สรุป
-
สื่อต่างประเทศเผยคนมีฐานะในบางประเทศแถบเอเชียเดินทางไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น เพื่อฉีดวัคซีนโควิด แต่บางประเทศสั่งระงับทัวร์วัคซีนแล้ว ระบุ “การเดินทางมีความเสี่ยง”
-
ลาวได้รับวัคซีนไฟเซอร์เพิ่มเติมจากการจัดสรรของโครงการวัคซีนโลก COVAX ของสหประชาชาติ เตรียมฉีดให้กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ บุคลากรการแพทย์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว
-
องค์การอนามัยโลกประกาศรับรอง ‘ซิโนแวค’ ในรายชื่อวัคซีนที่ใช้เป็นกรณีฉุกเฉินเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยระบุ ทั่วโลกต้องการวัคซีนเพิ่มในโครงการโคแวกซ์
เว็บไซต์ The Telegraph สื่ออังกฤษ รายงานว่าผู้มีฐานะดีในเอเชียจำนวนหนึ่ง เดินทางไปยังสหรัฐอเมริกากันมากขึ้นเพื่อฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หลังจากสหรัฐฯ ประกาศว่ามีวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำรองในประเทศเพียงพอที่จะฉีดวัคซีนให้แก่ทุกคนในประเทศ รวมถึงชาวต่างชาติที่อยู่อาศัยถาวรและนักท่องเที่ยวที่เพิ่งเดินทางเข้าประเทศ
เดอะเทเลกราฟระบุว่า ประเทศที่มีผู้สนใจเดินทางไปสหรัฐฯ เพื่อฉีดวัคซีนโควิด หรือที่เรียกว่า ทัวร์วัคซีน มีทั้งไทย เวียดนาม อินเดีย รวมถึงไต้หวัน โดยผู้เดินทางส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าวัคซีนในประเทศขาดแคลน รัฐบาลจัดสรรให้แก่กลุ่มประชากรต่างๆ ล่าช้า ทั้งยังไม่มีวัคซีนให้เลือกมากนัก ต่างกับที่สหรัฐฯ ซึ่งมีทั้งไฟเซอร์, โมเดอร์นา, จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน
กรณีของไทย มีการโฆษณาแพ็กเกจทัวร์ไปยังสหรัฐฯ โดยเป็นการจัดหาที่พักและบริการรับส่งไปยังสถานที่ฉีดวัคซีน แต่มีการระบุว่า ไม่รวมตั๋วเครื่องบิน และเปิดรับเฉพาะผู้ที่มีวีซ่าเดินทางเข้าสหรัฐฯ อยู่ก่อนแล้ว โดยราคาแพ็กเกจขั้นต้นอยู่ที่ประมาณ 19,999 บาท ทั้งยังมียูทูบเบอร์และคนดังในวงการบันเทิงหลายรายรีวิวการเดินทางไปฉีดวัคซีนที่สหรัฐฯ ช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเวียดนามและไต้หวันประกาศเตือนประชาชนของตัวเองให้ระงับโครงการทัวร์วัคซีนไปก่อน โดยให้เหตุผลว่าการเดินทางระหว่างประเทศช่วงนี้ยังมีความเสี่ยง เพราะผู้เดินทางไปสหรัฐฯ หลายรายยังไม่สามารถหาตั๋วเดินทางกลับประเทศได้ ทั้งยังอาจเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายเรื่องการป้องกันและควบคุมโรคระบาด เพราะมีโอกาสจะติดเชื้อตั้งแต่ก่อนจะได้รับฉีดวัคซีน
ลาวได้รับ ‘ไฟเซอร์’ จากโครงการโคแวกซ์
สำนักข่าวซินหัวของจีนรายงานว่า วัคซีนไฟเซอร์กว่า 100,000 โดสที่ส่งถึงลาวในวันนี้ (2 มิ.ย.2564) เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวัคซีนโลก COVAX ที่ดำเนินการโดยสหประชาชาติ และรัฐบาลลาวจะนำวัคซีนล็อตนี้ไปฉีดให้กับบุคลากรการแพทย์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงมากที่สุด
ส่วนวัคซีนที่ลาวได้รับก่อนหน้านี้ มีทั้งสปุตนิกวีของรัสเซีย, ซิโนฟาร์มของจีน และแอสตร้าเซนเนก้า โดยตั้งเป้าว่าจะฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้ได้ 50% ของประชากรทั้งหมด 7.2 ล้านคนทั่วประเทศภายในสิ้นปีนี้ โดยจำนวนผู้ได้รับวัคซีนครบสองเข็มทั่วประเทศลาวเมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 885,694 ราย
องค์การอนามัยโลกรับรอง ‘ซิโนแวค’ อย่างเป็นทางการ
ช่วงค่ำวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศรับรองวัคซีนโคโรนาแวคของบริษัทซิโนแวคในจีนให้อยู่ในรายชื่อวัคซีนโควิดที่ใช้ในกรณีฉุกเฉิน (Emergency Use Listing) ทำให้วัคซีนของซิโนแวคเป็นวัคซีนที่ผลิตในจีนตัวที่ 2 ที่อยู่ใน EUL แต่ CanSino ยังไม่ได้รับการรับรอง
ข้อมูลในเว็บไซต์ WHO ระบุว่า การรับรองวัคซีนเพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉินจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดหาและการกระจายวัคซีนในโครงการโคแวกซ์ โดยเฉพาะประเทศรายได้น้อยที่ยังรอการจัดสรรวัคซีน แต่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในประเทศอินเดียซึ่งทำให้การส่งออกวัคซีนไปยังต่างประเทศหยุดชะงัก
ส่วนคำแนะนำของ WHO เกี่ยวกับวัคซีนซิโนแวค ระบุว่าควรใช้กับประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป แต่ไม่ได้ระบุว่าผู้สูงอายุไม่ควรฉีดเมื่ออายุเท่าใด ขณะที่การพิจารณาประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไม่อาจระบุชัดเจนได้ เพราะผลการทดสอบใช้งานในหลายประเทศแตกต่างกันไป และมีค่าเฉลี่ยตั้งแต่ 51% 84% และ 94% โดยมีอย่างน้อย 40 ประเทศทั่วโลกที่รับรองการใช้งานซิโนแวคแล้ว
ฟิลิปปินส์รอวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจากไทย "จัดส่งล่าช้า"
สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า 'โจอี คอนเซปซิออน' ที่ปรึกษาประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ซึ่งทำหน้าที่ประสานงานระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับภาคเอกชนเพื่อจัดหาวัคซีนโรคโควิด-19 เผยว่า กำหนดการจัดส่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตในไทยไปยังฟิลิปปินส์ล็อตแรกนั้นจะล่าช้าหลายสัปดาห์ โดยได้รับแจ้งจากแอสตร้าเซนเนก้าว่าการจัดส่งวัคซีนล็อตแรกจำนวน 1.3 ล้านโดส ต้องล่าช้าออกไป จากเดิมที่กำหนดว่าจะส่งถึงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมิ.ย. เลื่อนไปเป็นกลางเดือน ก.ค. และจำนวนจะลดลงเหลือ 1.17 ล้านโดส ขณะที่ฟิลิปปินส์สั่งจองวัคซีนแอสตราเซเนกาเอาไว้ 17 ล้านโดส
คอนเซปซิออนยังเผยกับรอยเตอร์สว่า ได้รับแจ้งจากแอสตร้าเซนเนก้าว่ามีความล่าช้าที่การผลิตในไทย ส่วนการจัดส่งวัคซีนล็อตที่ 2 ไปฟิลิปปินส์ก็จะถูกลดจาก 1.3 ล้านโดส เป็น 1.17 ล้านโดสเช่นกัน โดยจะเลื่อนการจัดส่งจากเดือน ก.ค. เป็นเดือนส.ค.
ความล่าช้าที่เกิดขึ้นทำให้เกิดคำถามต่อแผนการกระจายวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรง มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 21,000 ราย และผู้ติดเชื้อสะสม และรัฐบาลฟิลิปปินส์ยังต้องพึ่งพาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 200 ล้านโดส ที่ผลิตจากบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์
อย่างไรก็ตาม ทั้งแอสตร้าเซนเนก้าและสยามไบโอไซเอนซ์ยังไม่ได้ให้ความเห็นต่อประเด็นนี้แก่รอยเตอร์ส