Skip to main content

เหตุการณ์ในต่างประเทศ สอดคล้องกับสถานการณ์ในประเทศไทย เพราะ 'แมต แฮนค็อก' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของสหราชอาณาจักร ถูกประชาชน สื่อมวลชน และสมาชิกพรรคการเมือง ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเช่นเดียวกัน กดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันเสาร์ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา หลังจากตอนแรกเขายืนกรานว่าจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แม้จะถูกสื่อแท็บลอยด์ในอังกฤษเผยแพร่ภาพยืนยันว่า 

(1) เขาฝ่าฝืนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อเดือน พ.ค. เพราะไม่เว้นระยะห่างทางสังคม 
(2) เขามีความสัมพันธ์เกินเลยกับผู้ช่วยสาว 'จีนา โคดาแอนเจโล' ซึ่งเป็นเพื่อนที่เรียนมหาวิทยาลัยมาด้วยกัน แต่พวกเขาสองคนแต่งงานมีครอบครัวของตัวเองอยู่แล้ว

เรื่องอื้อฉาวของแฮนค็อก แม้จะเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ก็ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของรัฐบาล เพราะประชาชนจำนวนมาก รวมถึงสมาชิกพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ตั้งคำถามว่าแม้แต่ รมว.สาธารณสุขก็ยังละเมิดมาตรการป้องกันโควิดเสียเอง แล้วจะมีความชอบธรรมอย่างไรในการขอความร่วมมือประชาชนให้ปฏิบัติตามคำสั่งต่างๆ ตามมาตรการควบคุมและป้องกันโควิดของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

นอกจากนี้ แฮนค็อกยังเคยถูกกดดันให้ลาออกมาก่อนแล้ว เพราะมีหลายเหตุการณ์ที่เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ารับมือได้แย่และไม่โปร่งใส ทั้งกรณีที่เขาถูกตั้งข้อสงสัยว่าละเมิดกฎห้ามดื่มแอลกอฮอล์ช่วงเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว หรือการที่เขาออกมาตอบโต้บุคลากรการแพทย์ที่เปิดเผยข่าวว่าชุดป้องกัน PPE และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการดูแลผู้ป่วยโควิด 'ขาดแคลน' ช่วงต้นปีที่ผ่านมา

ไทม์ไลน์ รมว.สาธารณสุข VS การละเมิดมาตรการโควิด

เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับประชาชนมากที่สุด คือ ตอนที่เขาถูกกดดันให้ลาออกเมื่อเดือน ก.พ. เพราะไม่ได้เปิดเผยข้อมูลสัญญาจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์และสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันโควิดเมื่อปี 2563 ภายในเวลาที่กำหนด ทั้งที่การทำสัญญาจัดซื้อจัดหาต่างๆ เป็นการใช้เงินภาษีกว่าพันล้านปอนด์ และศาลฎีกาสหราชอาณาจักรพิพากษาด้วยว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดกฎข้อบังคับที่ระบุว่ารัฐบาลต้องชี้แจงเรื่องการใช้จ่ายเงินงบประมาณเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 30 วัน 

แต่สิ่งที่แฮนค็อกทำมีเพียงแค่ "แถลงขอโทษ" แต่ยืนยันว่าจะไม่ลาออก จนกระทั่งเจอกับเหตุการณ์ล่าสุด ซึ่งเขาถูกเปิดเผยทั้งความสัมพันธ์นอกสมรสและการละเมิดกฎคุมโควิดเสียเอง โดยหลักฐานยืนยันชัดเจนมาจากภาพในกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งในกระทรวงสาธารณสุข

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. แฮนค็อกยังยืนยันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็น "ความผิดพลาดของมนุษย์" และย้ำว่าจะไม่ลาออก แต่เสียงกดดันทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และนายกฯ จอห์นสันก็ถูกวิจารณ์ว่าปกป้องแฮนค็อกมากเกินไป และไม่เรียนรู้จากกรณีที่เขาเคยปกป้อง 'โดมินิก คัมมิงส์' อดีตหัวหน้าที่ปรึกษาของตัวเอง ซึ่งฝ่าฝืนมาตรล็อกดาวน์ด้วยการขับรถออกนอกพื้นที่ควบคุมเสียเอง จนในที่สุดแฮนค็อกก็ต้องประกาศลาออกอย่างเป็นทางการ โดยทิ้งท้ายในจดหมายเปิดผนึกว่าจะทำงานเพื่อประเทศชาติต่อไป แม้ว่าครั้งนี้จะต้องออกจากตำแหน่งเพราะสาธารณชนให้ความสนใจใน 'เรื่องส่วนตัว' ของเขาแทนที่จะเป็นเรื่องการป้องกันโควิดก็ตามที 

หลังจากแฮนค็อกลาออก ก็มีการแต่งตั้ง 'ซาจิต จาวิด' อดีต รมว.คลัง ขึ้นเป็น รมว.สาธารณสุขคนใหม่แทนทันที และ The Times สื่ออังกฤษ เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่เรียกร้องให้แฮนค็อกลาออก ส่วนใหญ่มองว่าถ้าแฮนค็อกยังอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้ ก็คือการสะท้อนว่ารัฐบาลมีสองมาตรฐานในการกำกับดูแลโรคโควิด และจะทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นในความจริงจังของรัฐบาล เพราะแม้แต่คนที่มีอำนาจดูแลด้านสาธารณสุขโดยตรงยังไม่ปฏิบัติตามกฎเสียเอง 

คำถามในประเทศไทย "ได้ยินเสียงประชาชนไหม"

ขณะเดียวกัน ฝั่งของประเทศไทย ในทวิตเตอร์มีเทรนด์ยอดนิยมที่ติดอันดับต้นๆ มาตั้งแต่สุดสัปดาห์จนถึงช่วงเช้าวันที่ 28 มิ.ย. คือแฮชแท็ก #รัฐบาลส้นตีนคนเชียร์ก็ส้นตีน และ #นะจ๊ะ ซึ่งพาดพิงถึงท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมถึงกลุ่มบุคลากรระดับสูงในรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ที่ยิ้มแย้มและหัวเราะในการแถลงข่าวเรื่องการจัดการโควิดเมื่อวันศุกร์ที่ 25 มิ.ย. โดย พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำว่า "ไม่ล็อกดาวน์นะจ๊ะ" ทั้งยังกล่าวติดตลกเรื่องเพลง 'เทคมีโฮมคันทรีโรด'

ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนมากมองว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เพราะมีประชาชนได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการรับมือโควิดของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นรายวัน และผู้ป่วยโควิดที่ไม่มีเตียงรองรับเพียงพอในโรงพยาบาล ผู้ที่ถูกเลื่อนฉีดวัคซีน รวมถึงผู้ที่ฆ่าตัวตายเพราะพิษเศรษฐกิจ จึงมองว่ารัฐบาลควรให้ข้อมูลควรจริงจัง และผู้นำรัฐบาลอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ ควรมีท่าทีที่คำนึงถึงผู้ได้รับผลกระทบมากกว่านี้

หลังจากนั้นยังมีการประกาศคำสั่งห้ามกิจการหลายอย่างดำเนินการตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.เป็นต้นไป โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาช่วง 'ตีหนึ่ง' ของวันที่ 27 มิ.ย. ทำให้ประชาชนจำนวนมากมองว่าเป็นการมัดมือชกไม่ให้มีผู้คัดค้าน และผู้ประกอบการร้านอาหารหรือกิจการต่างๆ ที่ต้องปรับตัวเพราะมาตรการนี้ก็วิจารณ์ว่าเป็นการ 'กลับคำ' จากเดิมที่ พล.อ.ประยุทธ์บอกเองเมื่อวันศุกร์ว่าจะไม่ล็อกดาวน์ ทั้งยังเป็นคำสั่งที่ไม่มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยามารองรับเหมือนเดิม เพราะไม่ได้ใช้คำว่า 'ล็อกดาวน์' ในประกาศของทางการ แต่ในทางปฏิบัติแล้วก็ทำให้กิจการต่างๆ ต้องหยุดชะงักไม่ต่างกัน 

นอกจากนี้ยังมีผู้ระบุด้วยว่า คำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่บอกว่าจะไม่ล็อกดาวน์ ทำให้ร้านอาหารหลายร้านสั่งซื้อวัตถุดิบเพื่อเตรียมประกอบการตามปกติ เมื่อมีคำสั่งห้ามรับประทานอาหารที่ร้านออกมาช่วงเช้าตรู่วันอาทิตย์ ก็เป็นเรื่องสุดวิสัยที่ทางร้านจะจัดการกับวัตถุดิบที่ซื้อมาได้ทัน และมีผู้ใช้เน็ตจำนวนมากย้ำว่า พล.อ.ประยุทธ์ควรลาออก เพื่อเปิดทางให้ผู้มีความสามารถมากกว่านี้เข้ามาเป็นผู้นำรัฐบาลในภาวะวิกฤต 

การ์ตูนล้อรัฐบาลของ 'อรุณ วัชระสวัสดิ์'

(การ์ตูนล้อรัฐบาลของ 'อรุณ วัชระสวัสดิ์')