สรุป
-
ชนวนการต่อสู้นองเลือดระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ปี 2564 เกิดจากหลายเหตุการณ์ แต่ทำให้เกิดการปะทะรุนแรงและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากที่สุดในรอบกว่า 7 ปี
-
นักวิเคราะห์ระบุความขัดแย้งครั้งนี้เกี่ยวพัน 'แผนสันติภาพอิสราเอล-ปาเลสไตน์' ฉบับ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งถูกวิจารณ์มาตั้งแต่ต้นว่าเอื้อประโยชน์ให้ฝั่งอิสราเอล และไม่ได้รับการยอมรับจากผู้นำปาเลสไตน์
-
อุปสรรคสำคัญที่ทำให้การเจรจาเพื่อสันติภาพอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ไม่ประสบความสำเร็จ ได้แก่ (1) การปล่อยให้สหรัฐฯ มีบทบาทนำในตะวันออกกลาง (2) กลุ่มประเทศอาหรับไม่มีเอกภาพ และไม่ได้สนับสนุนปาเลสไตน์เหมือนในอดีต (3) ปาเลสไตน์ขัดแย้งกันเองภายใน ระหว่างรัฐบาลในเวสต์แบงก์กับกลุ่มติดอาวุธฮามาสในฉนวนกาซา (4) รัฐบาลอิสราเอลไม่มีเสถียรภาพ
กองทัพอิสราเอลโจมตีทางอากาศดินแดนปาเลสไตน์ ฝั่งฉนวนกาซา เข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 เมื่อวันที่ 17 พ.ค.2564 มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อยราว 188 ราย ส่วนใหญ่เป็นชาวปาเลสไตน์ รวมเด็ก 58 ราย และ 10 รายเสียชีวิตในฝั่งอิสราเอล จากการยิงจรวดของกลุ่มติดอาวุธในฉนวนกาซา
กระทรวงการต่างประเทศของไทยแถลงว่า แรงงานชาวไทยถูกลูกหลงบาดเจ็บ 1 ราย แต่ได้รับความช่วยเหลือนำตัวส่งโรงพยาบาลแล้ว อีกทั้งเจ้าหน้าที่การทูตของไทยจะให้การดูแลต่อเนื่อง โดยผู้ได้รับบาดเจ็บ คือ ‘สิทธิโชค นาน้ำ’ วัย 24 ปี ชาวจังหวัดอุดรธานีที่ไปทำงานในอิสราเอลตั้งแต่ปี 2560
ขณะที่เว็บไซต์ Haaretz สื่ออิสราเอล รายงานว่าการปะทะกันระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ระลอกใหม่ เป็นความขัดแย้งรุนแรงที่สุดในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา และยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงง่ายๆ เพราะกองกำลังป้องกันตนเอง (IDF) ของอิสราเอล ประกาศว่าจะโจมตีทางอากาศกลุ่มติดอาวุธในฉนวนกาซาต่อไป และเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ย้ำว่าจะตอบโต้กลับอย่างเต็มที่
ชนวนเหตุปะทะรุนแรงครั้งนี้เริ่มจากศาลฎีกาอิสราเอลมีคำพิพากษาเมื่อ 1 พ.ค.ให้ครอบครัวชาวปาเลสไตน์ 6 ครอบครัวย้ายออกจากย่านชีคจาราห์ (Sheik Jaraah) บริเวณเยรูซาเลมตะวันออก โดยระบุว่าเป็นการตั้งถิ่นฐานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ว่าจะมีตัวแทนฝ่ายการเมืองของหลายประเทศ รวมถึงองค์กรสากลด้านสิทธิมนุษยชนร่วมลงนามคัดค้านคำตัดสินดังกล่าวก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ชาวปาเลสไตน์ประท้วงที่บริเวณชายแดนอิสราเอล-ปาเลสไตน์ และปะทะกับกลุ่มผู้มีเชื้อสายยิวที่มีแนวคิดชาตินิยมซึ่งรวมตัวต่อต้านชาวปาเลสไตน์
หลังจากนั้น ตำรวจอิสราเอลยังได้บุกเข้าไปที่มัสยิดอัล-อักซอ ช่วงที่ชาวมุสลิมกำลังประกอบพิธีทางศาสนา โดยตำรวจอิสราเอลบังคับปิดลำโพงที่ใช้ในพิธีทางศาสนา สร้างความไม่พอใจอย่างมากแก่ผู้อยู่ในเหตุการณ์ จนเกิดเหตุปะทะและมีผู้บาดเจ็บราว 300 ราย ทำให้กลุ่มติดอาวุธในฉนวนกาซาของปาเลสไตน์ ทั้งฮามาสและกลุ่มอื่นๆ ยิงจรวดโจมตีฝั่งอิสราเอล และกองทัพอิสราเอลได้นำกำลังเครื่องบินรบโจมตีทางอากาศดินแดนปาเลสไตน์เมื่อ 10 พ.ค.
Aljazeera รายงานว่า การโจมตีทางอากาศของไอดีเอฟล่าสุดเมื่อวันที่ 15-16 พ.ค. ทำให้กลุ่มเด็กเสียชีวิต และอาคารที่เป็นสำนักงานของสื่อต่างประเทศหลายแห่ง รวมถึงอัลจาซีราและเอพี ถูกถล่มพังยับเยิน ส่วนเว็บไซต์สารสนเทศของยูเอ็นระบุว่า ความเสียหายจากการปะทะครั้งนี้ ‘ร้ายแรง’ และ ‘อันตอนิยู กูแตร์รีช’ เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN) เรียกร้องให้อิสราเอลและปาเลสไตน์ผ่อนปรนสถานการณ์ตึงเครียด และลดการใช้กำลังอาวุธด้วยกันทั้งคู่
‘ข้อตกลงอับราฮัม’ ร่างแผนสันติภาพที่ทำให้ขัดแย้งยิ่งกว่าเดิม
ก่อนหน้านี้ในเดือน ม.ค.2563 รัฐบาล ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ลำดับที่ 45 ร่วมลงนามกับรัฐบาลอิสราเอลและกลุ่มประเทศอาหรับ ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ซูดาน โมร็อกโก บาห์เรน ให้การรับรอง ‘ข้อตกลงอับราฮัม’ (Abraham Accord) ซึ่งถูกสื่อตะวันตกเรียกว่า ‘แผนสันติภาพฉบับทรัมป์’ (Trump Peace Plan) โดยระบุว่าเป็นข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศที่นำสันติภาพสู่ตะวันออกกลาง และเปิดทางให้อิสราเอลและปาเลสไตน์ยุติความขัดแย้งระหว่างกัน
สำนักข่าว USA News ระบุว่า ข้อตกลงอับราฮัมให้ความสำคัญกับกลุ่มประเทศอาหรับที่สนับสนุนปาเลสไตน์ โดยปัจจัยหนึ่งที่เป็น ‘จุดขาย’ คือการระบุว่าประเทศเหล่านี้จะเข้าถึง ‘มัสยิดอัล-อักซอ’ สถานที่สำคัญของผู้นับถือศาสนาอิสลามในเยรูซาเลมตะวันออก ได้อย่างสะดวกขึ้น แต่สิ่งที่ทำให้ข้อตกลงนี้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการขายฝันเพราะ ‘รัฐบาลปาเลสไตน์’ ซึ่งเป็นคู่กรณีที่สำคัญของอิสราเอล ปฏิเสธข้อตกลงนี้อย่างสิ้นเชิง
แม้รัฐบาลอดีตประธานาธิบดีทรัมป์จะพยายามบอกว่าแผนสันติภาพฉบับนี้ดีกว่าและทันสมัยกว่า ‘ข้อตกลงออสโล’ (Oslo Accord) ที่มีรัฐบาลนอร์เวย์เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจาทางลับที่กรุงออสโล และประธานาธิบดี ‘บิล คลินตัน’ อดีตผู้นำสหรัฐฯ เป็นตัวกลางจัดพิธีลงนามอย่างเป็นทางการที่ทำเนียบขาวเมื่อปี 2536 แต่ผู้เชี่ยวชาญตะวันออกกลางชี้ว่าคำกล่าวอ้างของทรัมป์เป็นแค่การโฆษณาชวนเชื่อ และยิ่งทำให้กลุ่มประเทศอาหรับแตกแยกกัน เพราะทรัมป์ตัดตอนไปคุยกับประเทศที่หนุนหลังปาเลสไตน์ แต่ไม่ยอมคุยกับรัฐบาลปาเลสไตน์ ทั้งยังมีเงื่อนไขที่เอื้อประโยชน์ให้กับอิสราเอลมากกว่า
ข้อตกลงออสโลสนับสนุนแนวทางแก้ปัญหาแบบ 2 รัฐ หรือ Two State Solution ที่ระบุว่าทั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์มีสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง (right to self-determination), คืนอำนาจปกครองตนเองในฉนวนกาซาให้แก่ปาเลสไตน์ แลกกับการที่องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) ยุติการใช้อาวุธและการก่อการร้ายโจมตีอิสราเอล
ขณะที่ข้อตกลงอับราฮัมของทรัมป์สนับสนุนการตั้งที่อยู่อาศัยของชาวอิสราเอลในดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครองหลังสงครามหกวัน เช่น เยรูซาเลมตะวันออก ทำให้ศาลอิสราเอลพิพากษาให้ชาวปาเลสไตน์หลายครัวเรือนออกจากบริเวณดังกล่าวทั้งที่อาศัยอยู่มานานหลายอายุคนแล้ว
ปัจจัยขวางทางสันติภาพ 'อิสราเอล-ปาเลสไตน์'
แม้ข้อตกลงออสโลจะนำไปสู่การเจรจาระหว่างตัวแทนรัฐบาลอิสราเอลและผู้นำขององค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ได้สำเร็จ และมีแนวโน้มจะเกิดสันติภาพตะวันออกกลาง แต่หลังจากนั้นไม่นาน ‘ยิตซัก ราบิน’ นายกรัฐมนตรีอิสราเอลที่ลงนามร่วมกับผู้นำกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ ก็ถูกผู้มีแนวคิดชาตินิยมขวาจัดลอบสังหารเสียชีวิตในปี 2538
ด้วยเหตุนี้ การเจรจาข้อตกลงออสโลครั้งที่ 2 ในปี 2544 จึงล้มเหลว เพราะ ‘ยัสเซอร์ อาราฟัต’ ผู้นำ PLO ไม่ยอมรับข้อเสนอของรัฐบาลสหรัฐฯ และหลังจากนั้น 4 ปี อาราฟัตก็เสียชีวิต ทำให้เกิดความแตกแยกในกลุ่มปาเลสไตน์ด้วยกันเอง แม้หลังจากนั้นจะมีความพยายามผลักดันให้เกิดการเจรจาสันติภาพตะวันออกกลางอีกเรื่อยๆ ก็มักประสบความล้มเหลว ซึ่งมีบทวิเคราะห์ว่าเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลักๆ 4 ประการ
• บทบาทสหรัฐฯ ที่ไม่เป็นกลาง แต่ค่อนไปทาง 'อิสราเอล'
เว็บไซต์ The New York Times รายงานว่า ข้อตกลงอับราฮัมในรัฐบาลทรัมป์ ถูกร่างขึ้นโดย ‘จาเร็ด คุชเนอร์’ ลูกเขยนักธุรกิจของ ปธน.ทรัมป์เอง โดยมีการประชาสัมพันธ์ว่า ข้อตกลงนี้จะสนับสนุนการลงทุนจ้างงานในปาเลสไตน์เป็นเงินกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและเศรษฐกิจของปาเลสไตน์ แต่ก็ไม่มีรายละเอียดชัดเจนว่าแผนการลงทุนดังกล่าวจะบริหารจัดการทรัพยากรกันอย่างไร
ขณะที่ ‘เจสัน กรีนแบล็ต’ เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการทูตในตะวันออกกลางที่ดำรงตำแหน่งในสมัยรัฐบาลทรัมป์ วิจารณ์ว่าข้อตกลงอับราฮัมเอื้อประโยชน์กับฝั่งอิสราเอลมากกว่า ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือการที่ทรัมป์อนุมัติให้ย้ายสถานทูตสหรัฐฯ จากเทลอาวีฟไปยังเยรูซาเลม และการลงมติรับรองเยรูซาเลมในฐานะเมืองหลวงของอิสราเอล ทั้งที่เยรูซาเลมควรจะต้องเป็นเมืองหลวงของปาเลสไตน์ด้วย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชาวปาเลสไตน์จะรวมตัวคัดค้านแผนนี้ตั้งแต่ต้น
ส่วน 'โจ ไบเดน' ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน เคยแถลงว่าจะสนับสนุนการเจรจาในกรอบของข้อตกลงอับราฮัมต่อไป และยังไม่มีแผนจะพิจารณาทบทวนรายละเอียดใดๆ
• กลุ่มประเทศอาหรับไม่ได้รวมตัวกันเข้มแข็งเหมือนก่อน
ในสมัยที่อิสราเอลเพิ่มเริ่มก่อตั้งประเทศ กลุ่มชาติอาหรับยังมีเอกภาพและปกป้องผู้คนเชื้อสายอาหรับในดินแดนปาเลสไตน์อย่างแข็งขัน แต่หลังจากที่ ‘อิหร่าน’ และกลุ่มติดอาวุธที่อ้างศาสนาอิสลามเคลื่อนไหวก่อเหตุรุนแรงในหลายประเทศแถบตะวันออกกลางช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ชาติอาหรับที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้จึงหันไปร่วมมือกับสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรสหรัฐฯ อย่าง 'อิสราเอล' ที่เคยสู้รบกันมาก่อน สะท้อนได้จากการที่บาห์เรน ยูเออี โมร็อกโก ซูดาน ยอมลงนามสนับสนุนข้อตกลงอับราฮัมของทรัมป์ และซาอุดีอาระเบียที่เป็นประเทศทรงอิทธิพลในกลุ่มชาติอาหรับไม่ได้คัดค้านอะไร
• ความแตกต่างทางอุดมการณ์ของรัฐบาลและกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์
หลังจาก ‘ยัสเซอร์ อาราฟัต’ เสียชีวิต กลุ่ม PLO ก็กลายเป็นคณะผู้บริหารดินแดนปาเลสไตน์ (PA) แต่เมื่ออยู่ในอำนาจมายาวนานหลายปี รัฐบาลปาเลสไตน์ก็เสื่อมความนิยม ทั้งยังถูกวิจารณ์ว่าทุจริตและอ่อนแอ ไม่ได้ช่วยให้ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น เพราะต้องต่อรองกับรัฐบาลอิสราเอลและสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อตอบโต้การยึดครองปาเลสไตน์ของอิสราเอล โดยกลุ่ม 'ฮามาส' (Hamas) ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมากจากการประกาศต่อต้านคอร์รัปชันในรัฐบาลปาเลสไตน์ ทั้งยังใช้กลยุทธ์โจมตีอิสราเอลด้วยความรุนแรง ทำให้ผู้นำกลุ่มฮามาสได้รับเลือกให้ขึ้นมาบริหารรัฐบาลปาเลสไตน์เมื่อปี 2549 แต่ถูกสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรคว่ำบาตร ไม่รับรองชัยชนะ ทำให้ฮามาสถูกขับไปอยู่ฉนวนกาซาแทน เกิดเป็นความแตกแยกระหว่างรัฐบาลเวสต์แบงก์และฉนวนกาซา ทำให้ปาเลสไตน์ขาดความเป็นเอกภาพ
• รัฐบาลอิสราเอลขาดเสถียรภาพ – ไร้ผู้ผลักดันแผนสันติภาพ
‘เบนจามิน เนทันยาฮู’ นายกรัฐมนตรีอิสราเอลคนปัจจุบัน เป็นเพียงผู้นำรักษาการ เพราะการเมืองอิสราเอลก็เผชิญกับวิกฤตเช่นกัน ประชาชนไม่ไว้วางใจรัฐบาลเนทันยาฮู ซึ่งได้รับเลือกเป็นนายกฯ มาแล้ว 5 สมัย แต่ก็เผชิญกับข้อกล่าวหาว่าทุจริตคอร์รัปชัน
ส่วนการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาที่จัดมาแล้ว 4 ครั้งในช่วงเวลาแค่ 2 ปี ไม่มีพรรคไหนที่ได้คะแนนเสียงข้างมากจนสามารถนำการจัดตั้งรัฐบาลได้ ทั้งยังเกิดโรคโควิด-19 แพร่ระบาด ทำให้ประชาชนไม่พอใจรัฐบาลมากยิ่งขึ้น มีการรวมตัวประท้วงรัฐบาลหลายครั้ง รัฐบาลอิสราเอลจึงไม่เห็นว่าการเจรจาสันติภาพกับปาเลสไตน์เป็นประเด็นสำคัญเร่งด่วน
ไทม์ไลน์ อิสราเอล-ปาเลสไตน์ เรื่องใหญ่ในตะวันออกกลาง
ความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์มีประวัติศาสตร์ยาวนานนับพันปี รวมถึงยุคสงครามศาสนา แต่ความขัดแย้งที่ดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน สาวกลับไปถึงต้นทางในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งดินแดนปาเลสไตน์ยังอยู่ใต้อาณัติของสหราชอาณาจักร มีการอพยพผู้มีเชื้อสายยิวจากที่ต่างๆ มายังดินแดนแห่งนี้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 โดยกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการอพยพชาวยิวมายังพื้นที่แห่งนี้ คือ ขบวนการไซออนิสต์ที่สนับสนุนแนวคิดชาตินิยมของคนเชื้อสายยิว แต่กลุ่มนี้สร้างความไม่พอใจแก่ประเทศอาหรับที่อยู่โดยรอบ
จนกระทั่งปี 2490 (ค.ศ.1947) สหราชอาณาจักรจะถอนตัวจากดินแดนปาเลสไตน์ สมัชชาสหประชาชาติ (UN) จึงมีมติรับรองแผนจัดสรรดินแดนยิว-ปาเลสไตน์ โดยเสนอให้แบ่งพื้นที่กันระหว่างกลุ่มผู้มีเชื้อสายยิวและกลุ่มชาวอาหรับที่อยู่ในดินแดนมานานหลายอายุคนจนถึงช่วงที่อยู่ใต้อาณัติของสหราชอาณาจักร
แผนของยูเอ็นเสนอให้เยรูซาเลมเป็นนครสากล ในฐานะที่เป็นทั้งนครศักดิ์สิทธิ์ของผู้นับถือศาสนาคริสต์ ยูดาห์ และอิสลาม แต่กลุ่มชาติอาหรับในขณะนั้นไม่เห็นด้วย เมื่อกลุ่มชาวยิวประกาศก่อตั้งประเทศอิสราเอลขึ้นในวันที่ 14 พ.ค.2491 อียิปต์ จอร์แดน อิรัก ซีเรีย และเลบานอน ได้ส่งทหารบุกไปยังดินแดนปาเลสไตน์เพื่อต่อสู้กับอิสราเอล และลุกลามกลายเป็น ‘สงครามอาหรับ-อิสราเอล’ ซึ่งกินเวลานาน 2 ปี
หลังจบสงครามอาหรับ-อิสราเอล อียิปต์ยึดพื้นที่ฉนวนกาซา และจอร์แดนยึดเวสต์แบงก์ แต่สงครามระหว่างอาหรับกับอิสราเอลปะทุขึ้นอีกครั้งในปี 2510 ซึ่งคราวนี้ถูกเรียกว่า ‘สงครามหกวัน’ เพราะอิสราเอลเอาชนะกองกำลังของชาติอาหรับได้ในเวลา 6 วัน และเป็นฝ่ายยึดครองดินแดนปาเลสไตน์ส่วนใหญ่ได้ ทั้งเวสต์แบงก์, เยรูซาเลมตะวันออก, ฉนวนกาซา, ที่ราบสูงโกลัน (Golan Heights) ซึ่งเชื่อมต่อกับซีเรีย และแหลมไซนายซึ่งติดอียิปต์ แต่ผลพวงจากสงครามครั้งนั้น ทำให้ชาวอาหรับในดินแดนปาเลสไตน์ยากลำบากขึ้น เพราะพื้นที่ที่อยู่อาศัยมานานกลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐอิสราเอล ซึ่งมีนโยบายสนับสนุนชาวยิวมากกว่า
แม้จะมีการทำสงครามระหว่างอาหรับ-อิสราเอลอีกครั้งในปี 2516 (สงครามยมคิปปูร์) แต่ชาติอาหรับก็ไม่อาจยึดดินแดนปาเลสไตน์มาได้ และในปีต่อมาอิสราเอลยังนำกำลังบุกเลบานอน รวมถึงสลายการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลอิสราเอลของผู้คนในดินแดนปาเลสไตน์ ซึ่งมีการลุกฮือครั้งใหญ่ จนกระทั่งชาวปาเลสไตน์ก่อตั้งกลุ่มติดอาวุธขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับอิสราเอล โดยหลายกลุ่มถูกแปะฉลากว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย
กลุ่มติดอาวุธยุคแรกเริ่มคือองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) ที่เคยมีอิทธิพลอย่างมาก แต่ต้องวางอาวุธไปหลังจากมีข้อตกลงออสโล และให้พรรคฟาตาห์ (Fatah) ที่เป็นปีกการเมืองเข้าไปมีบทบาทในการปกครองเขตเวสต์แบงก์แทน ขณะที่กลุ่ม ‘ฮามาส’ (Hamas) ไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงออสโล จึงไม่ได้เข้าร่วมเจรจา แต่ถือว่าได้รับความนิยมจากชาวปาเลสไตน์จนได้รับเลือกเป็นเสียงข้างมากในสภาบริหารปาเลสไตน์ปี 2549
ทว่าฮามาสถูกวิจารณ์ว่าใช้ความรุนแรงโดยไม่เลือกเป้าหมาย เกี่ยวพันกับการลักพาตัวและทำร้ายพลเรือนอิสราเอล รวมถึงใช้วิธีโจมตีพื้นที่สาธารณะ ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ ฮามาสจึงถูกสหรัฐฯ และสมาชิกสหภาพยุโรปขึ้นบัญชีเป็นกลุ่มก่อการร้าย พร้อมทั้งประกาศคว่ำบาตรรัฐบาลปาเลสไตน์ภายใต้การนำของกลุ่มฮามาส ทำให้ 'มาห์มุด อับบาส' ประธานาธิบดีปาเลสไตน์แห่งพรรคฟาตาห์ ยึดอำนาจและขับไล่ฮามาสไปจากเวสต์แบงก์ ทำให้ฮามาสย้ายไปที่ฉนวนกาซา
ส่วนความขัดแย้งระลอกใหม่มีหลักฐานว่าฮามาสเปิดฉากยิงจรวดโจมตีฝั่งอิสราเอลก่อน แต่จรวดที่ฮามาสยิงถูกระบบป้องกันขีปนาวุธของอิสราเอลทำลายไปได้เกือบหมด และมีพลเรือนฝั่งอิสราเอลเสียชีวิตราว 10 ราย จึงมีผู้โต้แย้งว่าแสนยานุภาพทางทหารของกลุ่มติดอาวุธในปาเลสไตน์ไม่อาจเทียบเท่ากองทัพอิสราเอล และไม่สามารถสร้างความเสียหายให้กับฝั่งอิสราเอลได้มากนัก ต่างกับการโจมตีทางอากาศของกองทัพอิสราเอลที่ไม่เลือกเป้าเช่นกัน แต่กลับทำให้พลเรือนในดินแดนปาเลสไตน์ได้รับผลกระทบเกือบ 200 รายแล้ว ทั้งบาดเจ็บล้มตาย รวมถึงเด็กนับสิบรายที่เสียชีวิตเพราะบ้านเรือนถูกโจมตี