Skip to main content

รัฐประหารพม่าโดยนายพลมินอ่องหล่าย ผ่านมาสี่เดือนกว่าแล้ว ผมได้รวบรวมข้อมูลจากวงในพม่าพร้อมใช้ทฤษฎีรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับพลเรือนและการเปลี่ยนสู่เผด็จการ พบว่ามีเหตุผลหรือปัจจัย (อย่างน้อย) 7 ประการที่ผลักให้เกิดรัฐประหารพม่า ซึ่งได้แก่

1. สัมพันธภาพระหว่าง 'ธุระ ฉ่วย มาน' กับ 'อองซาน ซูจี' : 

นายพลฉ่วย มาน คือ อดีตเสนาธิการกองทัพพม่า รั้งตำแหน่งเบอร์ 3 ในโครงสร้างอำนาจระบอบการเมืองเก่ายุค SPDC (รองจากนายพลตาน ฉ่วย และนายพลหม่องเอ) แต่ในการเมืองพม่าระยะเปลี่ยนผ่าน นายพลเต็ง เส่ง อดีตนายกรัฐมนตรียุค SPDC ซึ่งครองอำนาจเป็นเบอร์ 4 ได้ขยับขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งถือเป็นเบอร์ 1 ในระเบียบการเมืองใหม่ การพลาดหวังในอำนาจทำให้ ธุระ ฉ่วย มาน ต้องกระชับสัมพันธ์กับ อองซาน ซูจี และฝ่ายประชาธิปไตย เพื่อถ่วงดุลกับเต็ง เส่ง จนทำให้ฉ่วย มาน ถูกลดอำนาจในพรรค USDP เป็นอย่างมาก กระนั้น ฉ่วย มาน ยังพยายามสานสัมพันธ์กับฝ่ายประชาธิปไตยจนเริ่มกลายเป็นภัยคุกคามต่อกลุ่มเผด็จการ การเลือกตั้งเมื่อปลายปี ค.ศ.2020 ฉ่วย มาน ได้หันไปตั้งพรรคการเมืองใหม่และมีแผนเป็นพันธมิตรกับพรรค NLD เพื่อหนุนฐานอำนาจของ ซู จี

2. ฝ่ายประชาธิปไตยมีอำนาจมากเกินไปในสภา: 

นับแต่พรรค NLD ชนะเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปลายปี ค.ศ.2015 จนครองเสียงข้างมากในสภาและจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ พรรค USDP และทหารร้อยละ 25 ในโครงสร้างสภาก็ได้กลายเป็นเสียงส่วนน้อย การผ่านกฎหมายฉบับต่างๆ และการต่อรองในสภา พบว่า พรรค NLD มีความได้เปรียบหลายประการ แม้การแก้รัฐธรรมนูญในมาตราสำคัญที่เกี่ยวกับการลดบทบาทกองทัพในทางการเมืองลง (ซึ่งต้องใช้เสียงร้อยละ 75 ขึ้นไป) กลุ่มทหารในสภาจะสามารถสกัดเสียงโหวดของฝ่ายประชาธิปไตยได้ หากแต่ก็เป็นไปแบบฉิวเฉียดหวาดเสียว ทั้งนี้หากอนาคต สส.ทหาร ร้อยละ 25 ในสภาเกิดเสียงแตก หรือ NLD มีกลยุทธ์การเมืองใหม่ๆในการเดินเกมลดอำนาจทหารในสภา ก็ย่อมก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อฐานอำนาจกองทัพ

3. ออง ซาน ซู จี กุมอำนาจปกครองรัฐมากไป:

นาง ออง ซาน ซู จี คุมกำลังบริหารรัฐพม่ามา 5 ปีเต็ม เธอเป็นทั้งมนตรีแห่งรัฐ (State Counsellor) รัฐมนตรีประจำสำนักประธานาธิบดี รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ และหัวหน้าพรรค NLD ตำแหน่งมนตรีแห่งรัฐทำให้เธอมีอำนาจคล้ายๆกับนายกรัฐมนตรีและเป็นผู้ประสานสายใยอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ การก่อรัฐประหารครั้งล่าสุด ส่วนหนึ่งถูกกระตุ้นด้วยความหวาดระแวงของกองทัพที่มีต่อผู้นำพลเรือนที่ครองอำนาจนำทางการเมืองในระดับสูง

4. ฝ่ายประชาธิปไตยยึดกรมการปกครองสำเร็จ:

กรมการปกครอง หรือ GAD (General Administration Department) อยู่ใต้สังกัดกระทรวงมหาดไทย มีบทบาทหลายด้าน เช่น การผันงบประมาณพัฒนาท้องที่ต่างๆจากส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่น ส่วนรัฐมนตรีมหาดไทยที่คุมกรมการปกครองอีกทีก็เป็นนายทหารที่ได้รับการคัดเลือกเสนอชื่อจากนายพล มิน อ่อง หล่าย ในปี ค.ศ. 2019 รัฐบาลพรรค NLD ได้โยกกรมการปกครองออกจากกระทรวงมหาดไทยสำเร็จโดยให้มาขึ้นตรงกับสำนักคณะรัฐมนตรีที่กุมโดยนาง ซู จี การเปลี่ยนถ่ายดังกล่าวทำให้เจ้าพนักงานกรมการปกครองกว่าสี่หมื่นคนต้องมาขึ้นตรงกับอำนาจ ซู จี และทำให้สัมพันธภาพระหว่างกรมการปกครองกับกองทัพถูกตัดขาดลงไป

5. การแข่งอำนาจระหว่างมุขมนตรีกับแม่ทัพภาค:

ในยุคระบอบทหาร SPDC แม่ทัพภาคมีอำนาจมากในการบริหารปกครองรัฐและภาค แต่ในการเมืองระยะเปลี่ยนผ่านหลังปี ค.ศ. 2011 ได้เกิดตำแหน่งมุขมนตรี (Chief Minister) ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาลประจำภาคและรัฐแทน เช่น ในรัฐกะเหรี่ยง รัฐฉาน ภาคย่างกุ้ง ภาคมัณฑะเลย์ ฯลฯ ก็จะมีมุขมนตรีเข้าบริหารปกครอง ในสมัยรัฐบาล NLD มุขมนตรีทั้งหมด 14 ตำแหน่ง มาจากพรรค NLD โดยในบางพื้นที่ที่ปราศจากการสู้รบ มุขมนตรีจะมีบทบาทโดดเด่นกว่าแม่ทัพภาค เช่น มุขมนตรีภาคย่างกุ้งที่ได้รับความนิยมจากประชาชนและคอยผลักดันนโยบายเศรษฐกิจการพัฒนาหลายๆด้าน แต่ในบางพื้นที่ที่มีการสู้รบ เช่น รัฐคะฉิ่น แม่ทัพภาคเหนือที่มิตจินายังคงมีอำนาจมาก ในการนี้ เป็นที่สังเกตว่าในรัฐประหารล่าสุด นอกจากจะยึดอำนาจกันในกรุงเนปิดอว์แล้ว กองทัพพม่ายังบุกเข้าไปจับกุมมุขมนตรีและบุคคลสำคัญในคณะรัฐมนตรีประจำรัฐและภาคด้วย โดยการจัดการปกครองรัฐพม่าหลังรัฐประหารนั้น มินอ่องหล่าย ได้ผลักดันให้แม่ทัพภาคที่คุมภาคทหารบกทั่วประเทศขึ้นมาครองอำนาจทางการเมืองการปกครองในส่วนภูมิภาคเรียบร้อยแล้ว

6. ฝ่ายประชาธิปไตยแช่แข็งสภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ:

ในการเมืองพม่ายุคก่อนรัฐประหาร มีองค์กรการเมืองความมั่นคงสำคัญที่เรียกว่า NDSC (National Defence and Security Council) ประกอบด้วยคณะรัฐบุคคล 11  ท่าน ได้แก่ ผบ.สส. รอง ผบ.สส. ประธานาธิบดี รองประธานาธิบดีคนที่หนึ่ง รองประธานาธิบดีคนที่สอง ประธานสภาประชาชน ประธานสภาชนชาติ รัฐมนตรีมหาดไทย รัฐมนตรีกลาโหม รัฐมนตรีกิจการชายแดน รัฐมนตรีต่างประเทศ NDSC มีหน้าที่สำคัญในการให้ Key Man เหล่านี้เข้ามาประชุมกำหนดนโยบายการเมืองความมั่นคงและการต่างประเทศที่สำคัญของชาติบ้านเมือง อัตราสัดส่วนระหว่างรัฐบุคคลที่เป็นฝ่ายทหารกับฝ่ายพลเรือน คือ 6 ต่อ  5 (ฝั่งกองทัพ ได้แก่ ผบ.สส. รอง ผบ.สส. รองประธานาธิบดีหนึ่งท่านที่เสนอชื่อโดยกองทัพ รัฐมนตรีกลาโหม มหาดไทยและกิจการชายแดนที่ถูกคัดเลือกเสนอชื่อโดย ผบ.สส. ส่วนอีกห้าตำแหน่งที่เหลือเป็นของฝั่งพลเรือน)

ในการนี้ พบว่า ในสมัยรัฐบาล NLD นางซูจี ไม่ได้จัดประชุม NDSC แต่เปลี่ยนเป็นการดึงรัฐบุคคลบางท่านเข้าไปประชุมหารือในสำนักประธานาธิบดีหรือสำนักมนตรีแห่งรัฐแทน นักวิเคราะห์มองว่า หากซูจี จัดประชุม NDSC เธอจะไม่มีอำนาจมากเพราะจะเข้าร่วมในตำแหน่ง รมต.ต่างประเทศ เท่านั้น โดยภาวะที่วงประชุม NDSC ถูกปิดหรือถูกแปลงรูป ได้ทำให้กองทัพเกิดอาการอึดอัดเพราะไม่สามารถ "Exercise Power” ได้ ผิดกับสมัยประธานาธิบดีเต็งเส่ง ที่จัดประชุม NDSC อย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง 

7. ฝ่ายประชาธิปไตยชนะเลือกตั้งตลอด:

หลังพรรค NLD ยอมหันมาสู้ศึกเลือกตั้งแข่งกับพรรค USDP ซึ่งถูกมองว่าเป็นพรรคที่ต่อท่ออำนาจมาจากระเบียบการเมืองเก่าและมีสายสัมพันธ์กับกองทัพ พบว่า พรรค NLD ชนะเลือกตั้งมาตลอด เช่น การเลือกตั้งซ่อม 2012 การเลือกตั้งทั่วไป 2015 การเลือกตั้งซ่อม 2016 และ การเลือกตั้งทั่วไป 2020 ฉะนั้น ในสนามเลือกตั้ง ฝั่งอำนาจนิยมคงไม่มีวันชนะฝั่งประชาธิปไตย ผลเลือกตั้ง 2020 ก็ชี้ให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของพรรค NLD ทั้งนี้หากกองทัพไม่สกัดกระบวนการเลือกตั้งและตั้งรัฐสภา/รัฐบาลใหม่ ฝ่ายประชาธิปไตยก็คงสยายปีกอย่างต่อเนื่องและกองทัพคงไม่มีบทบาทนำในการเมืองพม่าอีกต่อไป จึงเป็นที่มาสำคัญในการชิงรัฐประหารเพื่อตัดวงจรฝ่ายประชาธิปไตย

ปัจจัยตัวแปรทั้ง 7 ประการนี้ซึ่งก่อตัวในการเมืองพม่าช่วงก่อนรัฐประหารได้กลายเป็นภัยคุกคามที่เริ่มสะท้อนความเหนือกว่าของพลเรือนในทางการเมือง ปัจจัยเหล่านี้ได้เข้าไปสะสมพอกพูนอยู่ในมโนทัศน์ของ มินอ่องหล่าย จนเมื่อการเลือกตั้ง 2020 ผ่านพ้นไปพร้อมชัยชนะแบบถล่มทลายของพรรค NLD  มินอ่องหล่าย กับอองซาน ซูจี ต่างก็อยู่ในสนามของเกมกระพริบตา (Brinkmanship Game) ในลักษณะที่ มินอ่องหล่าย และ กองทัพ ซึ่งหวาดระแวงฝ่ายประชาธิปไตยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว รู้สึกหมดความอดทนอดกลั้นจนพร้อมจะใช้กำลังบีบบังคับให้กลุ่มพลเรือนยอมผ่อนอำนาจหรือยอมต่อรองกับกองทัพบ้าง กองทัพพยายามชูประเด็นเรื่องพรรค NLD ทุจริตเลือกตั้งและให้ชะลอการประชุมรัฐสภาและตั้งรัฐบาลใหม่ออกไปก่อน แต่ก็ได้รับการปฏิเสธจากกลุ่มพลเรือน 

หากปล่อยไว้แบบนี้ มีหวัง กองทัพคงไม่มีที่ยืนในการเมืองอีกต่อไป ดังนั้น มินอ่องหล่าย จึงขอกระพริบตาก่อนด้วยการชักอาวุธและวิธีการที่เคยชินในประวัติศาสตร์เพื่อริบอำนาจฝ่ายตรงข้ามให้เด็ดขาด 
ผลลัพธ์ที่ได้ คือ การก่อรัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ 2021