบรวมเอาอะไหล่เก่าๆ ที่เสื่อมสภาพแล้วไปแลกกับชุดใบพัดหางเฮลิคอปเตอร์ จำนวน 2 ชุด ซึ่งในเรื่องนี้จาก คำสั่ง ตร. ระบุว่าตำแหน่งระดับผู้การกองบินมีอำนาจอนุมัติวงเงินได้แค่ 5,000,000 บาทเท่านั้น หรือในระเบียบกระทรวงการคลัง ระบุไว้ว่าวงเงินต้องไม่เกิน 500,000 บาท แต่เมื่อมีการประเมินราคาของที่ พล.ต.ต.กำพล นำไปแลกจำนวนทั้งหมด 6,622 ชิ้น นั้นพบว่า ราคารวมกันสูงถึง 1,157 ล้านบาท และในจำนวนนี้ยังพบด้วยว่ามีคำสั่งให้เอาอะไหล่ของเครื่องบิน Skyvan 1 ลำ 4 ชิ้น ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเครื่องยนต์ 2 ชิ้น และอะไหล่ของเฮลิคอปเตอร์ Bell 3 ลำ อีก 21 ชิ้น ไปยำรวมกับเศษเหล็กด้วย โดยอะไหล่ดังกล่าวที่สวมเข้ามาในบัญชีแลกเปลี่ยนนี้ยังใช้งานได้ทั้งหมด ประเมินแล้วมีมูลค่าประมาณ 111,000,000 บาท แต่เมื่อนำไปยำรวมกับเศษเหล็กมูลค่าจึงเหลือเพียง 2,500,000 บาทเท่านั้น และกรณีนี้เมื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบก็มีการเตะถ่วง ตั้งคณะกรรมการสอบวนไปวนมาเช่นเดิม
รังสิมันต์ ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า จากพฤติกรรมที่ส่อทุจริตในกองบินตำรวจมีความชัดเจนทั้ง 2 กรณี และพล.อ.ประยุทธ์ รู้ปัญหาดีมาตลอดเพราะเป็นผู้เซ็นรับทราบด้วยตัวเอง แต่กลับไม่ได้ดำเนินการอะไรต่อ พล.ต.ต.กำพล เลย ไม่มีแม้กระทั่งการถูกพักงาน จึงทำให้ตนเกิดความสงสัยและไปตรวจสอบต่อว่าเป็นเพราะเหตุใด บุคคลนี้ใหญ่มาจากไหน ทำไมจึงไม่มีใครแตะต้อง จนได้ไปพบข้อมูลว่า พล.ต.ต.กำพล มีฐานะเป็น ผบ. ศปก.ถปภ.ขบวน ฮ.เดโชชัย 5 ที่ตั้งขึ้นตามแผนถวายความปลอดภัยใน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
“ในช่วงที่ พล.ต.ต.กำพล จะต้องย้ายเพื่อเปลี่ยนตำแหน่ง ได้มีการทำหนังสือกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพฯ เนื้อหาระบุว่า ตนเคยเป็นผู้บังคับการกองบินตำรวจ ปฏิบัติหน้าที่นักบินเฮลิคอปเตอร์และผู้อำนวยการเดินทางถวาย แต่กำลังจะถูกย้ายไปอยู่หน่วยอื่น ถ้ามีพระประสงค์จะให้ปฏิบัติงานต่อ จักได้ดำเนินการต่อไป ต่อมาจึงมีหนังสือ รล.0010/5116 ตอบกลับจากสำนักพระราชวัง ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2563 ซึ่งตอนนั้น พล.ต.ต.กำพล ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นรองผู้บัญชาการ อยู่ที่สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”
ทว่า หลังจากได้หนังสือตอบจากสำนักราชวังให้ปฏิบัติงานต่อตามที่ขอได้ สตช. จึงออกเอกสารที่มีชื่อว่า ‘แผนถวายความปลอดภัยสำหรับขบวนเฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะ’ เซ็นอนุมัติไว้ท้ายเอกสาร โดย พล.ต.ท.สุทิน ทรัพย์ม่วง ผู้ช่วย ผบ.ตร. ปฏิบัติราชการแทน ผบ.ตร. สาระสำคัญคือระบุถึงการจัดตั้ง ศปก.ถปภ.ขบวน ฮ. เดโชชัย 5 หรือ ศูนย์เดโชชัย 5 มีชื่อเต็มๆ ว่า ‘ศูนย์ปฏิบัติการถวายความปลอดภัยสำหรับขบวนเฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ’ โดยให้มีอำนาจสั่งการทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องในการจัดเฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะถวายแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า และยังกำหนดให้กองบินตำรวจ ต้องคอยรับผิดชอบและปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายมาจาก ผอ. ศูนย์ปฏิบัติการฯ ซึ่ง ผอ. ที่ว่านี้ก็คือ พล.ต.ต.กำพล อย่างไรก็ตาม ตามโครงสร้างปัจจุบัน มีเพียงกองบินตำรวจเท่านั้นที่ขึ้นตรงกับ สตช. ไม่มีชื่อศูนย์นี้ระบุไว้ว่าสังกัดหน่วยงานใด จึงเป็นคำถามว่าศูนย์นี้ตั้งขึ้นมาโดยอาศัยอำนาจอำนาจตามกฎหมายอะไรและทำไมจึงสั่งการกองบินตำรวจได้
รังสิมันต์ ตั้งคำถามต่อไปว่า กรณีนี้จึงเหมือนเป็นการเอาหนังสือจากสำนักพระราชวังมาอ้าง โดยบอกว่าเพื่อวางแผนถวายความปลอดภัยฯ แบบนี้จึงเท่ากับ ‘ตั๋วช้าง’ อีกประเภทหนึ่งใช่หรือไม่ และคนที่เซ็นออกแผนก็คือเพื่อนร่วมรุ่นกับ พล.ต.ต.กำพล เหมือนเพื่อนช่วยเพื่อนให้มีวิธีอยู่ในตำแหน่งที่สามารถสั่งการกองบินตำรวจเช่นเดิมได้
“มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ หายไปไหน ทำไมจึงปล่อยให้ทำสิ่งต้องห้าม ไปนำสถาบันมาเป็นเกราะกำบังเพื่อสร้างวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด เพราะเมื่อได้ตั๋วมาแล้วคงไม่มีใครกล้าตรวจสอบแน่ โดยผลกระทบจากกรณีนี้อย่างน้อยมี 2 ประการ หนึ่ง พล.ต.ต.กำพล ที่ต้องขาดจากตำแหน่งเดิมตามข้อบังคับ สามารถเอาตำแหน่ง ผอ.กองบินเป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์และผู้อำนวยการเดินทางถวาย ซึ่งเป็นตำแหน่งของกองบินตำรวจมาเป็นตำแหน่งติดตัว โดยไม่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนของตำรวจอย่างไรก็ได้ เพราะถ้ามีตั๋วก็ทำได้หมด
“สอง ไม่มีความปลอดภัย เพราะเมื่อ พล.ต.ต.กำพล ถูกย้ายไปอยู่ในหน่วยที่ไม่ต้องทำการบินแล้วก็ไม่จำเป็นต้องตรวจสุขภาพตามระเบียบ จึงเท่ากับขาดคุณสมบัติในการเป็นนักบินและทำให้พระบรมวงศานุวงศ์ต้องตกอยู่ในอันตราย นั่นจึงหมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์ บกพร่องที่สุดในการถวายความปลอดภัย เพราะได้ถวายนักบินเถื่อนไม่ตรวจสุขภาพทำการบินใช่หรือไม่”
รังสิมันต์ อภิปรายต่อไปว่า พล.อ.ประยุทธ์ คือบุคคลสำคัญที่สุดที่เป็นผู้สานต่อวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดวัฒนธรรมทุจริตแล้วได้ดิบได้ดี ให้แผ่ไพศาลไปทั่วทุกระบบราชการ ไม่ใช่แค่ตำรวจ แต่รวมทั้งทหาร, ครู, ศาล, อัยการ และราชการอื่นๆ ใดๆ ทั้งหมดทั้งปวง ฉุดลากเอาระบบราชการของประเทศนี้ที่ตกต่ำอยู่แล้วให้ตกต่ำลงไปอีก ในแบบที่ไม่อาจเห็นได้เลยว่าก้นบึ้งของความตกต่ำนี้จะไปสิ้นสุดลงที่ตรงไหน จึงหวังว่าการอภิปรายของตนรอบนี้จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ สำเหนียกว่าตัวเองไม่คู่ควรอีกแล้วที่จะได้รับความไว้วางใจให้บริหารประเทศจากนี้และตลอดไป แล้วจงพิจารณาตัวเอง ไสหัวของท่านออกไปเสีย
ทั้งนี้ นอกจากประเด็นการทุจริตในกองบินตำรวจ และการใช้งบกลางมาจ่ายค่าโง่แล้ว ในการอภิปรายช่วงต้น รังสิมันต์ยังได้ทวงถามความเป็นธรรมให้กับตำรวจราบ 509 นาย ที่เคยอภิปรายไปเมื่อปี 2564 โดยระบุว่า ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 2 นาย ด้วยการทำอัตวินิบาตกรรม
“เกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ตำรวจราบต้องเจอกับสิ่งที่พวกเขาบอกเองว่านี่ไม่ใช่การรับราชการ แต่มันคือเงามืด ที่ไม่รู้ว่าชีวิตต้องเจออะไรบ้าง ในขณะที่คนที่สั่งการให้พวกเขาต้องมาอยู่ตรงนี้ อย่าง ผบ.ตร. พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข, รอง ผบ.ตร. พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย กำลังจะได้เกษียนไปนอนกินบำนาญใช้ทรัพย์ศฤงคารที่สะสมมา ส่วนตำรวจอีกนายที่เคยรับปากว่ามาอยู่กับพี่ 2 ปี เดี๋ยวให้ย้าย ตอนนี้มีแววว่ากำลังจะไปเป็นรอง ผบ.ตร. และ ผบ.ตร. ต่อในอนาคต ปล่อยให้ 507 คน ที่เหลือยังติดแหง็กอยู่อย่างนี้
“ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ยังมีหัวจิตหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ ยังมีความเห็นอกเห็นใจต่อตำรวจชั้นผู้น้อยเหล่านี้เหลืออยู่บ้าง ก็จงสั่งการออกมาเสียที อย่างน้อยถามความสมัครใจว่าตำรวจราบคนใดอยากโอนย้ายกลับไปหน่วยงานเดิม ต้นสังกัดเดิม นี้คือขั้นต่ำสุดแล้วที่คนเป็นนายกรัฐมนตรีจะสามารถให้กับพวกเขาได้” นายรังสิมันต์ กล่าว
ทั้งนี้ การอภิปรายตั๋วช้างภาคแรกของรังสิมันต์คือ เรื่องราวของตำรวจเลวที่อ้างสถาบันแล้วได้ดี ส่วนการอภิปรายตั๋วช้างภาค 2 คือด้านตรงข้ามเพราะการเป็นตำรวจดีกลับต้องลี้ภัย ขณะที่ตั๋วช้างในครั้งนี้คือภาคต่อในเรื่องราวของตั๋วอีกชนิดที่หากได้มาแล้ว ต่อให้เป็นตำรวจที่มากด้วยข้อครหาก็สามารถอยู่ในตำแหน่งได้ดิบได้ดีไม่มีใครเอาผิดได้