Skip to main content

สรุป

  • พรรคก้าวไกล ตั้งความหวังว่า คณะทำงานสอบสวนติดตามผลฯ กรณีการจ่ายสินบนของบริษัทรถยนต์ให้แก่ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมไทย จะเร่งดำเนินการสืบสวน สอบสวนและรายงานผลอย่างละเอียดและรวดเร็วสู่สาธารณชน และต้องขยายผลไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่เชื่อมโยงทั้งหมด ซึ่งพรรคฯ จะส่งคำร้องไปยังคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. ต่อไป 
  • ตั้งข้อกังวลต่อการฟ้องคดีเพื่อปิดปากประชาชน โดยการฟ้องร้องไม่ได้หวังให้ได้มาซึ่งความยุติธรรม แต่วัตถุประสงค์เพื่อสร้างภาระให้ผู้ถูกฟ้อง ซึ่งปัญหาของการฟ้องปิดปากประชาชน ทำให้ประชาชนไม่กล้าแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นสาธารณะ อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ตั้งหน่วยงานขึ้นเพื่อดำเนินการฟ้องหมิ่นประมาทระหว่าง ตัวเอง กับ ประชาชน ถือเป็นเรื่องไม่ปกติทั้งในแง่สามัญสำนึก และการใช้อำนาจอย่างไม่มีจริยธรรมของบุคคลที่ควรเป็นนายกฯ
  • พรรคก้าวไกลเตรียมผู้อภิปราย 21 คนสำหรับการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณปี 2565 เพราะพบปัญหาว่า มีการตัดงบบัตรคนจนออกไป 20,000 ล้านบาท, งบประกันสังคมถูกตัด 20,000 ล้านบาท, งบบัตรทองถูกหั่น 1,800 ล้านบาท แต่งบกลาโหม ยังมีการซื้ออาวุธ, ซื้อกระสุน, ซื้อเรือดำน้ำอยู่ ซึ่งในสถานการณ์ประเทศขณะนี้ การจัดงบประมาณทั้งหมดทำให้พรรคฯ ไม่ไว้วางใจให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ บริหารงบประเทศอีกต่อไป
  • และสุดท้าย พรรคก้าวไกลอยากให้ตรวจสอบกระบวนการจัดสรรวัคซีนที่มีแนวทางปฏิบัติ 2 มาตรฐานอย่างเห็นได้ชัด โดยรัฐให้อภิสิทธิ์แก่ ส.ส. ในการเลือกฉีดวัคซีนได้ แต่กลับประชาชนไม่สามารถเลือกได้ ซึ่งการบริหารจัดการวัคซีนจะต้องโปร่งใสทั้งแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวค รัฐต้องระบุปริมาณและการจัดสรรให้ประชาชนได้รับรู้

 

สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา โฆษกพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ร่วมแถลงข่าว กรณีรัฐบาลใช้กฎหมายฟ้องปิดปากประชาชนเพื่อกลบเกลื่อนความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดิน ,กรณีสินบนบริษัทรถยนต์จากรายงานการสืบสวนสอบสวนของสหรัฐอเมริกา ,ความพร้อมในการอภิปราย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ที่กำลังจะมีการพิจารณาในสภาในสัปดาห์นี้ รวมไปถึงชี้แจงกรณีที่ ส.ส.จำนวนหนึ่งสามารถเลือกฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา ขณะที่ประชาชนไม่สามารถเลือกได้

 

จี้ 'คดีสินบน บ.รถยนต์' ต้องโปร่งใส สร้างบรรทัดฐานกระบวนการยุติธรรม

 

สุทธวรรณ กล่าวว่า กรณีบริษัทรถยนต์ต่างชาติติดสินบนผู้พิพากษาไทย เป็นผลสืบเนื่องมาจากมีรายงานจากสำนักข่าวต่างประเทศถึงการสอบสวนของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องกับกรณีการจ่ายสินบนของบริษัทรถยนต์ให้แก่ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมไทยเพื่อให้ช่วยเหลือในการตัดสินคดีเกี่ยวกับภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ คิดเป็นจำนวนเงิน 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 11,000 ล้านบาท ปัจจุบันคดีดังกล่าวอยู่ในชั้นฎีกา ต่อมา ได้มีการเปิดเผยชื่อของผู้พิพากษาที่อาจเกี่ยวข้องในการรับสินบนหรือเป็นเป้าหมายในการเจรจาต่อรองอย่างน้อย 3 คน ซึ่งล้วนมีตำแหน่งระดับสูง ทั้งอดีตประธานศาลฎีกาและอดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา

“ทราบมาว่าทางโฆษกศาลยุติธรรม ได้ตั้ง ‘คณะทำงานตรวจสอบและติดตามผลการดำเนินการต่อข้อกล่าวหากรณีคดีภาษีอากรที่เป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์’ โดยมีเลขาธิการฯศาลยุติธรรม เป็นประธานคณะทำงาน พรรคก้าวไกลหวังว่าจะมีการเร่งดำเนินการสืบสวน สอบสวน และรายงานผล กรณีดังกล่าวสู่สาธารณะให้ได้โดยเร็วและละเอียดที่สุด ซึ่งการสืบสวน สอบสวน และรายงานผลจะต้องไม่จำกัดอยู่เพียงแค่บุคคลที่มีชื่อปรากฏตามข่าว หากแต่จะต้องขยายผลไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงทั้งหมด ทั้งนี้ ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ มีหน้าที่ประการหนึ่งคือ การสอบหาข้อเท็จจริงของการกระทำที่อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย และในฐานะผู้แทนประชาชนที่จะต้องพิทักษ์ผลประโยชน์ของผู้ที่ออกเสียงเลือกพวกเรามา พรรคก้าวไกลจะดำเนินการส่งคำร้องในเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ต่อไป ในกรณีนี้พรรคก้าวไกลขอย้ำว่า กระบวนการยุติธรรมที่ปราศจากการตรวจสอบจะนำประเทศชาติไปสู่ความพังพินาศ เราจึงต้องเรียกร้องให้มีการตรวจสอบอย่างเปิดเผยและโปร่งในในกรณีอย่างถึงที่สุด

“หากกรณีนี้เป็นเจตนาทุจริตจริง สิ่งหนึ่งที่จะเป็นเครื่องมือให้มีการตรวจสอบการใช้อำนาจตุลาการ คือการผ่านร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ว่าด้วยการเอาผิดเจ้าพนักงานยุติธรรมในฐานบิดเบือนกฎหมาย ตามที่พรรคก้าวไกลได้แถลงข่าวไปก่อนหน้านี้ ซึ่งร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว จะแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา โดยเพิ่มมาตรา 200/1 ในวรรคสอง กำหนดฐานความผิดจากการบิดเบือนกฎหมายของผู้พิพากษาและตุลาการ ความว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการ กระทำการบิดเบือนกฎหมายในการพิจารณาคดี การทำคำสั่งรับหรือไม่รับฟ้อง การทำคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี หรือการทำคำสั่งคำร้องหรือคำขออื่นใด เพื่อให้เกิดประโยชน์หรือความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงยี่สิบปี” ขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าว ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้เข้าชื่อครบตามจำนวนที่รัฐธรรมนูญกำหนดแล้ว จากนี้ไปจะยื่นเพื่อเข้าสู่การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์หน้า”

 

'ฟ้องปิดปากประชาชน' ไม่ได้หวังผลยุติธรรม แค่ต้องการสร้างภาระ

 

ประเด็นต่อมา พรรคก้าวไกล มีข้อกังวลต่อการฟ้องคดีเพื่อปิดปากประชาชน ซึ่งขณะนี้มีการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อหยุดยั้งการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า คดีปิดปาก หรือ SLAPP โดยการฟ้องคดีแบบนี้ไม่ได้หวังให้เกิดการได้รับมาซึ่งความยุติธรรมเกิดขึ้น แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างภาระให้กับผู้ถูกฟ้องที่แสดงความคิดเห็นเชิงวิพากษ์วิจารณ์ อาจจะเป็นการวิจารณ์รัฐบาล หน่วยงานต่างๆ หรือเอกชน 

ทั้งนี้ ปัญหาของคดี SLAPP ที่สำคัญที่สุด คือ ทำให้ประชาชนไม่กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นสาธารณะ เพราะกลัวถูกฟ้องร้องซึ่งจะตามมาด้วยภาระทางคดี เสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย สำหรับภาครัฐเอง ปัญหาที่ตามมาก็คือจะมีการมีคดีรกโรงรกศาล ทำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีภาระงานเยอะเกินไปกับเรื่องที่ไม่ควรเป็นเรื่องขึ้นมาตั้งแต่ต้น ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมในคดีที่ควรทำให้เกิดขึ้นโดยเร็วได้ กลายเป็นต้องมาเสียเวลากับเรื่องไม่เป็นเรื่อง แต่แทนที่รัฐบาลจะตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้และหาทางแก้ไข กลับกลายเป็นต้นแบบในการไล่ฟ้อง  SLAPP ประชาชนเสียเอง ที่เลวร้ายกว่านั้นก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อดำเนินการฟ้องหมิ่นประมาทระหว่าง ‘ตัวเอง’ กับ ‘ประชาชน’ เรื่องนี้ถือว่าไม่ปกติทั้งในแง่สามัญสำนึกและการใช้อำนาจหน้าที่อย่างไม่มีจริยธรรมของบุคคลที่ควรเป็นนายกรัฐมนตรี

“เป็นเรื่องที่น่าตกใจมากที่มีการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ โดยมี คำสั่ง นายกรัฐมนตรีที่ 32/2563 ลงวันที่ 21 กันยายน 2563 ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและดำเนินคดีแก่ผู้เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค" หรือ คณะกรรมการ คตส. ล่าสุดมีการฟ้องคุณ จอห์น วิญญู ในข้อหาหมิ่นประมาท นี่เป็นเรื่องที่น่าละอายอย่างยิ่ง เพราะต้นเหตุคดีนี้มาจากการที่รัฐบาลไม่สามารถตอบคำถามหรือชี้แจงสิ่งที่ประชาชนหรือสื่อมวลชนมีข้อสงสัยตามกลไกปกติได้ จึงเลือกใช้การ SLAPP เข้าไปปิดปาก เพื่อหวังสร้างสังคมแห่งความเงียบขึ้นมา”  

ในรายละเอียดทางกฎหมาย โดยทั่วไปการฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทถือเป็นการฟ้องในฐานะส่วนตัว การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้บริหารประเทศจึงเข้าข่ายข้อยกเว้นความผิดตามกฎหมายหมิ่นประมาทอยู่แล้ว การตั้ง คตส. และฟ้องร้องคดีที่เข้าข่ายข้อยกเว้น มีลักษณะของการทำให้ผู้ถูกฟ้องเกิดความยุ่งยากหรือเพื่อกลั่นแกล้ง จึงเป็นเจตนา SLAPP อย่างชัดเจน นอกจากผิดจริยธรรมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้วยังอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญด้วย และการสั่งให้มีการตั้ง คตส. เพื่อปกป้องดูแลเรื่องส่วนตัวหรือความผิดเฉพาะบุคคลขึ้นมา ยังถือว่าเข้าข่ายเป็นการใช้งบประมาณแผ่นดินเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว เนื่องจาก คตส. มีที่มาจากคำสั่งทางราชการจะต้องใช้งบประมาณและทรัพยากรของรัฐไปดำเนินการ การใช้งบประมาณแผ่นดินจากภาษีประชาชน มาฟ้องคดีส่วนตัวแบบนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องออกมาตอบประชาชนด้วยว่า มีความเหมาะสมในฐานะนายกรัฐมนตรีหรือไม่

“คดี SLAPP จากรัฐบาลชุดนี้ยังมีลักษณะเจตนาทำอย่างเป็นระบบ เพื่อจงใจปกปิดความล้มเหลวจากการบริหารราชการแผ่นดินของตนเอง จึงไม่ใช่เพียง พล.อ.ประยุทธ์ เท่านั้นที่ใช้กลไกนี้ แต่หน่วยงานและรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้น ยังดำเนินการเพื่อตอบสนองแนวทางนี้อย่างเด่นชัดด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาทหน้าที่ของกระทรวงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือ  ‘ดีอีเอส’ ไม่ว่าจะเป็นภายใต้การบริหารของอดีตรัฐมนตรี พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ หรือจะเป็นรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คุณ ‘ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์’ ที่ได้ทำให้กระทรวงที่ควรจะเป็นความหวังเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจในโลกยุคใหม่ หรือการนำนวัตกรรมมาช่วยระบบสาธารณสุขท่ามกลางสถานการณ์โควิด 19 กลับมีแต่งานที่เกี่ยวข้องกับการฟ้องร้องตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ด้วยการใช้กรณีที่เป็นข้อมูลที่ผิดพลาดคาดเคลื่อนหรือที่เรียกว่า misinformation ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ในแต่ละวัน และที่ผ่านมาข้อมูลของรัฐบาลเองก็ผิดพลาดสร้างความสับสนในหลายครั้งและน่าจะโดนฟ้องร้องเองเสียมากกว่า แต่แทนที่จะทำการชี้แจงกลับนำไปขยำรวม เรียกว่า fake news ไปเสียหมด เพื่อให้มีเหตุในการฟ้องได้” สุทธวรรณ กล่าว 

สุทธวรรณ กล่าวต่อไปว่า การกระทำดังกล่าวเป็นลักษณะของการ SLAPP อีกรูปแบบหนึ่ง เพราะไม่ต้องการให้ประชาชนวิจารณ์ความล้มเหลวในการบริหารจัดการวิกฤติโควิด 19 ซึ่งล้มเหลวทั้งในด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ประเด็นสำคัญก็คือหาก รัฐมนตรี ไม่มีความสามารถในการแยกแยะ misinformation กับ fake news และไม่มีปัญญาในการจัดการกับ fake news ด้วยการนำเสนอข้อเท็จจริงสู่สาธารณะให้เกิดความเชื่อถือและเชื่อมั่นได้ก็ควรจะลาออก ไม่ควรจะมีหน้าอยู่ในตำแหน่งนี้อีกต่อไป ยังไม่นับเรื่องความสามารถในการนำพาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไปสู่อนาคตได้ เพราะถึงตอนนี้ ประชาชนยังคงไม่เห็นความหวังนั้นจากสองรัฐมนตรีที่ผ่านมาของ พล.อ.ประยุทธ์ เลย

ในเรื่องสุดท้ายต่อกรณี SLAPP ที่อยากกล่าวถึงคือ การออกหมายเรียกคดีมาตรา 112 กับเยาวชนอายุ 14 ปี เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ทำให้เห็นได้ชัดว่าเป็นการใช้กฎหมายมาตรานี้อย่างพร่ำเพรื่อ หากจำกันได้จุดเริ่มต้นของการใช้กฎหมายดังกล่าวเริ่มในวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศให้ใช้กฎหมายทุกฉบับ เพื่อจัดการกับผู้ชุมนุม นับตั้งแต่นั้นมาจึงมีการนำมาตรา 112 มาใช้อีกครั้ง และใช้อย่างเกินขอบเขต ตีความอย่างเกินตัวบทกฎหมาย จนทำให้มีผู้ถูกดำเนินคดีจำนวนมากและไม่ได้รับสิทธิทางกฎหมายอย่างที่ควรได้รับ

สิ่งที่น่ากังวลและผู้จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์จะต้องพึงตระหนักให้ดีก็คือ นับตั้งแต่วันที่ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศให้ใช้กฎหมายทุกฉบับเป็นต้นมา ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์นอกจากจะไม่ได้ดีขึ้นแล้ว ยังดูเหมือนว่าจะเปราะบางลงไปเสียอีก ถึงเวลาหรือยังสำหรับผู้ที่อ้างตัวเองว่าจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จะต้องต้องเริ่มพิจารณาตัวเองและทบทวนให้ชัดว่า สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นไม่ใช่อาวุธที่จะถูกหยิบใช้มาเป็นเครื่องมือทำร้ายคนเห็นต่าง มิฉะนั้นสถาบันพระมหากษัตริย์เองก็จะตกอยู่ในวังวนความขัดแย้งของประชาชนไม่รู้จักจบสิ้น และจะนำไปสู่การเสื่อมถอยลงเรื่อยๆจากน้ำมือของผู้ที่อ้างว่ารักสถาบันพระมหากษัตริย์เสียเอง

“คำถามของดิฉันก็คือ การทำแบบนี้สามารถทำให้คนรุ่นใหม่รักสถาบันพระมหากษัตริย์ได้มากขึ้นจริงหรือการที่คนถูกคดีนี้มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งรายล่าสุดก็คือ 14 ปี ดิฉันเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า การกระทำแบบนี้ไม่ได้เป็นผลดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างแน่นอน การอยู่ร่วมกันในสังคม ย่อมมีความรัก ความศรัทธาที่ไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน นี่คือความปกติ การวิพากษ์วิจารณ์ย่อมเกิดขึ้นได้ แต่คำวิพากษ์วิจารณ์จะกลายเป็นคำติฉินนินทาก็ต่อเมื่อสิ่งเหล่านั้นถูกทำให้เป็นเรื่องปกปิด เร้นลับ และไม่โปร่งใส กระทั่งหลายเรื่องที่รัฐบาลเองควรมีคำตอบให้กับประชาชนก็กลับไม่ตอบ กลายเป็นการสนทนากันด้วยข้อมูลที่ถูกบ้าง ผิดบ้าง พร้อมกับข้อกล่าวหาว่ามีนักการเมืองอยู่เบื้องหลังอย่างเป็นสูตรสำเร็จ พวกเราต้องขอย้ำอีกครั้งว่า นี่คือคำถามแห่งยุคสมัย และเป็นคำถามปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้เองโดยสามัญสำนึก แต่หากจะถามเรื่องการมีเบื้องหน้าเบื้องหลัง อยากให้ไปสอบถามตัวเองให้ดีว่า การไล่ฟ้องแบบนี้มีใครเบื้องหลังหรือไม่มากกว่า เรื่องแบบนี้ควรกระทำกับเด็กๆซึ่งเป็นอนาคตของประเทศนี้หรือไม่ สำหรับกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นอยู่ในจังหวัดพิษณุโลก ในเบื้องต้น ส.ส.ปดิพัทธ์ สันติภาดา ได้เตรียมความพร้อมประกันตัวหากมีหมายจับออกมา นอกจากนี้พรรคก้าวไกลยืนยันว่าจะเดินหน้าแก้ไขมาตรานี้อย่างแน่นอน”

สุทธวรรณ กล่าวต่อไปว่า ดังที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า รัฐบาลนี้กำลังดำเนินการให้เกิดคดี SLAPP อย่างเป็นระบบ เพื่อปิดบังความผิดพลาดล้มเหลวของตนเอง พวกเขากลัวเสียงประชาชนที่กำลังดังขึ้นจากความไม่พอใจทั่วสารทิศ แต่พรรคก้าวไกลเชื่อว่า คดี SLAPP เป็นสิ่งเลวร้ายที่ไม่สมควรถูกนำมาใช้เช่นนี้ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือเป็นบุคคลสาธารณะที่บริหารประเทศและใช้งบประมาณจากภาษีประชาชน จะต้องมีความเปิดเผย โปร่งใส และการวิพากษ์วิจารณ์ก็คือหนึ่งในบทบาทของการตรวจสอบที่สำคัญ เราจึงต้องไม่ยินยอมและปล่อยให้พวกเขาทำให้เสียงเหล่านี้เงียบลงไป เพราะสังคมที่ชอบความเงียบ คงมีแต่สังคมของคนที่ตายไปแล้วเท่านั้น

“เพื่อไม่ให้คดี SLAPP ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองและสร้างความอยุติธรรม พรรคก้าวไกลจะเดินหน้าอย่างเต็มที่ในการผลักดัน ชุดร่างกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน จำนวน 5 ฉบับ ซึ่งได้ยื่นเข้าสู่สภาไปแล้ว เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 และพวกเราก็อยากให้ทุกคนร่วมกันส่งเสียงให้ดังขึ้นอีกเพื่อสนับสนุนและทำให้กฎหมายเหล่านี้ถูกบรรจุเป็นวาระพิจารณาและผ่านสภาเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพจากการปิดปากคุกคามหรือการ SLAPP ได้โดยเร็ว”

 

จัด 21 ขุนพล อภิปรายงบประมาณปี 65 หลังพบงบหลายรายการถูกตัด

 

ในประเด็นต่อมา การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ในวาระรับหลักการ ซึ่งจะมีขึ้นวันที่ 31 พฤษภาคม ถึง 2 มิถุนายน 2564 พรรคก้าวไกลมีการเตรียมผู้อภิปรายไว้ทั้งหมด 21 คน ในภาพรวมของงบประมาณปี 65 พรรคก้าวไกลจะอภิปรายเพื่อให้ปี 65 ต้องเป็นช่วงฟื้นฟูประเทศจากวิกฤตโควิด เพราะเราไม่ได้ต้องการให้ประเทศกลับไปเป็นแบบเดิมเท่านั้น แต่เราต้องการให้ประเทศดีกว่าเดิม ต้องมีการจัดงบพื้นฟูด้านสุขภาพและฟื้นฟูด้านสวัสดิการของประชาชน

“สิ่งที่เราเจอในงบปี 65 คือ งบบัตรคนจนถูกตัด 2 หมื่นล้านบาท งบประกันสังคมถูกตัด 2 หมื่นล้านบาท งบบัตรทองถูกตัด 1.8 พันล้านบาท นี่ไม่ได้สร้างความมั่นคงในชีวิตให้ประชาชนเลย ขณะที่ส่วนของงบประมาณที่ควรจะตัด บางอย่างกลับยังมีให้เห็น เช่น งบกลาโหม มีการซื้ออาวุธ ซื้อกระสุน ซื้อเรือดำน้ำ ซึ่งงบการซื้ออาวุธ ถูกปรับลดลงในสัดส่วนที่น้อยกว่างบประมาณด้านสวัสดิการเสียอีก  เรายังเห็นการจัดซื้อยุทโธปกรณ์โครงการใหม่ที่สร้างงบผูกพันข้ามปีรวมทั้งสิ้น 9,500 ล้านบาท ที่ผูกพันไป 3 ปี เราทราบดีว่าหลายๆอย่างเป็นเรื่องของความมั่นคง แต่พรรคก้าวไกลอยากให้ดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ด้วย การจัดงบประมาณทั้งหมดนี้ ทำให้เราไม่ไว้ใจ ให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ บริหารงบประมาณประเทศอีกต่อไป พรรคก้าวไกลจะรวบรวมข้อมูลมาอภิปรายอย่างเป็นระบบ ผ่านผู้อภิปรายทั้ง 21 คน อยากให้พี่น้องประชาชนติดตามตลอด 3 วันข้างหน้านี้”

 

ขอรัฐจัดสรรวัคซีนอย่างโปร่งใส ไม่ 2 มาตรฐาน

 

ขณะที่ ประเสริฐพงษ์ กล่าวถึงกรณีที่ได้สื่อสารในทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า มี ส.ส.จำนวนหนึ่งในสภาผู้เเทนราษฎร ได้ฉีควัคซีนแอสตร้าเซเนกา จนทำให้มี ส.ส.รัฐบาล หลายคนออกมาตอบโต้นั้น กรณีที่เกิดขึ้นเจตนาที่เเท้จริงของการสื่อสารคือเพื่อให้มีการตรวจสอบกรณีที่ ส.ส.มีโอกาสได้รับเลือกวัคซีน 2 ชนิดต่างกัน ซึ่งประชาชนเชื่อว่าวัคซีนแอสตราเซเนกาป้องกันโควิดได้มีประสิทธิภาพกว่าซิโนเเวค โดย ส.ส.สามารถเลือกวัคซีนได้โดยปราศจากการบ่งชี้หรือผ่านดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์หรือสาธารณสุข ขณะที่ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเลือกได้ 

“สิ่งที่สื่อสารออกไปเพื่อต้องการให้ตรวจสอบกระบวนการจัดสรรวัคซีนที่มีเเนวทางปฏิบัติ 2 มาตรฐานอย่างเห็นได้ชัด รัฐได้ให้อภิสิทธิ์แก่ ส.ส.ในการเลือกวัคซีน แต่อย่างไรก็ตามทวิตเตอร์ส่วนตัวของตนที่สื่อสารไม่ได้ระบุว่า เป็น ส.ส.ฝั่งรัฐบาลหรือฝ่ายค้านทั้งหมด กรณีดังกล่าว รัฐบาลต้องออกมาชี้เเจงไม่ใช่ให้ ส.ส.ฝั่งรัฐบาลออกมาชี้เเจงแก้ตัวว่าฉีดวัคซีนซิโนเเวค เพราะมี ส.ส.ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาจริงโดยที่อายุไม่ถึง 60 ปี ซึ่งหากสภาผู้เเทนราษฎรเปิดเผยข้อมูลออกมาประชาชนจะได้ทราบข้อเท็จจริงตรงนี้ และอยากทราบเช่นกันว่ารัฐบาลจะมีจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อกรณีดังกล่าว สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นยังมีเพื่อน ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านโหนประเด็นดังกล่าวด้วยโดยระบุว่าเจอได้เจอผมในวันฉีดวัคซีนที่ จ.กระบี่ แต่กรณีนี้ผมมาจากการที่ตนให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ไม่ได้กล่าวถึงเพื่อน ส.ส.คนดังกล่าว โดยระบุถึง ปริญญา ช่วยเกตุ คีรีรัตน์ ส.ส.เเบบบัญชีรายชื่อ เพื่อนสมาชิกพรรคก้าวไกล ที่ได้รับการสื่อสารจากเจ้าหน้าที่ของรัฐเเละถามย้ำตลอดว่าเป็น ส.ส.พรรคพลังประชารัฐหรือไม่ เมื่อไปรับฉีดวัคซีนก็เอาวัคซีนซิโนเเวคฉีดให้ แต่ไม่ระบุในใบรับการฉีดวัคซีนว่าเป็นวัคซีนอะไร จึงอยากถามว่าวัคซีนแอสตรเซเนกาได้รัฐได้รับจัดสรรมาแสนกว่าโดส มีการจัดสรรอย่างไรบ้าง และเรื่องที่ใหญ่กว่านั้นคือประชาชนไม่ได้เลือกฉีดซิโนเเวค เเต่ถูกให้รัฐรณรงค์ให้ฉีด ทั้งที่ประชาชนควรต้องมีสิทธิเลือกได้ตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคด้วย” 

ประเสริฐพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การบริหารการจัดการวัคซีนจะต้องโปร่งใส ทั้งแอสตราเซเรกาเเละซิโนเเวค รัฐจะต้องระบุปริมาณและการจัดสรรให้ประชาชนได้รับรู้ เรื่องนี้จะจบได้เเละมีความชัดเจนก็ต่อเมื่อรัฐบาลออกมาชี้เเจงถึงข้อเท็จจริงและข้อมูลการบริหารจัดการวัคซีน ความจริงตนไม่ได้มีเจตนาที่จะนำเรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นขัดเเย้งทางการเมือง แต่นี่เป็นเรื่องสำคัญที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์มากที่สุดหากมีการเปิดเผยข้อมูลการกระจายวัคซีนทุกชนิดออกมา