ช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่แฮชแท็ก #นิติจุฬา ติดอันดับยอดนิยมในทวิตเตอร์ไทยเมื่อ 6 มิ.ย. มีความคืบหน้าเรื่องการต่อต้านเหตุคุกคามทางเพศในโรงเรียนผ่าน TikTok โดยนักเรียนหญิงมาเลเซียที่ออกมาต่อต้านการเล่นมุกตลกเกี่ยวกับการข่มขืนจากอาจารย์และเพื่อนร่วมชั้นเรียน ซึ่งปฏิกิริยาของสังคมต่อประเด็นนี้ก็มีทั้งเชิงบวกและเชิงลบ แต่ก็นำไปสู่การตั้งคำถามกับ ‘วัฒนธรรมเป็นพิษ’ ที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ
กรณีของประเทศไทย กระแสร้อนแรงที่พาดพิงคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มต้นจากที่มีผู้นำภาพแคปหน้าจอของบทสนทนาในห้องแชตที่ประกอบด้วยนักเรียนชายราว 60 คนซึ่งเป็น ‘ว่าที่นิสิต’ คณะนิติฯ จุฬาฯ พบว่ามีบทสนทนาของสมาชิกราว 3-4 คนที่พาดพิงนักเรียนหญิงที่เป็นว่าที่นิสิตจุฬาฯ คณะอื่นๆ ในเชิงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เพราะมีการนำภาพกับข้อมูลส่วนตัวของนักเรียนหญิงหลายคนมาเผยแพร่พร้อมด้วยคำวิพากษ์วิจารณ์ที่ส่อนัยคุกคามทางเพศ
ข้อความที่มีผู้บันทึกไว้ได้ถูกนำมาเผยแพร่ผ่านทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. และกลายเป็นประเด็นร้อนแรงเพราะผู้ที่ถูกพาดพิงรู้สึกถูกละเมิดและคุกคามทางเพศ ขณะที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์อีกเป็นจำนวนมากมองว่าการพูดถึงผู้อื่นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศและรูปร่างหน้าตาถือว่าเข้าข่าย ‘คุกคาม’ แม้จะเป็นการพูดคุยในกลุ่มปิดก็ตามและนำไปสู่การเรียกร้องให้คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ สอบสวนข้อเท็จจริงและแสดงท่าทีที่ชัดเจนกับประเด็นในสื่อสังคมออนไลน์ดังกล่าว
ช่วงเวลาประมาณ 01:00 น. วันที่ 6 มิ.ย. ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ได้โพสต์ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่าคณะนิติฯ จุฬาฯ ขอแสดงความเสียใจต่อนิสิตที่ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของกลุ่มนักเรียนชายซึ่งอาจจะเข้ามาเป็นนิสิตใหม่ในความดูแลของคณะนิติ โดยระบุว่าเป็น “การกระทำที่มีลักษณะล่วงละเมิดต่อความเป็นส่วนตัว – อาจเข้าข่ายพฤติการณ์ล่วงเกินทางเพศผ่านระบบสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ต่อนิสิตคณะอื่น” ทางคณะจะเร่งสอบหาข้อเท็จจริงและดำเนินการต่อไปโดยเร็ว
หลังจากการโพสต์ข้อความของคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ มีผู้นำเรื่องดังกล่าวไปเผยแพร่ต่อในทวิตเตอร์และได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่แตกต่างกันไป ผู้ใช้ทวิตเตอร์จำนวนไม่น้อยชื่นชมคณบดีที่ไม่เพิกเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ก็มีผู้มองว่าการพูดคุยในกลุ่มสนทนาวงปิดไม่น่าเข้าข่ายละเมิดสิทธิส่วนบุคคล โดยหลายคนมองว่าเป็นการพูดคุยล้อเล่นตามปกติในกลุ่มนักเรียนชาย ซึ่งไม่ได้มีการล่วงละเมิดทางกายมาเกี่ยวข้องใดๆ แต่ก็มีผู้ย้ำว่าการล้อเลียนเรื่องเพศ ‘ไม่ตลก’ และควรรณรงค์ให้คนในสังคมตระหนักรู้เรื่องนี้กันมากขึ้น
โรงเรียนควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย-ปลอดพ้นการคุกคามทางเพศ
ก่อนจะเกิดประเด็น #นิติจุฬา ได้ไม่กี่วัน รัฐบาลมาเลเซียเปิดเผยความคืบหน้าการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณี ‘ไอนู ฮัสนิซา ไซฟูล นิซาม’ นักเรียนมัธยมปลาย วัย 17 ปี เผยแพร่คลิปวิดีโอผ่านแอปพลิเคชัน TikTok บอกเล่าถึงเหตุการณ์ที่เธอต้องเผชิญหน้ากับการเล่นมุกตลกเกี่ยวกับการละเมิดทางเพศระหว่างอาจารย์และนักเรียนชายที่เป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ทำให้เธอติดแฮชแท็ก #MakeSchoolASaferPlace เพื่อรณรงค์ให้โรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดภัยจากการคุกคามทางเพศ
ในคลิปที่เผยแพร่ใน TikTok ไอนูอธิบายว่าระหว่างการเรียนวิชาพละ ครูผู้ชายได้บอกกับนักเรียนในชั้นถึงวิธีป้องกันการคุกคามและละเมิดทางเพศ ทั้งยังพูดถึงกฎหมายคุ้มครองเยาวชนจากการละเมิดทางเพศ แต่ครูคนดังกล่าวกลับตบท้ายด้วยการเล่นมุกกับนักเรียนชายว่าถ้าจะข่มขืนหรือมีอะไรกับนักเรียนหญิงก็ให้เลือกคนที่มีอายุครบ 18 ปีแล้วก็จะไม่โดยข้อหาเกี่ยวกับการละเมิดทางเพศเยาวชน และนักเรียนชายส่วนใหญ่ก็หัวเราะไปกับมุกนี้ ในขณะที่นักเรียนหญิงได้แต่เงียบ
คลิปวิดีโอของไอนูมีผู้เข้าชมจำนวนมากหลังจากเผยแพร่ได้ไม่นาน และมีผู้ใช้ TikTok หลายคนบอกเล่าว่าเคยเผชิญกับการเล่นมุกเกี่ยวกับการละเมิดทางเพศเช่นกัน และมีบางคนบอกว่าเคยถูกคุกคามทางเพศในโรงเรียน แต่ก็มีหลายคนที่โจมตีไอนูด้วยข้อความลามกหยาบคาย โดยมองว่าสิ่งที่ครูและนักเรียนชายพูดถึงเป็นแค่เรื่องล้อเล่นเพื่อให้ขบขัน ไม่ควรถือเป็นเรื่องจริงจัง และมีผู้เข้าชมคลิปของไอนูราว 1.8 ล้านครั้งตั้งแต่เดือน เม.ย.ถึงวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม นิชา ซาบานายากัม ประธานบริหารองค์กรเพื่อผู้หญิง All Women's Action Society (AWAM) เปิดเผยกับสื่อสิงคโปร์ CNA ว่า AWAM สนับสนุนข้อเรียกร้องของไอนู พร้อทั้งย้ำว่าโรงเรียนควรเป็นสถานที่ปลอดภัยและปลอดพ้นจากการคุกคามทางเพศ และการที่ครูหรือโรงเรียนเพิกเฉยต่อคำบอกเล่าของไอนู บ่งชี้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาเรื้อรังของระบบการศึกษาทั่วประเทศที่เลือกปฏิบัติและไม่ได้คุ้มครองสวัสดิภาพของนักเรียนหญิงเท่าที่ควรจะเป็น เข้าข่ายวัฒนธรรมเป็นพิษ (toxic culture) ที่สมควรปรับแก้
ท่าทีล่าสุดของรัฐบาลมาเลเซียคือการออกคำสั่งย้ายครูที่ถูกพาดพิงว่าเป็นคนพูดเรื่องตลกเกี่ยวกับการข่มขืน และมีการตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง แต่ยังไม่อาจระบุได้ว่าผลสอบสวนเป็นอย่างไร ขณะที่ไอนูเผยว่าเธอไม่ได้ไปโรงเรียนอีกเลยหลังโพสต์คลิปลงใน TikTok เพราะกลัวจะถูกคุกคาม และทางโรงเรียนส่งจดหมายเตือนว่าเธอจะพ้นสภาพนักเรียน แสดงให้เห็นว่าผู้มีอำนาจไม่ได้สนใจสิ่งที่เธอต้องเผชิญ
อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการมาเลเซียออกแถลงการณ์ชี้แจงว่าเพราะไอนูขาดเรียนติดต่อกันเกินกำหนด ทั้งยังไม่ได้แจ้งเหตุผลต่อทางโรงเรียน จึงมีการออกจดหมายเตือนเรื่องการพ้นสภาพโดยอัตโนมัติ แต่ก็ยืนยันว่าทางภาครัฐไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาคุกคามหรือละเมิดทางเพศในโรงเรียน
อ้างอิง:
• The Malaysian schoolgirl using TikTok to challenge school abuse
• Teacher who allegedly made rape jokes in Ain Husniza’s class transferred
• How a Malaysian teenager's fight against rape culture in schools caused national backlash