Skip to main content

ผู้นำเหนือม่าน: การชูบุคคลที่มิได้เป็นผู้นำพรรคการเมืองเป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้ง 2566

เมื่อกระแสการยุบสภาไหลหลากมาในสมรภูมิการเมืองไทย พรรคการเมืองต่างๆ จึงขยับตัวสอดรับการเลือกตั้งที่จะมาถึง โดยชูผู้นำพรรคลงชิงชัยในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อาทิ พรรคภูมิใจไทยที่เสนอนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวของพรรค เช่นเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ที่เสนอนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว ถึงแม้ว่านายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคจะพยายามเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคเป็นแคนดิเดตร่วมด้วยอีกคนเพื่อช่วยดึงคะแนนเสียง แต่ทางพรรคยังยึดตามประเพณีปฏิบัติเช่นเดิม

ในทางกลับกัน พรรคการเมืองที่น่าจับตามองอีก 2 พรรคคือพรรคเพื่อไทย และพรรครวมไทยสร้างชาติไม่ได้เสนอชื่อหัวหน้าพรรคเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โดยพรรคเพื่อไทยได้ประกาศเสนอนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม ที่ปรึกษาศูนย์ปฏิบัติการการเลือกตั้งพรรค หัวหน้าครอบครัวพรรคเพื่อไทย และบุตรสาวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และนายชัยเกษม นิติสิริ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ในฝั่งของพรรครวมไทยสร้างชาติได้เสนอชื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรครวมไทยสร้างชาติให้รับตำแหน่งอีกสมัย

ในบทความนี้จึงเลือกแคนดิเดตนายกของพรรคการเมืองที่มิได้เสนอผู้นำพรรคเป็นนายกรัฐมนตรีมาศึกษากลยุทธ์การหาเสียงผ่านทฤษฎีการตลาดการเมือง ได้แก่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

ดีเอ็นเอทักษิณ: แพทองธาร ชินวัตรในฐานะว่าที่นายกฯ วงศ์ชินวัตรคนต่อไป?

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊ง เข้ามามีบทบาททางการเมืองเมื่อพรรคเพื่อไทยได้ปรับแนวทางการบริหารพรรคโดยใช้คนรุ่นใหม่เข้ามาขับเคลื่อน ซึ่งนางสาวแพทองธารเป็นหนึ่งในนั้น โดยได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมของพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2564 จากนั้น เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2565 พรรคเพื่อไทยแต่งตั้งให้นางสาวแพทองธารเป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยอีกตำแหน่งหนึ่ง และวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2565 พรรคเพื่อไทยได้แต่งตั้งให้นางสาวแพทองธารเป็นที่ปรึกษาศูนย์ปฏิบัติการการเลือกตั้งพรรคเป็นตำแหน่งที่ 3 ซึ่งในวันประกาศตัวว่าเธอเป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยได้กล่าวว่าเธอคือ “สายเลือด มีดีเอ็นเอของคนที่มีเจตนาจะสร้างบ้านเมืองนี้” (มติชนออนไลน์ 2565, 20 มีนาคม)

การประกาศตนว่า นางสาวแพทองธารคือดีเอ็นเอ สายเลือดของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีจึงมีข้อสังเกตว่าการที่พรรคเพื่อไทยชูเธอขึ้นมาดำรงตำแหน่งภายในพรรคเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ ส.ส. ของพรรคไม่ย้ายไปพรรคอื่น และเรียกคืนความเชื่อมั่นจากคนเสื้อแดงให้กลับมาสนใจพรรคเพื่อไทย (บีบีซีไทย 2566, 18 มีนาคม) ในแง่การตลาดการเมืองนางสาวแพทองธาร เป็นผลิตภัณฑ์ (Product) ตัวหนึ่งที่พรรคเพื่อไทยต้องการจะขายเพื่อเรียกความเชื่อมั่นและความศรัทธากลับคืนมา จึงอาจกล่าวได้ว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่เน้นผลิตภัณฑ์ สังเกตได้จากการเปิดตัวนางสาวแพทองธารที่มีลักษณะเป็นขั้นตอนตามทฤษฎีการตลาดการเมืองของ Less-Marchment (อ้างถีงใน บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ 2566, 57) ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 การออกแบบผลิตภัณฑ์ คือการเปิดตัวนางสาวแพทองธารให้มาดำรงตำแหน่งภายในพรรค

ขั้นตอนที่ 2 การสำรวจตลาด ในขั้นตอนนี้ผู้เขียนสังเกตว่าทางพรรคเพื่อไทยศึกษาจากผลโพล ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสำรวจตลาด โดยเมื่อผลโพลจากหลายสำนักชี้ว่านางสาวแพทองธารมีคะแนนนำ
ผู้แข่งขันคนอื่น ๆ ทางพรรคจึงเปิดตัวเธอในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

ขั้นตอนที่ 3 การสื่อสาร ในขั้นตอนนี้ทางพรรคเพื่อไทยพยายามสื่อสารว่าเธอคือทายาทของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ และให้เธอเป็นผู้ชูนโยบายที่สำคัญของพรรคผ่านการปราศรัย โดยนโยบายบางส่วนพัฒนามาจากนโยบายที่พรรคไทยรักไทยที่นำโดยนายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยที่นำโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้เป็นอาของเธอเคยทำสำเร็จมาแล้ว

ขั้นตอนที่ 4 การรณรงค์หาเสียง เธอเป็นภาพแทนของพรรคเพื่อไทยผ่านป้ายหาเสียงทั่วประเทศ ตลอดจนเป็นผู้ปราศรัยหลักในเวทีปราศรัยต่าง ๆ ของพรรค เพื่อสร้างภาพจำในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

ขั้นตอนที่ 5 การเลือกตั้ง คือการเสนอชื่อเธอเป็น 1 ในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค

ขั้นตอนที่ 6 การส่งมอบ ในขั้นตอนนี้ผู้เขียนคาดการณ์ว่าหากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งและสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เธอจะได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและเป็นผู้ส่งจัดทำนโยบายตามที่ได้หาเสียงไว้

จากผลสังเกตดังกล่าวจึงสรุปได้ว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้พรรคเพื่อไทยพยายามชูนางสาวแพทองธารในฐานะสายเลือดสายตรงตระกูลชินวัตร และผู้สานต่อนโยบายที่พรรคไทยรักไทยและพรรคเพื่อไทยในอดีตเป็นผลิตภัณฑ์สำคัญของพรรคเพื่อไทยในการเชิญชวนและเรียกคืนศรัทธาของประชาชนให้มาเลือกพรรคเพื่อไทยอย่างถล่มทลาย ดังแคมเปญ “ครอบครัวเพื่อไทย แลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน”

 

ขี่หลังเสือ : ความต้องการอยู่อำนาจของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

การเข้ามามีบทบาททางการเมืองของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องนับย้อนไปช่วงปลายปี 2556 เมื่อกลุ่มประชาชนที่ทำการเคลื่อนไหวภายใต้ชื่อ “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)” ได้รวมตัวกันชุมนุมประท้วงรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเพื่อคัดค้านการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมจนนำไปสู่การตัดสินใจยุบสภาของรัฐบาลเพื่อเปิดให้มีการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในปี 2557

แต่กลุ่ม กปปส. ระดมมวลชนไปขัดขวางการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 จนการเลือกตั้งไม่สามารถดำเนินไปได้ด้วยความเรียบร้อยและศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งครั้งดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดภาวะสุญญากาศทางการเมืองเป็นช่องทางให้กองทัพที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นกระทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 ภายใต้ชื่อ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)”

ในระหว่างสุญญากาศทางการเมืองหลังการรัฐประหาร คสช. ถือว่ารัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 ได้สิ้นสภาพลง (บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ 2560, 236) คสช. จึงได้ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราวและประกาศใช้เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแล้ว คสช. จึงแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขึ้นเข้ามาทำหน้าที่ในการตรากฎหมายแทนสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา รวมถึงลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี โดย สนช. ลงมติเลือกพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำการรัฐประหารเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งถือว่าเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก

จากนั้นจึงมีแต่งตั้ง “คณะกรรมาธิการการยกร่างรัฐธรรมนูญ” จำนวน 36 คน นำโดยนายบวรศักดิ์ อุวรรโณ เพื่อดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่เมื่อคณะกรรมาธิการนำเสนอร่างต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ สมาชิกส่วนใหญ่กลับไม่เห็นชอบ โดยผู้ไม่เห็นชอบเป็นกลุ่มทหาร คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง และคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม (ชัชฎา กำลังแพทย์ 2564, 210) ส่งผลให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์เป็นอันตกไป พร้อมกับการสิ้นสภาพของคณะกรรมาธิการทันที ซึ่งนายบวรศักดิ์ได้เปิดใจว่า “เขาอยากอยู่นาน” (วิษณุ เครืองาม 2562, 213)

เมื่อคณะกรรมาธิการชุดเดิมสิ้นสภาพไปจึงจำเป็นต้องมีการแต่งตั้งคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญมาใหม่เรียกว่า “คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ” จำนวน 21 คน นำโดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์เป็นประธาน ซึ่งสุดท้ายรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยได้ผ่านการลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559 โดยมีคะแนนเสียงเห็นชอบทั้งหมด 16,820,402 เสียง คิดเป็นร้อยละ 61.35 จากผู้มาใช้สิทธิจำนวน 29,740,677 คน หรือร้อยละ 59.4 ของผู้มีสิทธิทั้งหมด 50,071,589 คน (บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ 2560, 244)

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งก่อนหน้าการเลือกตั้ง รัฐบาล คสช. ภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้ดำเนินการหลายประการที่ส่อให้เห็นใช้การเปลี่ยนผ่านอำนาจไปสู่อำนาจเดิม หรือก็คือการรักษาอำนาจของพรรคพวก คสช. ให้คงอยู่ดังเดิม ผ่านการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยเฉพาะการแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดใหม่ซึ่งมีอำนาจในการกำหนดเขตการเลือกตั้งแบบไม่เป็นธรรมที่เรียกว่า “การจัดสรรปันส่วนผสม” รวมทั้งออกแบบบัตรเลือกตั้งให้เกิดความสับสน ออกระเบียบการวินิจฉัยบัตรเสียที่เข้มงวดจนมีบัตรเสียมากกว่า 2.1 ล้านใบ ตลอดจนปัญหาการนับคะแนนที่ไม่โปร่งใส จนไม่สามารถกล่าวได้ว่าเป็นการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยแบบปกติ (ประจักษ์ ก้องกีรติ 2563, 247) จึงไม่ผิดนักหาก นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำพรรคพลังประชารัฐ (ในขณะนั้น) ซึ่งเป็นพรรคที่สืบทอดเจตนารมณ์ของ คสช. จะกล่าวว่า “การเลือกตั้งนี้ รัฐธรรมนูญดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” (คมชัดลึกออนไลน์ 2561, 19 พฤศจิกายน) และการณ์ก็เป็นไปดังตามที่นายสมศักดิ์กล่าวคือ พรรคพลังประชารัฐสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ถึงแม้ว่าจะได้จำนวน ส.ส. เป็นรองจากพรรคเพื่อไทยก็ตาม ทำให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกหนึ่งสมัย

ในการเลือกตั้ง 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชายังคงต้องการรักษาอำนาจของตนเองต่อด้วยการสมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาคเป็นหัวหน้าพรรค และดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรคการเมือง และได้รับความไว้วางใจจากพรรคเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอีกหนึ่งสมัย

พรรครวมไทยสร้างชาติได้ชูผลิตภัณฑ์ซึ่งคือ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นจุดขายของพรรคเช่นเดียวกัน โดยชูว่า “เป็นผู้ซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส จริงใจ ลูกทุ่ง คิดอย่างไรพูดอย่างนั้น” (ไทยโพสต์ 2566, 21 มีนาคม) ตลอดจนการหาเสียงด้วยการใช้วีดิทัศน์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ซึ่งจนถึงการยุบสภาพรรคได้ผลิตออกมาแล้วจำนวน 4 ชุด ได้แก่

1) ไอติม ที่มีนัยสื่อถึงการส่งต่องบประมาณจากรัฐบาลไปถึงประชาชนในอดีตเต็มไปด้วยการคอร์รัปชันต้องผ่านหลายมือจนแทบไม่เหลืองบประมาณถึงประชาน แต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์สามารถส่งต่องบประมาณ
ถึงประชาชนได้เต็มอัตราผ่านเทคโนโลยี

2) ทำเยอะ เป็นวีดิทัศน์รวมผลงานสำคัญของพลเอกประยุทธ์ตลอดการเป็นนายกรัฐมนตรี

3) หวย กล่าวถึงการจัดการปัญหาราคาสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วยแอพพลิเคชัน “เป๋าตัง” ของรัฐบาล

4) เงยหน้า เป็นการเสียดสีประชาชนบางส่วนที่มัวแต่ก้มหน้าจนมองไม่เห็นผลงานของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ หากลองเงยหน้าก็จะพบผลงานมากมาย รวมไปถึงนำเสนอนโยบายของทั้งด้านสวัสดิการ การศึกษา เศรษฐกิจ สาธารณสุข และการเกษตร อาทิ บัตรสวัสดิการพลัส คนละครึ่งและเราเที่ยวด้วยกัน ภาค 2 แก้กฎหมายที่ดิน (PPTV Online 2566, 21 มีนาคม) ภายใต้ร่มแคมเปญ “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ”

จากภาพป้ายหาเสียงของพรรครวมไทยสร้างชาติเป็นที่น่าสังเกตว่าการผลิตภาพพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาคู่กับนโยบายของพรรคซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีฐานความนิยมแต่เดิม ประกอบกับการหาเสียงผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ด้วยการใช้สื่อวีดิทัศน์ที่ส่วนมากมาจาการการประมวลผลงานที่สำคัญของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาจึงอาจกล่าวได้ว่าพรรครวมไทยสร้างชาติเป็นพรรคที่เน้นการขายโดยอาศัยฐานความนิยมและความสำเร็จของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์เป็นสำคัญ

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: พิชชากร แร่เพ็ชร นิสิตระดับปริญญาบัณฑิตชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการศึกษานอกระบบโรงเรียน ภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย