Skip to main content

การรวมตัวของผู้ชุมนุมหลากหลายกลุ่มในประเทศไทยในวันที่ 24 มิ.ย.2564 ถูกรายงานผ่านสื่อต่างประเทศหลายสำนัก โดยระบุว่าตรงกับวันครบรอบ 89 ปีแห่งการอภิวัฒน์สยาม ที่เปลี่ยนแปลงการปกครองไทย จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทั้งยังเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ในรอบกว่า 3 เดือน นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ที่รุนแรงกว่าครั้งที่ผ่านมา แต่สถานการณ์ด้านประชาธิปไตยในประเทศไทยและเอเชียก็ยัง 'เปราะบาง' อยู่ดี

การกลับมาของ ‘ราษฎร’ และการปรับท่าทีของ ‘เสื้อเหลือง’ 

เว็บไซต์ DW สื่อเยอรมนี สัมภาษณ์ ‘ไผ่ ดาวดิน’ หรือ’จตุภัทร บุญภัทรรักษา’ หนึ่งในแกนนำกลุ่มราษฎร ที่ให้สัมภาษณ์เหตุผลในการรวมตัวกดดันรัฐบาลในครั้งนี้ เพื่อยืนยันข้อเรียกร้องดั้งเดิมที่ออกมาเคลื่อนไหว ได้แก่ การยกเลิก 250 วุฒิสมาชิกที่ได้รับแต่งตั้งโดยอดีตรัฐบาลทหาร, แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมถึงการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

ประโยคหนึ่งที่ไผ่ ดาวดิน ให้สัมภาษณ์ DW ระบุว่า "รัฐธรรมนูญต้องมาจากประชาชน" และเวลา 89 ปีหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ดูเหมือนว่าประชาธิปไตยในประเทศไทยจะยังไม่คืบหน้าไปไหนมากนัก จึงจำเป็นที่จะต้องออกมาเคลื่อนไหวเพื่อกดดันรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหาร และนำไปสู่การปรับแก้กติกาในการบริหารประเทศที่เป็นธรรมมากขึ้น

ขณะที่ Aljazeera รายงานว่า การชุมนุมของผู้เรียกร้องการปฏิรูปการเมืองและประชาธิปไตยในไทย เผชิญหน้ากับการตรึงกำลังอย่างเข้มงวดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งให้เหตุผลว่าการชุมนุมอาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ แต่สถานการณ์โควิดในไทยที่คนจำนวนมากยังไม่ได้รับวัคซีน เพราะการจัดซื้อจัดหาวัคซีนที่ล่าช้า ก็ยิ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้คนต้องการแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลมากขึ้น

ไผ่ ดาวดิน/ the Opener

การชุมนุมท่ามกลางสถานการณ์โควิดในครั้งนี้ไม่ได้มีแค่กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ยังรวมถึง ‘นิติธร ล้ำเหลือ’ แกนนำกลุ่มเสื้อเหลืองซึ่งเคยชุมนุมต่อต้านกลุ่มราษฎรเมื่อปีที่แล้ว โดยเขาเป็นคนหนึ่งที่ประกาศความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และเคยสนับสนุนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แต่เมื่อ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา นิติธรเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่ง 

นิติธรให้สัมภาษณ์กับ Reuters ว่าเป้าหมายของเขายังเหมือนเดิม คือ การทำเพื่อชาติ ศาสนา สถาบันกษัตริย์ ประชาชน และประชาธิปไตย แต่การบริหารจัดการสถานการณ์โควิดของประยุทธ์นั้นส่งผลกระทบอย่างมากต่อประชาชนและเศรษฐกิจ ทำให้ต้องออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้ ทั้งยังระบุด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ล้มเหลวในการฟื้นฟูประชาธิปไตย

เทรนด์ประชาธิปไตยในเอเชีย “มูฟออนเป็นวงกลม”

สถาบันวิชาการ Brookings Education ในสหรัฐอเมริกา เผยแพร่บทวิเคราะห์เกี่ยวกับประชาธิปไตยในเอเชียช่วงต้นปี 2564 ระบุว่ากลุ่มประเทศผู้นำด้านเศรษฐกิจ G7 สนับสนุนแนวคิดเรื่องประชาธิปไตย โดยเฉพาะในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เห็นได้จากที่ ‘โจ ไบเดน’ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระบุว่าเขาจะผลักดันให้เกิดการประชุมสุดยอดผู้นำด้านประชาธิปไตย ร่วมกับประเทศสมาชิกจี7 และอีก 3 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ เกาหลีใต้ อินเดีย และออสเตรเลีย เพื่อต่อต้านแนวคิดอำนาจนิยม การทุจริต และปกป้องหลักสิทธิมนุษยชน

ท่าทีดังกล่าวสืบเนื่องจากสถานการณ์ด้านประชาธิปไตยในกลุ่มประเทศแถบเอเชียไม่คืบหน้าไปจากเดิมมากนัก หรือในบางประเทศที่มีความคืบหน้า แต่ก็เกิดภาวะถดถอยหลายครั้ง อ้างอิงจากการที่รัฐบาลอำนาจนิยมได้รับความนิยมหรือได้รับเลือกเป็นผู้บริหารประเทศเพิ่มขึ้นช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยบทความได้ยกตัวอย่างประเทศที่สิทธิและเสรีภาพที่เกี่ยวกับประชาธิปไตยได้รับผลกระทบหนัก ได้แก่ ไทย ฟิลิปปินส์ เมียนมา และศรีลังกา อ้างอิงผลสำรวจความเห็นของประชาชนในประเทศแถบเอเชีย

‘ลินด์ซีย์ ดับเบิลยู ฟอร์ด’ และ ‘ไรอัน แฮส’ ผู้เขียนบทวิเคราะห์ Democracy in Asia ระบุว่า คนส่วนใหญ่ที่ตอบแบบสอบถามยังเชื่อมั่นในคุณค่าและระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ไม่ไว้ใจในสถานการณ์ประชาธิปไตยในประเทศตัวเอง โดยปัจจัยที่ทำให้คนไม่เชื่อมั่นในระบอบนี้ สืบเนื่องจาก 4 ประเด็นหลัก ได้แก่:

The Opener

(1) ความเหลื่อมล้ำและการทุจริตในกลุ่มชนชั้นนำ พร้อมยกตัวอย่างกรณีของรัฐบาลเกาหลีใต้ชุดปัจจุบัน แม้จะได้รับความนิยมสูงจากประชาชน และมีภาพลักษณ์ที่ดีด้านสิทธิมนุษยชน แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการให้ความสำคัญกับกลุ่มธุรกิจหลายตระกูลซึ่งมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว ทำให้ประชาชนบางส่วนไม่ไว้ใจรัฐบาล ทั้งยังมีกรณี ‘นาจิบ ราซัก’ อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียที่โดนข้อหาทุจริตเสียเองในคดีกองทุน 1MDB

(2) ความขัดแย้งทางอุดมการณ์การเมือง ทำให้คนสนับสนุนแนวคิดชาตินิยม-ชาติพันธุ์นิยมเพิ่มขึ้น โดยสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนในสังคมขัดแย้งทางความคิด เกี่ยวพันกับความนิยมทางการเมือง ศาสนา และเชื้อชาติ เพราะในหลายประเทศ ประชาชนมีความแตกต่างหลากหลาย และความขัดแย้งเหล่านี้มีผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลเช่นกันว่าจะบริหารนโยบายเพื่อไม่ให้กระทบต่อความเชื่อมั่นหรือความนิยมที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลอย่างไร

(3) พื้นที่ของ ‘ภาคประชาสังคม’ ลดลง สังเกตได้จากที่รัฐบาลหลายประเทศออกกฎหมายที่ส่งผลกระทบหรือสกัดกั้นสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน รวมถึงสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบ โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายเหล่านี้มีตั้งแต่องค์กรทางศาสนา สถาบันวิชาการ สื่อมวลชน รวมถึงเครือข่ายภาคประชาสังคมที่เคลื่อนไหวในประเด็นต่างๆ ในแต่ละประเทศ สิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนในการเสริมสร้างประชาธิปไตย เพราะประชาชน รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชน ขาดพื้นที่ที่จะส่งเสียงหรือแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่แตกต่างจากนโยบายของรัฐบาล

(4) ภาวะโควิด-19 แพร่ระบาด ซ้ำเติมสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน เพราะหลายประเทศแถบเอเชียล้วนได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทั้งด้านเศรษฐกิจและสาธารณสุข ทำให้หลายๆ รัฐบาลเลือกใช้นโยบายจำกัดหรือควบคุมสิทธิเสรีภาพของประชาชนในด้านต่างๆ และให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้น โดยอาศัยเหตุผล “เพื่อความมั่นคงและปลอดภัยของสาธารณะ” แต่ในทางกลับกัน บางประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ ประชาชนกลับสนับสนุนรัฐบาลให้ใช้มาตรการเข้มงวดในการรับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาด แต่ก็นำไปสู่การละเมิดสิทธิประชาชนจำนวนมากเช่นเดียวกัน

The Opener

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ‘เปราะบาง’ ยิ่งกว่าที่อื่น

เจมส์ ชิน ศาสตราจารย์ด้านเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยแทสมาเนีย เผยแพร่บทความชื่อว่า Democracy has always been fragile in Southeast Asia. Now, it may be sliding backwards ผ่านทางเว็บไซต์ The Conversation เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่าหลายปีก่อน ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เคยถูกคาดหวังว่าจะมุ่งหน้าสู่ความเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นเมียนมาซึ่งรัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของ ‘อองซาน ซูจี’ ชนะการเลือกตั้ง หรือฟิลิปปินส์ที่อยู่ภายใต้การบริหารของ ‘เบนิกโน อากีโน ที่3’ 

แต่ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายประเทศตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลอำนาจนิยม ‘โรดริโก ดูแตร์เต’ ได้รับเลือกเป็นผู้นำต่อจากอากีโน และเดินหน้าใช้วิธีการรุนแรงปราบปรามยาเสพติด ขณะที่ไทยเกิดรัฐประหารยึดอำนาจ ตามด้วยเมียนมา นำไปสู่การสังหารและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ โดยกรณีของไทยมีการใช้กฎหมายดำเนินคดีผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล รวมถึงผู้วิพากษ์วิจารณ์หรือเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

บทความของชินระบุว่า ประเทศเหล่านี้มีประชาธิปไตยที่เปราะบาง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประเทศตะวันตกที่เคยสนับสนุนแนวทางประชาธิปไตยไม่ได้ดำเนินนโยบายด้านนี้ต่อ เช่น สหรัฐฯ ภายใต้การนำของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ได้กดดันให้ประเทศพันธมิตรเรื่องความเป็นประชาธิปไตย หรือในกรณีที่ประเทศยุโรปออกมาตรการคว่ำบาตรรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ก็ยังมีรัฐบาลจีนที่ทรงอิทธิพลในภูมิภาคนี้ คอยให้การสนับสนุนด้านต่างๆ โดยไม่สนใจว่าประเทศนั้นจะเป็นหรือไม่เป็นประชาธิปไตย

นอกจากนี้ ความรู้สึกของคนจำนวนหนึ่งในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเคยเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกในอดีต ก็มีความไม่ไว้วางใจรัฐบาลจากฝั่งตะวันตกในปัจจุบัน และการที่จีนเป็นประเทศที่ทรงอิทธิพลทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองในปัจจุบัน ก็ทำให้หลายประเทศไม่จำเป็นต้องพึ่งพาประเทศตะวันตกมากเท่าตอนที่อยู่ในยุคสงครามเย็น ทั้งยังมีจีนเป็น ‘ต้นแบบ’ ในฐานะประเทศที่ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จปกครองประชาชน ทำให้การดำรงรักษาความเป็นประชาธิปไตยในประเทศเหล่านี้ ‘เปราะบาง’ กว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย