Skip to main content

เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2565 โดยระบุว่า เมื่อพูดถึงการกำหนดวงเงินของหน่วยงานรับงบประมาณต่างๆ ที่ตั้งงบประมาณค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในปีงบประมาณ 2565 มีงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันอยู่อย่างน้อยๆ 33,712,000,000 บาท (สามหมื่นสามพันเจ็ดร้อยสิบสองล้านบาท) เป็นรายการตามที่แสดงเป็นชื่อโครงการในเอกสารงบประมาณ ยังไม่ได้รวมงบที่เกี่ยวข้องกับสถาบันที่อาจซ่อนอยู่ในหมวดหมู่โครงการก่อสร้างที่มีราคาต่อหน่วยต่ำกว่า 10 ล้านบาท หรืออื่นๆ ในจำนวนนี้แบ่งงบออกได้เป็น 5 ประเภท คือ

1.งบพิทักษ์รักษาและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ 
2.งบถวายความปลอดภัย 
3.งบส่วนราชการในพระองค์ 
4.งบโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและโครงการหลวงต่าง ๆ 
5.งบอื่น ๆ เช่น พระราชทานเพลิงศพ เครื่องราชอิสริยาภรณ์
  
“ต้องย้ำก่อนว่า เงินจำนวนสามหมื่นกว่าล้านนี้ไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด แต่ประเด็นคือผลผลิตของการตั้งงบประมาณ และประสิทธิภาพของโครงการที่ควรจะมีการพินิจพิจารณาอย่างรอบคอบ เหมาะสม เปิดเผย โปร่งใส ถูกต้องและตรวจสอบได้ เพื่อให้ประโยชน์สูงสุดนั้นตกเป็นของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคเศรษฐกิจตกต่ำจากการแพร่ระบาดของโควิด19 เช่นนี้”  
   
โดยเฉพาะโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและโครงการหลวงต่างๆ ที่ใช้เงินงบประมาณกว่า 15,000 ล้านบาท ที่มีอยู่มากกว่า 50 โครงการ กระจายอยู่อย่างน้อย 7 แผนงาน ใน 30 กรม และอีกกว่า 7,000 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยบางโครงการเป็นโครงการที่รัฐบาลได้รับพระราชทานพระราชดำริ หรือมีประชาชนถวายฎีกาขึ้นมาเมื่อหลายสิบปีก่อน อาจต้องมีการศึกษาใหม่ว่า พื้นที่นั้นมีความเปลี่ยนแปลงจากในอดีตมากน้อยเพียงใด หัวใจของปัญหายังคงเหมือนเดิมอยู่หรือไม่
    
“หลายครั้งพบว่าหน่วยงานรับงบอย่างหน่วยงานราชการบางหน่วยกลับพยายามผลักดัน ‘โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ’ โดยไม่ได้ทำการศึกษาถึงความเปลี่ยนไปของสภาพพื้นที่และสภาพปัญหาให้ถ่องแท้ ทำให้เกิดความขัดแย้งและการต่อต้านขึ้นมาจากประชาชนในพื้นที่ นี่ไม่ใช่การกล่าวหา แต่มีเอกสารและมีหลักฐาน จำโครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่วที่คณะกรรมาธิการงบประมาณเมื่อปีที่แล้วเสนอให้ตัดงบประมาณได้หรือไม่ เอกสารรายงานด้านสิ่งแวดล้อมที่กรมชลประทานเร่งรีบจัดทำขึ้นปรากฏว่ามีข้อผิดพลาดในเอกสาร ความผิดพลาดนั้นคือ การจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่วอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพัทลุง มีการคัดลอกเอารายงานของจังหวัดเพชรบูรณ์ มาเปลี่ยนชื่อเป็นจังหวัดพัทลุง แต่กลับลืมแก้ไขข้อมูลพื้นฐานสำคัญ อย่างลักษณะทางภูมิศาสตร์ และพืชเศรษฐกิจหลัก จนถูกประชาชนคนทั่วไปจับผิดได้ ถึงแม้ว่ากรมชลประทานจะอ้างว่านี่เป็นรายงานฉบับเก่า แต่จะฉบับเก่าหรือว่าจะเป็นฉบับใหม่ไม่ใช่สาระสำคัญ แต่สาระสำคัญคือการจัดทำรายงานปลอม เป็นรายงานที่ไม่ตรงกับสภาพของพื้นที่ นั่นเท่ากับรายงานฉบับนี้เป็นรายงานเท็จซึ่งการเอาข้อมูลอันเป็นเท็จมาใช้กับ ‘โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ’  ที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ การแอบอ้างเช่นนี้ เหมาะสมหรือไม่ และจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาพลักษณ์ของสถาบันเสื่อมเสียไปถึงพระเกียรติยศขององค์พระมหากษัตริย์หรือไม่”

อีกหนึ่งโครงการคือ ‘โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำนฤบดินทระจินดา’ หรือ ‘โครงการห้วยสะ-โหมง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ’ ซึ่งเป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่ที่ใช้เวลาสร้างมายาวนานมากกว่า 10 ปี แต่ก็ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์เสียที โครงการนี้ผ่านมติ ครม. มาตั้งแต่ปี 2552 มีมติอนุมัติให้กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้าง โดยกำหนดระยะเวลาก่อสร้างตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปี 2561 รวมระยะเวลา 9 ปี ใช้งบประมาณในการก่อสร้างภายใต้กรอบวงเงิน 9,078 ล้านบาท เริ่มตั้งงบประมาณมาตั้งแต่ปี 2553 แต่ก็เลื่อนปีที่จะสร้างเสร็จไปเรื่อยๆ นับตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่เริ่มเข้ามาพิจารณางบประมาณในปีงบประมาณ 2563 การก่อสร้างผูกพันมาเป็นเวลามากกว่า 10 ปีแล้ว จนปัจจุบันมาถึงพรรคก้าวไกลเข้าสู่ปีงบประมาณที่ 2565 หน่วยงานรับงบอย่างกรมชลประทานก็เลื่อนการขอใช้งบประมาณผูกพันของโครงการนี้มาโดยตลอด ตอนปีงบประมาณ 2563 ก็ชี้แจงว่าจะแล้วเสร็จปี 2564  พอมาปีงบประมาณ 2564 หน่วยงานรับงบชี้แจงว่าจะแล้วเสร็จปี 2565 ปัจจุบันงบประมาณปี 2565 ท่านก็ระบุว่าจะแล้วเสร็จปี 2566 สรุปแล้วโครงการนี้ติดปัญหาที่ตรงไหน ทำไมถึงไม่สามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ได้

“เมื่อเข้าไปดูในรายละเอียดของตัวโครงการ พบว่าโครงการห้วยสะโหมง เป็นโครงการที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระราชดำริแนวทางการแก้ปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้กรมชลประทานนำไปดำเนินการไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2521 หรือเมื่อ 40 กว่าปีก่อนแล้ว จึงเกิดความเป็นกังวลว่าจากวันนั้นจนถึงวันนี้ สภาพพื้นที่ สภาพภูมิประเทศและการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของพี่น้องประชาชนเปลี่ยนแปลงไปจากที่ได้ออกแบบก่อสร้างไว้เดิมแล้ว ดังนั้นโครงการนี้ยังมีความเหมาะสมจำเป็นที่จะต้องก่อสร้างหรือปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่มากน้อยเพียงใด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริหลายๆโครงการ ที่หน่วยงานรับงบมีการดำเนินโครงการที่เต็มไปด้วยความไม่ชอบมาพากล ควรจะต้องรับฟังความเห็นจากชุมชนอย่างแท้จริง เพื่อแสดงให้เห็นว่าโครงการเหล่านี้ โปร่งใสและเป็นธรรม เพื่อไม่ให้หน่วยงานต่างๆ แอบอ้างดำเนินโครงการซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับภาพลักษณ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์” 

เบญจา กล่าวต่อว่า สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ กปร. ในฐานะองค์กรกลางที่มีหน้าที่ดูแลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงควรตรวจสอบโครงการเหล่านี้ หากพบว่าตัวโครงการมีปัญหา ทั้งจากเหตุความไม่โปร่งใส หรือจากการที่สภาพความต้องการของพื้นที่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว กปร. ก็ควรสั่งให้มีการเพิกถอนสถานะ โครงการอันเนื่องมาจากพระดำริ นั้นเสีย 

นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ใช้ชื่อเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ดูเหมือนจะไม่ใช่พันธกิจของหน่วยงานเจ้าภาพ อย่างเช่น โครงการอนุรักษ์พันธุ์พืชของกองทัพอากาศ โครงการอนุรักษ์แนวปะการังของกองทัพเรือ และโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำของกองบัญชาการกองทัพไทย อีกด้วย ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องตั้งแผนบูรณาการแผนใหม่ คือแผนบูรณาการโครงการที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยให้สำนักงาน กปร. เป็นแม่งานในการดูแลและจัดลำดับความสำคัญของโครงการที่ใช้ชื่อ ‘อันเนื่องมาจากพระราชดำริ’ และ ‘โครงการหลวง’ ทั้งหมด โดยสาเหตุที่ต้องทำให้อยู่ในรูปแบบของแผนบูรณาการนั้น มี 3 ประการ 

หนึ่ง เพื่อที่จะลดความซ้ำซ้อนของการดำเนินงาน ไม่ปล่อยให้หลายหน่วยงานเข้ามารุมทำแค่เพียงโครงการใดโครงการหนึ่ง ที่อาจไม่ใช่ภารกิจหลักของหน่วยงานนั้น ๆ

• สอง เพื่อให้สำนักงาน กปร. สามารถจัดลำดับความสำคัญ และความเร่งด่วนของแต่ละโครงการได้ อันจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน

• สาม คือเพื่อให้เกิดความสะดวกต่อสภาผู้แทนราษฎร ในการตรวจสอบโครงการต่าง ๆ ที่ใช้ชื่อเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ให้กลุ่มบุคคลที่ไม่ประสงค์ดี แอบอ้างนำสถาบันกษัตริย์มาใช้เป็นเกราะกำบัง อันจะส่งผลเสียต่อพระเกียรติยศขององค์พระมหากษัตริย์ได้ 
        
การรวมงบประมาณเข้าด้วยกันเป็นแผนบูรณาการ จะทำให้การใช้งบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมไปถึงทำให้พี่น้องประชาชนที่เป็นเจ้าของเงินงบประมาณ สามารถตรวจสอบการใช้งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ได้อย่างถูกต้อง ไม่ทำให้เกิดข่าวลือผิด ๆ ที่อาจทำให้พระเกียรติยศขององค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ได้รับความเสียหาย
 
ในหัวข้อสุดท้าย เบญจา กล่าวว่า จะอภิปรายถึง งบเทิดพระเกียรติ เช่นงบจัดงาน หรือจัดนิทรรศการในวันสำคัญๆ อย่างวันเฉลิมพระชนมพรรษา ที่ทั้งเปิดเผยและแฝงอยู่ตามกรมกองต่าง ๆ แบบเบี้ยหัวแตก 1 ล้านบ้าง 5 ล้านบ้าง ปัญหาของเรื่องนี้คือการที่งบถูกหว่านอย่างกระจัดกระจายเกินไป ทำให้นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์อะไรแล้ว ยังเป็นการไม่สมพระเกียรติขององค์พระมหากษัตริย์อีกด้วย

"เราควรที่จะรวมงบประมาณพวกนี้เป็นก้อนเดียว แล้วมอบหมายให้หน่วยงานในสำนักนายกรัฐมนตรี หรือกระทรวงวัฒนธรรม นำไปจัดงานให้สมพระเกียรติ โดยอาจเป็นงบประมาณสำหรับทุกจังหวัดในการจัดงานออกร้าน ให้ประชาชนได้ออกมาจับจ่ายซื้อขายสินค้าคล้ายงานเทศกาล ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของปีหน้า ซึ่งนอกจากจะเป็นการเฉลิมพระเกียรติแล้ว ยังเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศอีกทางหนึ่ง ดีกว่านำงบประมาณไปจัดทำซุ้มตั้งตามสี่แยกหรือหน้าอาคารสำนักงาน ซึ่งไม่ได้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด"
    
“สุดท้ายนี้ อยากขอฝากไปถึงหน่วยรับงบประมาณทุกหน่วยที่จะเข้ามาชี้แจงงบประมาณในวาระ 2 ว่าขออย่าให้นำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเกราะกำบังเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากสภา และหวังว่าในปีนี้ ส่วนราชการในพระองค์จะส่งตัวแทนมาเข้าร่วมการพิจารณางบประมาณ เพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการพิจารณางบประมาณภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วย”