Skip to main content

อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบปีประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 เป็นวันที่สอง ว่า จากงบประมาณทั้งสิ้น 3.1 ล้านล้านบาท งบประมาณที่ดูเเลด้านกระบวนการยุติธรรมถูกปรับลดลง มีเพียงสำนักงานอัยการสูงสุดเท่านั้นที่ได้ปรับเพิ่มขึ้น 1,000 ล้านบาท โดยงบของกระทรวงยุติธรรมถูกปรับลดลง 2,000 กว่าล้านบาท คิดเป็น 10% ของงบประมาณที่รับจัดสรรในปีที่เเล้ว ประเด็นนี้ไม่มีปัญหาหากอ้างถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019  แต่ที่รับไม่ได้คืองบประมาณด้านการส่งเสริมยุทโธปกรณ์ของกองทัพบก เเละกองทัพเรือ ถูกปรับเพิ่มขึ้นถึง 2,678 ล้านบาท ต้องถามว่าจะไปรบกับใครในยุคของสงครามเชื้อโรค 

อมรัตน์ กล่าวอภิปรายต่อไปว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ หลังรัฐประหารมา 7 ปี ปีนี้ย่างเข้าสู่ปีที่ 8 แห่งการสูญเสียโอกาสของประเทศ ได้เกิดวิกฤติศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมและสถาบันตุลาการอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้นมา โดยนานาชาติต่างสนใจจับจ้องและตั้งคำถามกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตั้งคำถามต่อวงการยุติธรรมของไทย โดยประชาชนแสดงออกถึงความไม่เชื่อมั่นกับสถาบันตำรวจ อัยการ ศาล องค์กรอิสระอย่างศาลรัฐธรรมนูญ  

ยกตัวอย่างแบบง่ายและเป็นรูปธรรมที่สุด มาดูที่การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่มุ่งดำเนินคดีกับผู้เห็นต่าง  โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่มีทีมทำงานของนายกรัฐมนตรี ไปแจ้งความเอาผิดกับประชาชนที่วิจารณ์ตัวเองกับตำรวจด้วยคดีหมิ่นประมาท แบบนี้ตำรวจที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของนายกฯจะทำงานให้นายหรือให้ประชาชนก็คงไม่ต้องถาม

“ในประเด็นอัยการ คดีการเมืองพบว่าอัยการอาจประวิงเวลาส่งฟ้องศาล เลื่อนแล้วเลื่อนอีก 3-4-5-6 รอบ ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องเสียทรัพย์ เสียเวลา เสียโอกาสในงานอาชีพวิ่งรายงานตัวต่ออัยการ เมื่อเรื่องมาถึงศาล คดีการเมืองศาลไม่ให้สิทธิผู้ต้องหาในประกันตัวระหว่างต่อสู้คดีซึ่งผิดหลักการสิทธิมนุษยชนสากล”

อมรัตน์ กล่าวต่อว่า เรามีนายกรัฐมนตรีที่นิรโทษกรรมความผิดฐานก่อการกบฏให้ตัวเอง และมีทีมทำงานใกล้ชิดไปแจ้งความดำเนินคดีหมิ่นประมาทกับประชาชนที่วิจารณ์การทำงานของท่าน ตอนนี้คดีกองเต็มไปหมด ไปสอบถามได้ที่ สน.นางเลิ้ง ในฐานะที่เป็นบุคคลสาธารณะกินเงินเดือนจากภาษีของประชาชน  การกระทำเช่นนี้ไม่ละอายจริงๆหรือ และเรื่องล่าสุดที่สร้างความอึดอัดทางการเมืองให้สังคมไทยมากที่สุดคือ การวินิจฉัยสถานภาพรัฐมนตรีสีเทา ผู้เคยเป็นนักโทษคดียาเสพติดในต่างประเทศให้ยังสามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงในคณะรัฐมนตรีได้  เรื่องนี้ทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมไทยมาถึงขึ้นสูงสุด 

“ในส่วนงบประมาณกับการยุติธรรม ทำไมจึงไม่ไปลดในส่วนที่ควรลด การที่จะทำให้กระบวนการยุติธรรมของเราเป็นที่น่าเชื่อถือ จำเป็นต้องทำ 2 ขาไปพร้อมๆกันคือ หนึ่งต้องเห็นความสำคัญของการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม ยอมลงทุนใส่เม็ดเงินงบประมาณเพิ่มให้สูงขึ้น สอง ต้องจริงใจที่จะแก้ไขอุดรอยรั่วของกระบวนการ ขอเริ่มต้นที่งบของกองทุนยุติธรรม ที่มีพันธกิจหน้าที่ในการช่วยเหลือในเรื่องของเงินประกันตัวและค่าจ้างทนาย ปีนี้ถูกตัดงบอุดหนุนลงจาก 150 ล้าน เหลือเพียงแค่ 30 ล้านบาท ประเด็นที่สำคัญกว่างบที่ถูดตัดลดลง คือการพิจารณาของกองทุนยุติธรรมที่ล่าช้า เกิดผลกระทบกับผู้ต้องคดี ซึ่งความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความไม่ยุติธรรม คนจนคนยากไร้ต้องติดคุกรอไปก่อนแล้วนานนับเดือน ต่อมางบเรือนจำหรือกรมราชทัณฑ์ซึ่งเป็นกรมที่ใหญ่ที่สุดของกระทรวงยุติธรรม ขณะนี้มีผู้ต้องขังทั้งนักโทษเด็ดขาดและผู้ต้องหาระหว่างพิจารณาคดีมากกว่า 25,000 คนทั่วประเทศที่ติดโควิดในเรือนจำ คำถามคือเหตุใดพื้นที่ปิดแบบเรือนจำจึงกลายเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ระดับนี้ได้ นอกจากความไร้ประสิทธิภาพการบริหารจัดการแล้ว สิ่งสำคัญเกิดจากได้รับจัดสรรงบประมาณไม่เหมาะสม มีการเบียดบังเอารัดเอาเปรียบ และทุจริตกินหัวคิว ที่น่าสะเทือนใจอย่างยิ่งคือผู้ต้องหาการเมือง ที่ถูกขังไม่ได้สิทธิประกันตัว ทั้งที่ยังไม่มีการนัดสืบพยานนัดแรกเลยด้วยซ้ำ พวกเขายังถือเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ตามหลักการของกฎหมาย เกือบทุกคนล้วนติดโควิดจากคลัสเตอร์ใหญ่ในเรือนจำ จึงสะท้อนให้เห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม และการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินที่ผิดพลาดเช่นนี้ เกิดจากความไร้วิสัยทัศน์ขาดฝีมือในการบริหารวิกฤติชาติ แต่อยากเป็นใหญ่  ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” 

อมรัตน์ กล่าวต่อไปถึง กรณีที่เยาวชนตั้งเฟสบุคเเฟนเพจ #ย้ายประเทศกันเถอะ ซึ่งเปิดมาแค่ 3 วันมีสมาชิกเกือบ 6 แสนคน และเกิน 1 ล้านคนเมื่อเปิดเพจเพียง 11 วันเท่านั้น ตัวเลขหลักล้านในเวลาไม่กี่วัน สะท้อนว่า 7 ปีที่ผ่านมาทำลายความน่าอยู่ของประเทศนี้ไปมากมายเพียงใด โดยเรือนจำทั่วประเทศ 143 แห่ง บรรจุคนทั้งสิ้น 3 แสนกว่าคน เป็นคดียาเสพติด 2 แสนกว่าคน ในจำนวนนี้เป็นนักโทษที่ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณา ยังไม่ถือเป็นนักโทษเด็ดขาดถึง 64,248 ราย (ตัวเลขเดือน ก.ย.63) การขาดงบประมาณทำให้เกิดปัญหาคนล้นคุก และสภาพแวดล้อมในเรือนจำที่ย่ำแย่ แทนที่จะเป็นสถานที่ปรับปรุงพฤตินิสัย กล่อมเกลาและให้โอกาสฝึกอาชีพ กลับกลายเป็นสถานที่ซ้ำเติมและบ่มเพาะอาชญากรเพิ่มขึ้นเพราะมีอัตราทำผิดซ้ำสูงมาก โดยเฉพาะยาเสพติด

ขณะนี้มีเทคโนโลยีใหม่ ที่ศาลทั่วนิยมนำมาใช้แก้ปัญหาคนล้นคุกและคนทำผิดซ้ำ และเพื่อลดวงเงินประกันตัวผู้ต้องหา นั่นคือการใช้กำไล EM หรือกำไลอิเลคโทรนิค เป็นเทคโนโลยี่ติดตามตัวเพื่อการควบคุมที่มีประโยชน์มากและควรเพิ่มงบประมาณซื้อมาใช้เพิ่มขึ้น รมต.กระทรวงยุติธรรมเองก็เคยให้สัมภาษณ์เมื่อปลายปี 62 ว่ากำไล EM เป็นสิ่งจำเป็น แต่ปีนี้เมื่อศาลยุติธรรมยื่นของบซื้อกำไล EM ไป 100 ล้าน กลับถูกสำนักงบประมาณตัดออกเหลือเพียง 68 ล้าน  งบยิ่งน้อยลงก็ตัดโอกาสการได้รับประกันตัวไปมากเท่านั้น ประเด็นคือรัฐบาลมีงบเพียงพอในการจัดหาตู้คอนเทนเนอร์ และยุทโธปกรณ์ มาใช้ปราบปราบผู้ชุมนุมที่เป็นฝั่งตรงข้าม แต่ทำไมไม่มีงบพอที่จะซื้อกำไล EM  มาให้กรมราชทัณฑ์และศาลใช้อย่างเพียงพอ

อมรัตน์ กล่าวว่า ในวันนี้จะพูดถึงบ้านหลวงหลังสุดท้ายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หากไม่ชิงใช้อำนาจพิเศษออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ตัวเองไปเสียก่อน โดยปีนี้กรมราชทัณฑ์ได้รับงบประมาณ 13,000 กว่าล้าน ลดลงจากปีก่อนประมาณ 1,000 ล้านบาท แต่ถ้ามาดูเนื้อใน ก็จะเห็นว่าประมาณ 5,000 ล้าน เป็นงบบุคลากร อีกประมาณ 2 พันล้าน เป็นงบก่อสร้างปรับปรุงเรือนจำ และอีก 6,000 ล้าน เป็นงบสำหรับดูแลปรับปรุงนักโทษจำนวน 3 แสนคน ซึ่งประมาณ 250,000 เป็นนักโทษเด็ดขาด และก็อีก 60,000 เป็นผู้ต้องขังที่ศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด

“เมื่อลองคำนวณดู พบว่าค่าอาหารผู้ต้องขังประมาณ 4,400 ล้านบาท หารเฉลี่ยแล้วตกมื้อละ 13 บาทต่อคน เมื่อเทียบกับงบอาหารที่เด็กนักเรียนได้งบมื้อละ 21 บาทต่อคน ยังมีปัญหาเรื่องคุณภาพอาหาร แล้วอาหารในคุกจะแย่ขนาดไหน ปัญหาคนล้นคุกนอนเกยก่ายกัน ฟ้องชาวโลกว่ารัฐบาลไทยไม่มีวิสัยทัศน์ในให้โอกาสคืนคนดีสู่สังคมอย่างนานาอารยะประเทศ อยากให้ไปดูเรือนจำที่มีมาตรฐานอย่างเรือนจำออสเตรเลีย ยังคืนคนดีกลับมาให้นายกไทยตั้งเป็นรัฐมนตรีได้เลย”

ในส่วนงบประมาณก่อสร้างเรือนจำของกรมราชทัณฑ์ในปีนี้ ก็ยังทำแบบเดิม ๆ คือสักแต่สร้างเพิ่มแล้วก็ปรับปรุงเล็ก ๆ น้อย ๆ เหมือนทุก ๆ ปี ย่ำกับที่ไม่มีการพัฒนา ไม่มีแนวคิดก้าวหน้าสร้างสรรค์ใด เมื่อถามว่าเตียงนอน 2 ชั้นที่เคยเห็นอยู่ในงบประมาณว่าทำเพื่อลดความแออัด ให้มีสุขภาวะที่เหมาะสมตามหลักสิทธิมนุษยชนที่โฆษณาไว้ตอนนี้มีกี่เตียงหรือกี่เรือนจำ  ยังไม่มีความคืบหน้าอย่างที่ควรจะเป็นใด ๆ เลย

“สุดท้ายนี้ขอเรียกร้องให้เปลี่ยนกระบวนการยุติธรรมของเราให้เป็นกระบวนการยุติธรรมที่พึงประสงค์ หยุดคุกคามประชาชนถึงบ้าน มีมาตรฐานในการดำเนินคดี ปฏิบัติต่อทุกฝั่งทุกฝ่ายอย่างเสมอภาคเท่าเทียม หยุดใช้ความยุติธรรมสองมาตรฐานแบบที่เป็นอยู่ที่ฝ่ายหนึ่ง แค่หายใจแรงก็บอกว่าผิด อีกฝ่ายค้ายาเสพติดยังสามารถรัฐมนตรีได้ เพราะ “ มันคือแป้ง”” อมรัตน์ ระบุ